“ภาณุ อุทัยรัตน์” กับ ศอ.บต.ในความหมายใหม่
อับดุลเลาะ หวังนิ
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ก้าวขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดคนที่ 2 ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ยุคที่ 2 สำหรับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นคนปัตตานีโดยกำเนิด และผู้คนในพื้นที่รู้จักกันดี โดย ศอ.บต.ยุคที่ 2 นี้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อปลายปี 2549 ท่ามกลางคำถามว่าโมเดล ศอ.บต. ยังใช้ได้อยู่หรือกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.ปัจจุบัน
"ทีมข่าวอิศรา" ได้มีโอกาสนั่งคุยแบบยาวๆ กับ ผอ.ภาณุ เกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้ทำไปแล้ว และโครงการที่จะลงมือทำต่อไป ซึ่งเกือบทั้งหมดล้วนเป็นการสร้างมิติใหม่ๆ ให้กับ ศอ.บต.เพื่อลบภาพที่บางฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นหน่วยงานเก่าแก่คร่ำครึ หรือเป็น "ยักษ์ไม่มีกระบอง" คือมีแต่องค์กรขนาดใหญ่ ทว่าไร้อำนาจ ไม่สามารถผลักดันงานอะไรให้บรรลุผลได้
ต้องยอมรับว่า ศอ.บต.ในยุคของ ผอ.ภาณุ มีสีสันใหม่ๆ เกิดขึ้นไม่น้อย โดยเฉพาะการเลือกใช้เทคโนโลยีและการบริหารงานแบบกระชับเพื่อรุกเข้าชิงพื้นที่ทางการรับรู้และสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน
ส่วนผลจะเป็นอย่างไร จะเวิร์คแค่ไหน...เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์!
O วางแนวทางการทำงานในฐานะ ผอ.ศอ.บต.เอาไว้อย่างไรบ้าง?
ศอ.บต.ในความหมายของผมไม่ได้หมายความว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เพราะภารกิจของ ศอ.บต.มีมากกว่าการเป็นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมแปลของผมใหม่เป็นแบบนี้
ตัว ศ. ศาลา ไม่ได้แปลว่า “ศูนย์” แต่จะแปลว่า “ศาสนสัมพันธ์” ตัว อ.อ่าง คือหน่วยงานที่สร้างความอบอุ่นใจ ความเอื้ออาทร ความปลอดภัย มีความมั่นใจต่อสถานการณ์ ฉะนั้น ศอ.บต.ต้องเอื้ออาทร ดูแลผู้ได้รับผลกระทบทุกศาสนา รวมทั้งคนชราที่มีอายุมากกว่า 100 ปีขึ้นไปซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 169 คน เอาคนเหล่านี้มาปรากฏตัวในสังคม ดูแลคนพิการ ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย ทุกคนต้องรู้สึกอบอุ่นใจ
ตัว บ.ใบไม้ ไม่ใช่เรื่องของการบริหารอย่างเดียว แต่เน้นบริการประชาชน จะเห็นว่าวันนี้ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานที่ดิน สถานีตำรวจ หรือแม้แต่โรงพยาบาล จะมีล่ามแปลภาษาที่เป็นเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะตามโรงพัก เพื่อให้ผู้สอบสวนกับผู้ถูกสอบสวนคุยกันรู้เรื่อง ในระดับอำเภอจะมีปุ่มให้ประชาชนกด ปุ่มสีเขียว สีเหลือง สีแดง หมายถึงดีมาก พอใช้ หรือต้องปรับปรุง มีทั้งหมด 37 อำเภอ เป็นการบริการประชาชนและการบูรณาการทหารตำรวจเป็นหนึ่งเดียว
ตัวสุดท้าย ต.เต่า คือการเน้นให้ ศอ.บต.เป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบและสนับสนุน เราตรวจสอบอยู่ 2 อย่าง คือตรวจสอบเครื่องมือเพื่อความปลอดภัย เช่น กล้องโทรทัศน์วงจรปิดยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า ใช้การได้ดีหรือไม่ หรืออุปกรณ์ที่เราส่งไปมีใช้อยู่หรือเปล่า เราตรวจสอบเพื่อความปลอดภัย อย่างน้อยก็ให้คนอุ่นใจ
อย่างที่สองคือตรวจสอบการใช้งบประมาณ เราตรวจสอบการใช้งบเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบประสิทธิภาพ ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและประหยัดที่สุด ทั้งหมดคือภารกิจของคำว่า ศอ.บต.ที่ต้องทำในระยะที่ 1 เพื่อให้ความเข้าอกเข้าใจเกิดขึ้นในพื้นที่
O มีการพูดถึงคำว่าพื้นที่พิเศษ รัฐบาลกำหนดให้ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษ เรื่องนี้ส่งผลต่อบทบาทของ ศอ.บต.อย่างไร?
