ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี...ตราบใดที่การเมืองยังไม่นิ่ง ไฟใต้ย่อมไม่มีทางดับ
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าปัญหาการเมืองที่ปะทะกันเลือดเดือดที่กรุงเทพฯอยู่ในขณะนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะอยู่ไกลกันถึงกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ และศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ม.อ.ปัตตานี กลับเห็นว่าตราบใดที่ปัญหาการเมืองไทยยังไม่นิ่ง ตราบนั้นไฟใต้ก็ไม่มีทางดับ
O ในฐานะผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ ประเมินว่าคนในพื้นที่มองอย่างไรกับปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้?
เท่าที่เก็บข้อมูลพบว่าโดยภาพรวมคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ติดตามสถานการณ์การเมืองในส่วนกลางว่าจะคลี่คลายหรือแก้ไขไปในทิศทางใด เพราะสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวพันกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เนื่องจากปัญหาในพื้นที่จะแก้ได้ ปัญหาการเมืองจะต้องนิ่งเสียก่อน ชาวบ้านเป็นห่วงประเด็นนี้ ส่วนความรู้สึกว่าเห็นด้วยกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้นคงจะก้ำกึ่งกัน (หมายถึงฝั่งเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือรัฐบาล) ก็คงมีทั้งสองฝ่ายในทุกที่ของสังคมไทย
O การใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ในพื้นที่กรุงเทพฯ กับในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถือว่าสองมาตรฐานหรือไม่ เพราะที่กรุงเทพฯดูรัฐจะระมัดระวังมาก ผิดกับในภาคใต้?
มีคนคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน เพราะการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯนั้นมีการประกาศใช้ในพื้นที่ภาคใต้มาก่อน และการบังคับใช้ในภาคใต้ทำมากกว่า มีการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายมากกว่า การจับกุมก็มากกว่า ประมาณ 3-4 พันคนไปแล้ว ทั้งๆ ที่ผู้ที่ถูกจับบางส่วนก็ไม่มีความผิด แต่ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเชิญไปสอบสวน ถือเป็นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่มากจนเกินไปด้วยซ้ำ
แต่ในทางกลับกันที่กรุงเทพฯมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเหมือนกัน แต่กลับไม่ได้นำมาใช้ในแง่ของการควบคุมหรือจับกุม ซึ่งก็ถือว่าต่างกันมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ภาคใต้ ก็เลยทำให้เกิดความรู้สึกว่าใช้สองมาตรฐานหรือเปล่า ที่พูดอย่างนี้ผมไม่ได้ส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง แต่ปัญหาก็คือการใช้สองมาตรฐานนั้นเห็นภาพอย่างชัดเจน
O การเจรจาถือเป็นทางออกของปัญหาการเมืองในส่วนกลางหรือไม่?
การเจรจาต้องมุ่งไปที่ปมหรือแก่นของปัญหา คือเรื่องความยุติธรรม ส่วนข้อเรียกร้องให้ยุบสภา ผมคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งของการแก้ไขปัญหา แต่ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้กฎกติกา และก่อนยุบสภาก็ควรจะปฏิรูปรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับเสียก่อน ทำตรงนั้นเสร็จแล้วจึงค่อยยุบสภา
ฉะนั้นในสถานการณ์ขณะนี้ต้องทำให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่อย่างนั้นเหตุการณ์ก็คงจะลุกลามบานปลาย ซึ่งเมื่อสร้างกฎกติการ่วมกัน ปัญหาก็คงแก้ได้บางส่วน อาจจะไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็เชื่อว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ มีการจัดสรรเรื่องดุลกำลังทางการเมืองใหม่ สังคมไทยน่าจะมีทางออกทางด้านการต่อรองเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาอื่นไปเรื่อยๆ
แต่จะอย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเมืองในตอนนี้คงจะยังไม่นิ่ง คงต้องใช้เวลาสักพักหนึ่ง อาจจะ 3-4 ปี เพียงแต่ทำอย่างไรไม่ให้มันระเบิดออก ตรงนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
O ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งส่งผลถึงปัญหาภาคใต้ด้วยหรือเปล่า?
ตั้งแต่ปี 2552 สถานการณ์ความรุนแรงขยับตัวขึ้นมาอีก และพอขึ้นปี 2553 ปี ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเหตุการณ์ปั่นป่วนในกรุงเทพฯนั้น จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่ข่าวในกรุงเทพฯกลบอยู่
แสดงให้เห็นว่าภาพรวมของเหตุการณ์ในพื้นที่จะยังไม่จบ และเราเองก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่ามันจะเป็นรูปแบบไหน คืออาจจะมีสถิติเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่เดิมมันกำลังลดลง สถิติในภาพรวมอาจเหมือนกับรูปตัวยู (U) หรือบางทีอาจจะเป็นรูปแบบของตัวดับเบิ้ลยู (W) คืออาจจะซิกแซกขึ้นๆ ลงๆ ก็ได้ แต่ทิศทางที่สถิติความรุนแรงจะตกไปเลยเหมือนกับขั้นบันไดนั้นน่าจะเป็นไปได้ยาก
ปัญหาทั้งหมดต้องแก้ที่โครงสร้าง และแก้ในระดับพื้นที่ ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ เรื่องกฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องอย่างนี้จะเป็นปัญหาที่ต้องแก้โดยการเมืองเป็นส่วนใหญ่ ฉะนั้นคงจะเป็นไปด้วยยากที่จะเริ่มแก้ ถ้าปัญหาที่กรุงเทพฯยังไม่ได้แก้
ตราบใดที่ปัญหาการเมืองยังไม่นิ่ง ปัญหาในพื้นที่ก็ต้องถูกบั่นทอนลงไปเรื่อยๆ เพราะทิศทางของรัฐบาลจะไม่ชัดเจน และรัฐบาลก็ไม่กล้าตัดสินใจ เอกภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพลเรือนและทหารยังไม่ชัดเจน เพราะว่าเราต้องพึ่งพาอาศัยกันในการแก้ไขปัญหาการเมืองในกรุงเทพฯด้วย
เพราะฉะนั้นการตัดสินใจทางการเมืองเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ก็จะไม่เกิดขึ้น และแนวโน้มก็คือว่าตอนนี้ยังไม่มีมาตรการหรือวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ และเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่ก็คงจะเป็นแบบขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนี้ต่อไป
---------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- งานวิจัยชิ้นล่าสุดของ ผศ.ดร.ศรีสมภพ เรื่อง "สรุปหกปีไฟใต้: พลวัตการก่อความไม่สงบกับการสร้างจินตกรรมของการก่อความรุนแรง"