“กิน” อย่างไรให้ไกลโรค และมีอิสรภาพทางการกิน สไตล์คนเมือง
วิถีการกินแบบคนเมืองในปัจจุบัน เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ มากมายต่อสุขภาพ เริ่มตั้งแต่ อ้วน เบาหวาน ความดัน ไปจนถึงโรคร้ายแรงถึงชีวิตอย่างมะเร็ง เรื่องเหล่านี้หากใครไม่เจอกับตัวเองก็ยากที่จะเข้าใจและนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงวิถีการกินของตัวเอง
จึงเป็นที่มาของการได้มาล้อมวงคุยกันของ “คนเมือง” กลุ่มหนึ่ง ว่าเราควรจะกินอยู่กันอย่างไรให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ผ่านวงเสวนาที่จัดขึ้นในงานงานแสดงผลิตภัณฑ์อินทรีย์และผลผลิตตลาดสีเขียวชุมชน หรือ Green Fair ครั้งที่ 6 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
เพียงพร ลาภคล้อยมา วิทยากรด้านธรรมชาติบำบัดกับการเยียวยา เป็นคนหนึ่งที่เคยเป็นมะเร็ง ซึ่งสาเหตุมาจากอาหารการกินของตัวเอง จากไลฟ์สไตล์ที่เป็นคนยึดติดในรสชาติของอาหาร ที่ไหนอาหารอร่อยก็ตามไปกิน พอถึงช่วงหนึ่งของชีวิต มีเนื้องอกเกิดขึ้น หมอบอกว่า มันมาจากสิ่งที่เรากินและวิธีการกิน รวมถึงวิธีคิดในการดูแลตัวเองด้วย ตั้งแต่นั้นเพียงพรก็พลิกชีวิตกลับแบบ 180 องศา หันมากินมังสวิรัติ
“กินมังสวิรัติเป็นหลัก แต่ก็มีกินเนื้อบ้างเป็นบางครั้งเพื่อเอาโปรตีนและเพื่อเข้าสังคมด้วย ไม่ให้กลายเป็นคนแปลกแยกเกินไป เพื่อนบางคนแซวว่า ถ้าอายุยืนมาก ๆ ตอนแก่ ๆ ก็จะอยู่คนเดียว เพราะเพื่อนตายหมด ดิฉันบอกว่า ไม่ได้มีเป้าประสงค์ที่จะอยู่อายุยืน แค่อยากไม่โง่ตอนที่กำลังกินเท่านั้นเอง เพราะเราโง่ไปแล้ว เราถึงป่วย พอพลาดแล้วถึงมากลับตัวใหม่” เพียงพรเล่า
เช่นเดียวกับ วลัยกร สมรรกร นักเขียน-นักวาดการ์ตูน ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่เคยรอดจากโรคมะเร็ง จนปัจจุบันหันมาใช้ชีวิตแบบดูแลสุขภาพอย่างเข้มข้น เธอเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งขั้นที่หนึ่ง โชคดีผ่าตัดหาย ตั้งแต่นั้นมาก็เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต ทบทวนว่าที่ผ่านมาใช้ชีวิตผิดพลาดตรงจุดไหน จึงไปเข้าคอร์สธรรมชาติบำบัด ที่เน้นให้กินอาหารและใช้ชีวิตอย่างปลอดสารพิษ ทำให้ได้เปิดโลกทัศน์ว่า ชีวิตมีทางเลือกมากกว่าที่จะกินอย่างทุกคนกิน อย่างที่โฆษณาบอก
เธอเล่าว่าช่วงที่กินเพื่อล้างพิษในร่างกาย ต้องกินแค่ผลไม้สดถึงเก้าเดือนเต็ม ก็รู้สึกว่าร่างกายสดใสดี ต่อมาได้ตัดสินใจขายบ้านที่กรุงเทพฯ แล้วย้ายไปอยู่อำเภอปากช่อง เพราะอยากปลูกผักกินเอง และที่นั่นอากาศดี