รัฐบาลเร่งรัดการพัฒนาพื้นที่พิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และวันนี้ไปไกลแล้ว มีเป้าหมายการพัฒนาค่อนข้างชัดเจน เราได้นำผู้นำ 4 เสาหลักที่ไม่ได้มีเฉพาะผู้นำเรื่องศาสนาอย่างเดียว เข้ามาช่วยขับเคลื่อนชุมชนศรัทธา มาเป็นทีมยุทธศาสตร์ของหมู่บ้าน (ผู้นำ 4 เสาหลัก คือผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา และผู้นำตามธรรมชาติ)
เราเคยทำเรื่อง “กัมปงตักวา” (ชุมชนศรัทธา) มาแล้ว 170 หมู่บ้านในสามจังหวัด ทำให้เรามีทหารเอกขึ้นมาทันที เป็นคนที่เข้าใจชุมชน และเข้าไปเป็นทีมยุทธศาสตร์ เหมือนเป็นอาจารย์ใหญ่คอยควบคุมดูแล
เราพยายามบอกว่า ตอนนี้อิหม่ามเข้ามาช่วยเราอยู่ ช่วยทำชุมชนให้เป็นชุมชนศรัทธา ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะรู้สึกว่าเงินหลวงโกงได้ ผลาญได้ ไม่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งมันไม่ใช่ มันคือเงินภาษีที่ทุกคนเป็นเจ้าของ ผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเราจะซื้อแพะ 10 ตัว แต่เอาเข้าจริงๆ ไปซื้อ 8 ตัวก็พอ ถือว่าบกพร่องแล้วนะ ไม่รู้จะไปสารภาพกับใคร ทั้งๆ ที่เงินภาษีคือเงินของทุกคน
อีกเรืองหนึ่งอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่ว่าถนนหนทางมีตะปูเรือใบ แล้วเราถือว่าเป็นธุระไม่ใช่ ถ้าชุมชนไหนเข้าถึงชุมชนศรัทธา เป็น "กัมปงตักวา" จริงๆ โดยมีอิหม่ามเป็นผู้คุ้มกฎ ประกาศว่าหมู่บ้านเราจะเป็นกัมปงตักวา ตะปูเรือใบต้องไม่มี โกงไม่มี เพราะเงินที่มาทำถนนมาทำโครงการต่างๆ เป็นของทุกคน ถ้าเราทำได้แบบนี้ การพัฒนาจะเต็มเม็ดเต็มหน่วยแน่นอน
ความรู้สึกร่วมกัน ความรักในถิ่นที่อยู่ การเป็นเจ้าของร่วมจะเกิดขึ้นได้ นี่คือแนวทางการพัฒนาที่ถูกต้อง วันนี้ขบวนรถไฟพัฒนาขบวนแรก 696 หมู่บ้านเดินหน้าแล้ว (โครงการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในระดับหมู่บ้าน ตามแผนการพัฒนาพื้นที่พิเศษ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552-2555 ของรัฐบาล) ใน 696 หมู่บ้านนี้มีทั้งหมู่บ้านสีแดง หมู่บ้านชายฝั่งทะเล และหมู่บ้านยากจนตามเกณฑ์ จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน ซึ่งสำรวจในระดับครัวเรือนโดยกระทรวงมหาดไทย) มีจำนวนครัวเรือนทั้งหมด 52,000 กว่าครัวเรือน นับจากนี้ไปไม่เกิน 3 ปีต้องยกฐานะคนกลุ่มนี้ให้ได้ ครอบครัวทั้งหมดต้องมีบัญชีครัวเรือน ได้เห็นอนาคตของตัวเอง อาจไม่มีเงินเพิ่มแต่เราต้องรู้จักประหยัด
O เสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้างกับแนวทางที่ทำ?
