เมตตา กูนิง...เบื้องหลังข้อมูลสถิติเหตุร้ายชายแดนใต้ และแผนที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
สิ่งหนึ่งที่ดูจะปรากฏคู่กับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปแล้ว ก็คือตัวเลขสถิติความรุนแรง ซึ่งมักได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมและสื่อมวลชนที่นำไปขยายต่อกันอย่างกว้างขวาง แต่สำหรับคนที่อยู่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านี้...รู้ดีว่ามันมีอะไรมากกว่าตัวเลข
แต่เดิมสถิติเหตุรุนแรงและจำนวนผู้บาดเจ็บล้มตายจากสถานการณ์ที่ชายแดนใต้มีที่มาอยู่ไม่กี่แหล่ง เช่น ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และศูนย์ข่าวอิศรา เป็นต้น แต่ปัจจุบันมีความหลากหลายทั้งในแง่รูปแบบ คือ รายเดือน รายปี และรายหลายปี กับในแง่หน่วยงานที่จัดทำข้อมูล ซึ่งก็มีทั้งตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง
แต่ข้อมูลที่จัดทำมาอย่างยาวนาน มีระบบการจัดเก็บที่เป็นวิทยาศาสตร์ และได้รับความน่าเชื่อถือสูงมาก เพราะแทบทุกหน่วยงานนำไปอ้างอิง ก็คือข้อมูลจาก ศูนย์ประสานงานวิชาการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ หรือ ศว.ชต.
และ ดร.เมตตา กูนิง อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) คือแกนหลักของ ศว.ชต.
เรื่องราวของอาจารย์เมตตา น่าสนใจทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวที่เป็นคนภาคเหนือ แต่กลับมาแต่งงานและใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน ขณะที่ในแง่งานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเธอคือผู้อยู่เบื้องหลังข้อมูลสถิติที่สำคัญอันเกิดจากผลของสถานการณ์ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และใช้ตัวเลขเหล่านั้นสร้าง “แผนที่เดินทาง” เพื่อเข้าถึงและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
O ทราบว่าอาจารย์เป็นคนเหนือ ไปยังไงมายังไงถึงมาทำงานถึงปัตตานีได้?
เดิมเราเป็นคนพิษณุโลก เรียนจบที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาตรีจบทางด้านคณิตศาสตร์ จากนั้นก็แต่งงานและมาอยู่กับสามีที่ปัตตานี เมื่อมาอยู่ปัตตานีก็เรียนต่อปริญญาโทที่ ม.อ. ในสาขาวิถีวิจัย และต่อปริญญาเอกด้านระบาดวิทยาที่ ม.อ.หาดใหญ่ (วิทยาเขตหาดใหญ่)
เรามาปัตตานีตั้งแต่ปี 2528 ตอนนั้นได้เห็นความสวยงามและความเจริญของจังหวัด ซึ่งถ้าเทียบกับที่บ้านของตัวเอง ถนนที่บ้านยังเป็นเส้นเล็กๆ อยู่เลย แต่ที่นี่ทุกอย่างสะดวก อากาศก็ดี ของกินก็มีมาก เลยทำให้ชอบที่นี่
O มีจุดเริ่มต้นอะไรที่ทำให้หันมาสนใจทำงานเก็บข้อมูลสถิติจากเหตุรุนแรงในพื้นที่?
อาจจะเป็นเพราะเราทำงานกับพวกหมอมาเยอะ และเราก็ร่ำเรียนมากับหน่วยระบาดวิทยา เราจึงสนใจในมิติสุขภาพมากกว่าที่จะสนใจอย่างอื่น เมื่อเข้ามาทำจริงๆ ก็พบว่าทำงานตามไม่ทันกับเหตุการณ์ จึงคิดว่าเราน่าจะพัฒนาระบบการเยียวยาให้มันดีขึ้น ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น งานหลักของ ศว.ชต.คืองานเยียวยา ซึ่งต้องมามองกันว่าเราจะทำให้งานในระบบการเยียวยามันดีขึ้นอย่างไร
O หมายถึงมุ่งมาทำงานเยียวยา ไม่ใช่เน้นทำเรื่องสถิติตัวเลข?