“ถ้าไม่ได้ป่วยก็คงใช้ชีวิตเดิม ๆ หันกลับมามองวิธีการใช้ชีวิตใหม่ แล้วเชื่อมั่นในธรรมชาติให้มากขึ้น ทั้งในเรื่องอาหารและการดูแลตัวเอง”
ดูเหมือนว่าเราทุกคน มี “วิธีการกิน” และกินใน “สิ่ง” ที่เหมือน ๆ กัน นำมาสู่คำถามว่า ทุกวันนี้เราเหมือนไม่มี “อิสรภาพทางการกิน” เอาเสียเลย ธนิสรา แก้วอินทร์ ครูบัลเลต์ผู้หลงเสน่ห์การปลูกผักเห็นเช่นนั้น
เธอเล่าว่าช่วงน้ำท่วมใหญ่ 2554 เรามีเงิน แต่เราซื้ออะไรไม่ได้ จากเคยพึ่งพาร้านเซเว่น จึงคิดได้ว่า ถ้าเราไม่ทำเอง เราก็ต้องคอยพึ่งคนอื่นตลอดเวลา เราจะเอาอะไรกิน ก็เริ่มตกใจ แต่ช่วงนั้นได้เริ่มเลี้ยงไก่เอาไว้แล้ว จึงมีไข่ไก่กิน เริ่มมีอิสรภาพด้านไข่ไก่ขึ้นมาหนึ่งอย่าง
“มีโอกาสได้ไปประเทศภูฏาน สั่งอาหารที่ร้าน พอครัววิ่งไปเก็บผักสด ๆ มาปรุง ดูชีวิตคนที่นั่นมีความสุข จึงเริ่มหันมามองตัวเองว่า ฉันทำอะไรอยู่ ทุกคนคิดว่าเราต้องมีเงินเยอะ ๆ ถึงจะมีความสุข ช่วงนั้นมีเงินจำนวนหนึ่งไม่เยอะ แต่ดูเหมือนเป็นความสุขที่เราพึ่งตัวเองไม่ได้ จึงลาออกจากงาน ไปเรียนปลูกผัก มาปลูกเล็ก ๆ น้อยที่บ้าน ก็รอดมาจนทุกวันนี้ นอกจากมีผักพอสำหรับกินเองแล้ว ยังแบ่งให้คนอื่น ๆ ได้กินด้วย” เธอเล่าด้วยรอยยิ้ม
ขณะที่เพียงพร เธอมองว่าวิถีการกินข้าวปลาอาหารของคนไทยทุกวันนี้ แทบจะเรียกได้ว่าตกอยู่ในการควบคุมของอุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยา เธอตั้งคำถามว่า ทำไมเราไปวางใจกับบริษัทเพียงไม่กี่บริษัทที่เขาผลิตสินค้าขึ้นมา และหากินกับความเจ็บป่วยของเรา จะเชื่อได้อย่างไรว่าเขาจะแนะนำสิ่งที่ดีที่สุดกับสุขภาพร่างกายของเรา
“ยังเคยคิดแบบชั่วร้ายที่สุดว่า บริษัทอาหาร ร้านอาหารชื่อดังทั้งหลาย เขาได้ตกลงกันไว้หรือเปล่านะ ว่าฉันจะผลิตอาหารแบบนี้ เพื่อที่เธอจะได้ขายยาประเภทนั้น เพราะกินอย่างนี้ปุ๊บเราจะได้มีโรคติดตัวมา คือหนึ่งเบาหวาน สองความดัน”
วิธีการกินเราเลือกกินเองได้ หลักง่าย ๆ แต่สำคัญอย่างหนึ่ง คุณเพียงพรแนะนำว่าต้อง “กินของใกล้ตัว” คือกินของที่อยู่ในรัศมี 100 กิโลเมตรรอบตัวเรา เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและฤดูกาลจะช่วยเยียวยาเรา ถ้าเรากินอาหารข้ามฤดูกาลก็จะไม่ดี ข้าวที่เรากิน เราปลูกเองไม่ได้ ก็เลือกคนที่เราวางใจแล้วก็ซื้อเขากิน
ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเลือกเองได้ เมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่ว่าเราพร้อมที่จะทำหรือเปล่า ถ้ายังหลงใหลหรือยึดติดกับรูปแบบการกินแบบเดิม ๆ ที่ไร้อิสรภาพและนำไปสู่ความเจ็บป่วยในบั้นปลายขีวิต
“การกินเป็นวิถีเดียวที่จะเอามะเร็งอยู่” คุณเพียงพรยืนยันเช่นนั้น