เสียงตอบรับดีมาก จากการพูดคุยมีคนบอกว่า ศอ.บต.ดีขึ้น
O เท่าที่ติดตามการทำงานของ ศอ.บต. ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง ดูจะริเริ่มโครงการในเชิงรุกมากขึ้น...
ถูกต้องครับ อย่างแรกเลยคือเปิดสายด่วน ศอ.บต. เรียกว่าสายด่วนสันติสุข สำหรับให้ชาวบ้านร้องเรียนในเรื่องต่างๆ สถิติการเข้ามาร้องเรียนที่หมายเลข 1880 กับ 1881 ของเรามีมากขึ้น
เรื่องที่สอง เรามีสถานีวิทยุ ศอ.บต.และจะมีทีวีของเราเอง ที่ผ่านมาเวลาเราคุยเราก็รู้แค่ 2 คน แต่เมื่อมีวิทยุ ทีวี หลายคนจะได้รับรู้ร่วมกัน ผมอยากให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่า ศอ.บต.ทำอะไรบ้าง ผมก็สามารถบอกชาวบ้านของผมได้
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นงานเชิงรุกคือข้อความสั้นที่ส่งทางมือถือ หรือที่เรียกว่าเอสเอ็มเอส ก็จะเป็นการแจ้งข่าวสารให้สมาชิกรับทราบมากขึ้น รวมทั้งการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง ศอ.บต.กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ปัจจุบันเรามีสมาชิกทั้งหมด 80,000 กว่าคน กลุ่มสมาชิกก็ได้แก่ ผู้บังคับบัญชา ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ หัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. กลุ่มครู อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) อส. (อาสารักษาดินแดน) และกลุ่มประชนทั่วไปที่สมัครเข้ามา รวมทั้งบัณฑิตอาสา และกลุ่มสื่อที่มีอยู่ประมาณ 200 กว่าคน ทั้งหมดเราทำให้ฟรี
นอกจากนั้นเรามี "ศูนย์อดิลันเซ็นเตอร์" ที่ให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ยกตัวอย่างเช่น มะแอลูกของมามะ ขับรถไปยะลาแล้วถูกตำรวจจับ มามะก็ไปที่ร้านน้ำชาในหมู่บ้านไปบอกกับเพื่อนว่าลูกฉันถูกจับ ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่รังแก บังเอิญมะอีซอพูดขึ้นว่า วันนั้นลูกฉันก็ถูกจับเพราะไม่มีใบขับขี่ มามะก็ได้กลับไปถามลูกว่าตอนที่ไปยะลาได้เอาใบขับขี่ไปไหม มะแอก็บอกว่า อ๋อไม่ได้เอาไป แต่ก่อนที่มามะจะเข้าใจ มามะไปคุยกับคนอื่น แล้วมันขยายไปอย่างกว้างขวางกลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่รังแกประชาชน นี่คือปัญหาระดับร้านน้ำชา
ฉะนั้นเราจึงแก้ปัญหาตรงนี้ คือถ้าไม่มีคำตอบสำหรับมามะ เขาก็จะไปที่ศูนย์ความเป็นธรรมภาคประชาชนประจำตำบล หรือ อดิลันเซ็นเตอร์ แล้วคนตรงนั้นก็จะต่อสายไปยังผู้กำกับการ (หัวหน้าสถานีตำรวจ) บอกว่าเมื่อคืนรถถูกจับเพราะอะไร ก็อธิบายไปว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร ก็จะสร้างความเข้าใจได้ ถ้าแค่ไม่มีใบขับขี่ ก็เสียค่าปรับ ก็จบ ไม่ต้องขยายไปเป็นเรื่องอื่น หลายเรื่องจะสามารถจบลงได้ที่ตำบล
เรายังมีศูนย์ทนายความในพื้นที่ เราดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ต้องขังจำนวนมากต้องอยู่ในเรือนจำนาน เพราะในพื้นที่ใช้ทนายความกลุ่มเดียวกัน ซ้ำๆ กัน ทำให้เสียเวลา และปลายทางสุดท้ายมีการยกฟ้อง เราก็จะเข้าไปช่วยแบ่งเบาตรงนี้
ผมชอบหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง ชื่อว่า "เราต่างเป็นเพื่อนกัน" เป็นหนังสื่อที่สร้างความเข้าใจของคนสามศาสนา ทำให้เราเข้าใจซึ่งกันและกัน คนเดินเรื่องมีอยู่ 3 คน ได้แก่ เด็กชายเลาะ เป็นเด็กมุสลิม คำว่าอับดุลเลาะ เป็นชื่อของศาสดา เด็กชายชัย เป็นเด็กพุทธ คำว่าชัยเป็นชื่อที่พระตั้ง ชัยคือชัยชนะ และเด็กหญิงจู เป็นเด็กจีน คำว่าจูแปลว่าไข่มุก สวย ทั้งสามคนมีชื่อที่มีความหมาย เป็นความหวังของพ่อแม่ แล้วมาเดินเรืองกัน เราต่างเป็นเพื่อนกัน ทั้งหมดอธิบายได้ มีเหตุและผล มันสามารถเป็นเพื่อนกันได้ เห็นความแตกต่างกันแต่เป็นเพื่อนกัน เข้าใจซึ่งกันและกัน
หนังสือ "เราต่างเป็นเพื่อนกัน" เป็นหนังสือระดับประถมศึกษาปีที่ 3 และผมมีไอเดียให้เด็กๆ อ่านหนังสื่อเล่มนี้ โดยมีรางวัลให้ อ่านแล้วมาร่วมสอบความเข้าใจกัน และจะให้รางวัล โดยให้เด็กที่สนใจสมัครได้ที่ร้านเซเว่น อิเลฟเว่น ก็สามารถเข้าร่วมสอบในปลายเดือนนี้ ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่ออยากให้เด็กๆ อ่าน เพราะอ่านแล้วจะเข้าใจ
ขณะเดียวกันเรายังร่วมมือกับ อบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) ให้จัดทีมเด็กที่มีอายุ 12 ปีมาร่วมชมรมคนรักกีฬา หมู่บ้านละ 9 คน มีกีฬาให้เล่นหลายอย่าง เช่น แอโรบิค เปตอง วอลเลย์บอล ฟุตบอล และตะกร้อ เหตุผลที่เลือกเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีเพราะพ่อแม่เขายังไม่ปล่อยให้มาคนเดียว พ่อแม่ต้องมาส่ง นั่งรถกันมาแล้วก็เชียร์ลูกข้างสนาม คนเหล่านี้คือเครือข่ายของ ศอ.บต.
เรายังมีดิเกร์ฮูลู (การละเล่นพื้นบ้านชนิดหนึ่ง) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเชื่อมสัมพันธ์ เราใช้บัณฑิตอาสาให้เขาร่วมเล่นเกมกับเด็กๆ ก็มีเสียงเรียกร้องว่าอยากมีสไลด์เดอร์ (ลักษณะคล้ายไม้ลื่น แต่ขนาดใหญ่กว่า) เราก็จัดให้ เอาไปวางสักบ่ายสองโมง เด็กก็จะมา ช่วงเวลาตอนเย็นก็จะเริ่มมีโฆษกชาวบ้านมาพูดเรื่องความสามัคคี เรื่องยาเสพติด เรื่องของความรักบ้านเมือง เรื่องท่องเที่ยว แล้วแต่เขาจะจัดอะไร สัปดาห์ละ 2 วัน และเรายังเอาโฆษกเหล่านี้มาจัดรายการกับเราด้วย โฆษกหลายคนมีเครือข่ายอยู่แล้ว ก็จะเป็นการขยายเครือข่ายให้กว้างขวางขึ้น
ทั้งหมดเป็นช่องทางการทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ให้ประชาชนเข้าใจเราว่าเรามีความปรารถนาดี เราก็เข้าใจประชาชนต้องการอะไร ถ้าทำได้อย่างนี้อย่างต่อเนื่องก็จะเกิดความรักความสามัคคีขึ้นในพื้นที่ได้
----------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
- ศอ.บต.ผลัดใบ "พระนาย"อำลา-"ภาณุ"หวนคืนชายแดนใต้ ผงาดนั่ง ผอ.
http://www.isranews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=4921&Itemid=86