จริงๆ แล้วไม่ใช่ต้นคิดที่จะทำข้อมูลเกี่ยวกับตัวเลข คนที่คิดคือหมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส อดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ) เมื่อตอนที่เราเรียนจบใหม่ๆ ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ (จากหน่วยระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ก็มาถามว่าเราชอบเรื่องฐานข้อมูลใช่ไหม ซึ่งเราจบปริญญาเอกช่วงปี 2547 พอดี และเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ ท่านก็เลยถามว่าสนใจไหม ถ้าสนใจก็ลองมาคุยกันดู และตอนนั้นหมอประเวศก็มามอบเงินจากกองทุนสมานฉันท์ที่คณะวิทยาศาสตร์ฯพอดี ก็เลยตอบตกลง
ตอนแรกก็ยังงงๆ อยู่ ข้อมูลเริ่มแรกนั้นเราได้จาก ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี (ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้) เราเริ่มทำตั้งแต่ปี 2549 เหตุการณ์ตอนนั้นมีจำนวน 4 พันกว่าเหตุการณ์ เราก็นำมาแยกและมาออกแบบกันว่าเราจะวางระบบฐานข้อมูลอย่างไรให้สามารถนำออกมาใช้ประโยชน์ได้ รวมทั้งจัดทำรายงานทุกจุดให้ออกมาเป็นงานวิจัยได้
เราได้โจทย์มาแล้วก็ทำงานชิ้นนั้นเสร็จภายใน 3 เดือน และสามารถตอบโจทย์ได้ว่าผู้ที่รับผลกระทบเป็นใครบ้าง สมัยนั้นเราต้องไม่ลืมว่าตัวเลขยังแกว่งไปแกว่งมา ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรแต่เรามีตัวเลขอยู่ในมือ เราสามารถแยกแยะข้อมูลเหล่านั้นได้ ก็เลยใช้เป็นตัวตั้งต้นของเรา พอทำมาก็มีคนนั้นพูดอย่างคนนี้พูดอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่ที่เราจะมอง ความจริงตรงนี้เราต้องมาจำแนกให้คนทั่วไปทราบด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นมีอยู่หลายประเภท ทั้งอุบัติเหตุและเหตุการณ์ (การก่อความไม่สงบ) ซึ่งเราจะต้องจำแนกให้เห็นตัวเลขทุกตัว ส่วนผู้เสพข้อมูลของเราจะเอาตัวเลขส่วนไหนไปใช้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
O สรุปว่าไม่ได้จัดทำข้อมูลตัวเลขเพื่ออธิบายเหตุการณ์ความรุนแรงเท่านั้น?
ตอนนี้เลิกมองดูตัวเลขเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะเกิดคำถามว่าดูแล้วมันสามารถบำบัดจิตใจได้หรือเปล่า...มันก็ไม่ได้ช่วยบำบัดจิตใจ เรามองว่าวันนี้เราดูตัวเลขเพื่ออะไร ดูให้เห็นการเสียชีวิตอย่างนั้นหรือ แต่ที่ดูก็เพื่อให้รู้ว่าคนเหล่านี้อยู่ที่ไหน และกลุ่มใดบ้างที่ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งตอนแรกเราช่วยแต่หญิงหม้าย เราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าหญิงหม้ายเหล่านี้ต้องทำหน้าที่ทั้งพ่อบ้านและแม่บ้านในเวลาเดียวกัน ตอนนี้กลุ่มแม่หม้ายก็มีคนดูแลแล้ว
