พีมูฟปักหลักชุมนุมรอผลแก้ปัญหาชาวบ้านหน้าทำเนียบฯเป็นวันที่ 8
เครือข่ายชาวบ้านปักหลักม็อบทำเนียบฯเป็นวันที่ 8 รอผลประชุม คกก.ชุดต่างๆภายในสัปดาห์นี้ ยืนยันม็อบมาราธอนถ้าไม่แก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เชื่อลมปากรัฐบาล
วันที่ 13 พ.ค. 56 ที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล ขบวนการประชนชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) ยังคงปักหลักชุมนุมเป็นวันที่ 8 แล้ว โดยเป็นการรวมตัวของเครือข่ายชาวบ้าน อาทิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย ปัญหาจากเขื่อน และไม่ได้รับความเป็นธรรมจากโครงการพัฒนาภาครัฐต่างๆ
โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ช่วยกันรื้อย้ายจุดที่ตั้งการชุมนุมจากฝั่งตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการไปยังบริเวณริมคลองข้างกระทรวงศึกษาฯ ถ.ลูกหลวง เพื่อเคลียร์พื้นที่ให้ขบวนเสด็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเนื่องในวันพืชมงคล และจะกลับมาปักหลักที่เดิมหลังเสร็จพิธี และได้มีการหมุนเวียนกันเข้ามาสมทบของตัวแทนชาวบ้านจากกลุ่มปัญหาต่างๆ อาทิ เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน ที่เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านที่ดินจาก 16 พื้นที่ใน จ.ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ขอนแก่น
เช่น กรณีพิพาทสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ชาวบ้านยืนยันว่าทำกินบนที่ดินมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่บุกจับแจ้งข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนฯ 10 ราย แยกเป็น 4 คดี โดยนายทอง กุลหงส์ วัย 72 ปี (มาร่วมชุมนุมด้วย) ต้องติดคุกตามคำสั่งศาลจังหวัดภูเขียว ตั้งแต่ 13 มิ.ย.55 กระทั่ง 28 มิ.ย.55 น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ (คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ใช้ตำแหน่งประกันตัวออกมาให้ และล่าสุดศาลอุทธรณ์ภาค 3 สั่งจำคุกนายเด่น คำแหล้ อายุ 62 ปี และนางสุภาพ คำแหล้ ภรรยา อายุ 58 ปี 6 เดือน เมื่อ 25 เม.ย. 56 กระทั่งศาลฎีกามีคำสั่งให้ประกันตัวออกมาดัวยหลักทรัพย์คนละ 3แสนบาทเมื่อ 9 พ.ค. 56
และวันนี้(13 พ.ค.) ชาวชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เดินทางเข้ามาสบทบการชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มปัญหาที่ 227 ครอบครัวมีกรณีพิพาทเรื่องที่ทำกินกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) และโดนขับไล่เพื่อนำพื้นที่ไปปลูกสวนป่ายูคาลิปตัสกว่า 4 ,400 ไร่ ตั้งแต่ปี 2551 กระทั่งปี 2552 ชาวบ้านได้กลับเข้ายึดที่เดิมลงหลักปักฐานและร่วมกันบริหารจัดการที่ดิน พลิกฟื้นสภาพดินที่เสื่อมสภาพจากไม้ยูคาฯ ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ปัจจุบันชาวบ้านถูกดำเนินคดี 31 รายในข้อกล่าวหาบุกรุก ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าผิด ให้ทั้งหมดออกจากพื้นที่ แต่ชาวบ้านยังไม่ยอมย้ายออกโดยยืนยันสิทธิการทำกินมาก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการชุมนุมในวันนี้ ชาวบ้านจากทุกเครือข่ายปัญหาของพีมูฟ ร่วมกันเขียนปัญหาความเดือดร้อนต่างๆลงบนผืนผ้าขนาดยาว และยังช่วยกันปรับปรุงสถานที่ชุมนุมเพื่อเตรียมตัวสำหรับการปักหลักชุมนุมยืดเยื้อหากรัฐบาลไม่แก้ปัญหาตามที่สัญญาไว้ ทั้งนี้ภายในสัปดาห์นี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านหลายชุดเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆของกลุ่มผู้ชุมนุม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::