ต่อมาทาง ศว.ชต.ก็มีการออกภาคสนาม กลุ่มที่ลงพื้นที่ก็กลับมาเล่าให้ฟังว่า ลูกๆ ของผู้สูญเสียบางคนอยู่ในเหตุการณ์และเห็นภาพความรุนแรง เราก็เลยกลับมาคิดว่าเด็กเหล่านี้มีมากเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้เป็นโจทย์ให้เรา และเราต้องหันกลับไปดูข้อมูลของเราว่ามีเด็กที่อยู่กับพ่อแม่หรืออยู่กับผู้ใหญ่ที่ถูกกระทำจำนวนเท่าไหร่ เพราะเด็กเหล่านี้ต้องเห็นภาพและยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ก็ต้องมาติดตามดูว่าตอนนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง และบุคคลเหล่านี้มีสภาวะทางจิตเป็นอย่างไร
เมื่อเราเห็นตัวเลขเด็กๆ ในกลุ่มนี้ ก็บอกกับคณะทำงานเลยว่าเราอยู่นิ่งกันไม่ได้แล้วนะ เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และทีมงานของเราก็ได้ลงไปเยี่ยม ซึ่งเราทำในปี 2551 และในปีถัดมาคือ 2552 พอเราลงไปเยี่ยมเด็กๆ เราก็ได้ยินกันว่าบางบ้านยังไม่หายหวาดผวากันเลย เราก็กลับมาเช็คกันว่าที่ยังไม่หายนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหน ซึ่งหลายๆ กรณีเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547-2548 แต่ตอนนั้นปี 2552 แล้ว ปัญหาที่ตามมาคือการรักษาอย่างต่อเนื่องยังไม่มี
เพราะฉะนั้นความเสียหายที่เกิดกับครอบครัวเป็นเรื่องที่รุนแรงมาก ผู้หญิงนั้นถ้าเป็นภรรยาหรือแม่แล้วไม่สามารถทำงานได้ อาจจะเพราะบาดเจ็บหรือด้วยเหตุผลอื่น ก็จะส่งผลถึงปัญหาเรื่องรายได้ของครอบครัวทันที ไหนจะค่ารักษาพยาบาล ไหนจะค่าเดินทาง แล้วเราสามารถช่วยอะไรเขาได้ และมีอย่างนี้อยู่กี่ครอบครัว ซึ่งถ้าเราปล่อยไว้ คนที่รบก็รบกันไป แต่สุขภาพของคนเหล่านี้จะยิ่งย่ำแย่ และเมื่อเราดูก็เห็นว่ามีเป็นจำนวนมาก คนบาดเจ็บมีเป็นสองเท่าของผู้ที่เสียชีวิต ถ้าเรามีผู้เสียชีวิต 4,000 คน คนบาดเจ็บก็ต้องมีอย่างน้อยๆ 8,000 คน
O เห็นข้อมูลตัวเลขแล้วทำอะไรต่อ?
เรามีคณะทำงาน เราตั้งเป้าเอาไว้ว่า 1 เดือนต้องไปเยี่ยมผู้ได้รับผลกระทบ 10 ครอบครัว และกลับมาก็ต้องมานั่งเขียนรายงาน สิ่งที่เราลงไปเปรียบเสมือนผู้ให้ และสิ่งที่ผู้ได้รับผลกระทบต้องการก็คือกำลังใจ
โดยส่วนตัวเราไม่มีทักษะในการเยี่ยม เพราะเราไม่เคยลงพื้นที่ แต่เท่าที่สอบถามคนที่ลงไปในพื้นที่ เราถามว่าสิ่งแรกที่ลงไปนั้นต้องทำอะไรก่อน ก็ได้รับคำตอบว่าต้องติดต่อประสานงานก่อน และเมื่อไปถึงเราก็พูดคุยทักทาย ต้องดูว่าเขาพร้อมที่จะพูดคุยไหม ถ้ายังไม่พร้อมเราก็พูดคุยธรรมดาแล้วก็กลับมา จากนั้นก็ดูจังหวะว่าอีกกี่เดือนเราถึงจะลงไปอีกครั้งหนึ่ง นี่คือกระบวนการที่เราลงไปทำ แต่ถ้าเขาพร้อมที่จะคุย เราก็พร้อมที่จะรับฟังและแบ่งปันความทุกข์ซึ่งกันและกัน เราต้องฟังอย่างเดียว เพราะเขาต้องการผู้ฟังมากกว่า
คณะทำงานที่ลงไปนั้นต้องการไปให้กำลังใจจริงๆ ที่ไปก็ไปด้วยใจไม่ใช่ไปแล้วกลับ กระบวนการตรงนี้ทำให้คณะทำงานของเราได้รับความไว้วางใจ ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ที่ได้มานั่งคุยกับเราเขาก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าได้รับกำลังใจจากพวกเราที่ลงไป และยิ่งเรามีเครือข่ายสตรีผู้สูญเสียที่มีจิตอาสา ซึ่งจริงๆ เราก็ไม่คิดว่ามันจะมีตรงนี้ โดยเราเริ่มตั้งแต่ปี 2549 เราได้เชิญให้เขามาพูดคุยกันเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เชิญมาร่วม 200 คน แต่ตอนนั้นกลุ่มค่อนข้างใหญ่ ทำให้คุยกันได้ไม่มาก ก็เลยได้รับข้อเสนอว่าน่าจะมีตัวแทนและผู้ประสานงาน แล้วเราก็เชิญเขามาอีกครั้ง
เมื่อผ่านกระบวนการการพูดคุยกันว่าที่ผ่านมาทำอะไรกัน เขาก็มีความไว้วางใจกันเกิดขึ้น เขาก็มีความผูกพันกันภายในกลุ่มของเขา และเราก็จะเห็นความสวยงามตรงที่ว่า เรื่องราวต่างๆ ของผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นเราไม่เคยเข้าใจ เพราะดูว่ามันเยอะมาก และไม่มีใครสามารถดูแลพวกเขาได้ดีเท่ากับพวกเขาเอง ทำอย่างไรถึงจะเกิดกระบวนการตรงนี้ เพราะพวกเราซึ่งถือว่าเป็นคนนอกไปเยี่ยมอย่างไรก็ไม่ทั่ว แต่ถ้าเขาทำกันเองมันจะมาจากใจ และมันจะทั่วถึงกันมากกว่า
O อาจารย์เล่าว่าได้รับการสนับสนุนจากหมอประเวศและกองทุนสมานฉันท์ แต่วันนี้กองทุนปิดไปแล้ว จะมีปัญหาเรื่องการทำงานหรือไม่?
กองทุนสมานฉันท์มีเงินที่แบ่งใช้หลายวัตถุประสงค์ ทั้งช่วยองค์กรและช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ เมื่อต้องยุติบทบาททั้งหมดแล้ว บางบทบาทมันยังต้องดำเนินต่อไป ตอนนี้จึงกำลังจดทะเบียนมูลนิธิอยู่ โดยใช้ชื่อว่า “มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้” ตัวย่อว่า มยส. แล้วก็จะทำเรื่องข้อมูลลักษณะนี้ต่อไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
มีคนถามว่าข้อมูลสำคัญตรงไหน คำตอบก็คือสำคัญตรงที่ใช้ในการนำทางเรา ถ้าเราไม่มีข้อมูล วันนี้เราจะไม่รู้เลยว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบอยู่ที่ไหนและเป็นอย่างไร การช่วยเหลือก็ไม่กระจาย เมื่อเรารู้ข้อมูลเราก็จะได้รับรู้ว่าเราจะช่วยเหลือกลุ่มไหน และพวกเขาอยู่ที่ไหน ชึ่งทำให้เราทำงานสะดวกขึ้น
O ที่ผ่านมามองการช่วยเหลือเยียวยาของภาครัฐเป็นอย่างไรบ้าง เพราะถูกวิจารณ์เยอะพอสมควร?
การช่วยเหลือของรัฐบาลนั้นถือว่าทำได้ดี แต่คิดว่างานแบบนี้ควรเป็นงานเชิงรุก ถึงแม้มันจะรุกช้ามันก็ยังดีกว่านั่งรออยู่ที่สำนักงาน เช่น หลายๆ เรื่องน่าจะรู้จากการอ่านข่าวได้ แต่รัฐเองก็ทำงานเชิงรุกมานานแล้ว สิ่งที่อยากจะเห็นคือการทำงานร่วมกันมากกว่า เพราะว่าแต่ละกลุ่มที่ทำงาน บางครั้งทำซ้ำซ้อนกัน ฉะนั้นถ้าทุกกลุ่มทั้งภาครัฐและเอกชนมาประสานกัน มาทำงานร่วมกัน และมาแลกเปลี่ยนกัน มันก็จะได้เต็มร้อย และเป็นร้อยที่ครอบคลุมทั้งหมด
-------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ตัวอย่างตารางข้อมูลเพียงบางส่วนที่ ศว.ชต.จัดทำ ซึ่งจุดเด่นคือจะแยกลักษณะของความรุนแรงและผู้ได้รับผลกระทบว่าเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบหรือไม่