6 ปีทนายสมชาย (2) บันทึกการต่อสู้ของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่ง
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“สังคมถูกผู้มีอำนาจตัดอำนาจของประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเรียกร้องความเป็นธรรม แม้แต่คนที่นุ่งผ้าถุงเก่าๆ ก็มีสิทธิเท่าๆ กับนายกรัฐมนตรี ถ้าสังคมไม่ปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านเลยไป จะผลักดันกลไกความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้”
เป็นถ้อยคำจากน้ำเสียงที่มุ่งมั่นของผู้หญิงตัวเล็กๆ บอบบางที่ชื่อ อังคณา นีละไพจิตร กับผลผลิตของการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับทนายสมชาย นีละไพจิตร สามีของเธอ ซึ่งถูกอุ้มหายไปตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.2547 หรือเมื่อ 6 ปีล่วงมาแล้ว
ย้อนกลับไป 6 ปี ในวันที่ได้รับข่าวร้าย สามีหายไปเหมือนตายจาก และน่าเชื่อว่ามีอำนาจรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง เพราะสามีกำลังทำงานช่วยเหลือทางคดีให้กับพี่น้องมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม ซึ่งส่งผลกระทบกับหน่วยงานรัฐบางหน่วยอย่างรุนแรง...อังคณาบอกเล่าความรู้สึกในนาทีที่ตัดสินใจสู้ แทนที่จะยอมจำนน
“ถึงจุดหนึ่งเราอยู่เฉยไม่ได้ ในฐานะผู้เสียหายโดยตรงต้องทำอะไรบ้าง ก็ได้ถามลูก ปรึกษาลูก และบอกลูกทุกอย่าง พร้อมทั้งประเมินว่าด้วยสภาพแวดล้อมของสังคมไทย ถ้าเราออกมาโวยวายจะเจออะไรบ้าง แน่นอนว่าการข่มขู่คุกคามเป็นเรื่องที่ต้องเจอ โดยเฉพาะเรามีปัญหากับภาครัฐ ซึ่งลูกๆ ทั้ง 4 คนก็เข้าใจ จากนั้นจึงเริ่มออกมา”
และเมื่อต้องยืนท่ามกลางสปอตไลท์ อังคณาก็ต้องเผชิญกับทุกสิ่งที่เธอเคยประเมิน
“การต่อสู้มันไม่ง่าย เมื่อก่อนตอนที่ยังไม่มีใครรู้จักเคยถูกคุกคามอย่างไร ตอนนี้แม้จะมีคนรู้จักทั้งประเทศแล้วก็ยังโดนคุกคามอยู่อย่างนั้น มีคนเตือนตลอดว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะผู้มีอิทธิพลทั้งหลายใช้วิธีนี้ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าสู้ต่อ แต่เราเลือกที่จะต่อสู้ พึ่งพาสังคม พึ่งพาเพื่อนบ้านให้ช่วยเป็นหูเป็นตา ที่สำคัญคือสื่อมวลชน นักข่าวหลายคนกลายเป็นเพื่อนกันไปเลย”
อังคณา เล่าว่า เธอเริ่มต้นจากศูนย์ กลไกรัฐในขณะนั้นไม่ทำงานเลย เพราะรัฐทำผิดเอง ใช้วิธีนอกกฎหมาย จึงยิ่งยากที่จะทำให้กลไกรัฐขยับ แต่เธอต้องขับเคลื่อนเพื่อให้กลไกรัฐทำงาน
“คดีของพี่สมชายเริ่มพิจารณาเมื่อเดือน ส.ค.2548 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 12 ม.ค.2549 เราไปศาลทุกนัด บันทึกคำให้การตลอด แม้แต่คำอุทธรณ์ก็เขียนเอง และส่งคำอุทธรณ์คู่ขนานกับอัยการ”
เธอสรุปสิ่งที่ทำมาจนถึงวันนี้ว่า รัฐไม่เคยช่วยเหลืออะไรเลย แม้จะผ่านนายกฯมา 5 คน รัฐมนตรียุติธรรมถึง 6 คนแล้วก็ตาม
“รัฐไม่เต็มใจ...ไม่เคยเต็มใจที่จะคลี่คลายคดี มันเป็นระบบของการปกป้องพวกพ้อง ยิ่งในยุครัฐบาลสมัคร (นายสมัคร สุนทรเวช) รัฐบาลสมชาย (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) คดีไม่ก้าวหน้าไม่พอ ยังถดถอยอีกด้วย ส่วนรัฐบาลอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ตอนแรกก็ดูสนใจมาก จะหยิบทุกคดีที่มีปัญหามาเร่งทำ แต่ผ่านมา 1 ปีก็ไม่มีอะไรก้าวหน้า”
“คดีที่ยื่นอุทธรณ์ตอนนี้คือคดีหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกายเท่านั้น เป็นคดีที่ศาลลงโทษตำรวจคนหนึ่งซึ่งปัจจุบันก็หายตัวไปแล้ว ส่วนคดีฆ่า ทางดีเอสไอ (กรมสอบสวนคดีพิเศษ) รับเป็นคดีพิเศษตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.2548 แต่จนถึงขณะนี้ยังไปไม่ถึงไหน”
อังคณา เปิดใจว่า การต่อสู้คดีให้สามี ซึ่งก็เท่ากับการต่อสู้กับรัฐ เธอต้องใช้สมาธิและความอดทนอดกลั้นสูงมาก
“เจ้าหน้าที่พยายามจะฟ้องโดยที่หลักฐานยังไม่ชัดเจน เราก็ต้องคอยติดตาม เผลอไม่ได้เลย เพราะถ้าปล่อยให้ฟ้องแล้วจบเลย กลายเป็นการฟอกตัวให้คนบางกลุ่มด้วยซ้ำไป ฉะนั้นในฐานะประชาชนที่มีสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม นายกฯต้องบอกว่ามีอะไรติดขัดตรงไหน พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ (อดีต รองผบ.ตร.) เคยบอกว่าเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ฟ้าเปิดแล้ว แต่ทำไมถึงไม่มีความคืบหน้า”
"ทั้งหมดนี้รัฐบาลต้องมีคำตอบ มิฉะนั้นจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ลองคิดดูว่ามันคุ้มหรือไม่ คดีนี้คดีเดียวกับกระบวนการยุติธรรมถูกลดความน่าเชื่อถือลงทั้งกระบวนการ”
อังคณา ชี้ว่า สภาพการณ์ที่ประชาชนไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะในรัฐใด ประเทศไหนก็ตาม
“การที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าตำรวจเป็นที่พึ่ง มันอันตรายมาก เพราะตำรวจเป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรม แต่สิ่งที่เราเจอมาก็คือคุณทำผิดเอง แล้วก็สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเอง แต่เมื่อถึงชั้นศาล หลักฐานหลายอย่างกลับหายไป ไม่ถูกส่งขึ้นสู่ศาล ตำรวจเจอรถพี่สมชายวันที่ 17 มี.ค.2547 แล้วก็เอาไปตรวจกันใหญ่โต เป็นข่าวครึกโครม แต่ไม่มีผลตรวจอะไรถูกส่งขึ้นสู่ศาลเลย”
“คนที่ทำสำนวนคือตำรวจ ซึ่งเป็นองค์กรที่เชื่อว่าทำให้พี่สมชายหายไป ฉะนั้นประเทศไทยต้องสร้างมาตรฐานใหม่ตรงนี้ให้ได้ แม้แต่ผู้ตรวจการแผ่นดิน เรายื่นเรื่องไปเป็นปีไม่เคยตอบกลับมา แต่พอเกิดรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 ผ่านไปแค่ไม่กี่วันส่งหนังสือกลับมาบอกเราว่าหมดอำนาจแล้ว ย้อนไปดูการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน มีสักคดีไหมที่ยื่นฟ้องแทนประชาชน”
ในมุมมองของ อังคณา เธอเห็นว่านี่คือเรื่องของสังคมไทยทั้งสังคม ไม่ใช่เรื่องของเธอและลูกๆ ซึ่งเป็นทายาทของทนายสมชายเท่านั้น
“ปัญหาของคนเล็กคนน้อยคือโจทย์ที่สังคมต้องนำมาคิดว่าจะเอาอย่างไร การพูดแล้วมีคนฟัง พูดแล้วมีคนได้ยินมันสำคัญมาก ทุกคนต้องรู้ว่ามีสิทธิได้รับความเป็นธรรม และรัฐต้องขับเคลื่อนให้เกิดสิทธินั้นให้ได้ ไม่ใช่ให้ชาวบ้านไปหาเอาเอง”
“เปรียบกับปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุกคนมีสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม มีสิทธิเดินไปที่ค่ายสิรินธรแล้วขอพบแม่ทัพภาค 4 เพื่อถามว่าทำไมเหตุการณ์ถึงเป็นแบบนี้ มีสิทธิเข้าไปที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วถามผู้บัญชาการว่าคดีแต่ละคดีถึงไหนแล้ว”
แต่อังคณาก็ยอมรับว่า นั่นยังเป็นเพียงภาพฝันของปัจจุบัน...
“ความจริงมันตรงกันข้าม ชาวบ้านส่วนใหญ่เรียกเจ้าหน้าที่ว่านาย เจ้าหน้าที่คือนาย ชาวบ้านเหมือนเป็นชนชั้นที่ด้อยกว่า เจ้าหน้าที่จากหน่วยเฉพาะกิจเลข 2 ตัว เข้าไปดูข้อมูลส่วนตัวของประชาชน คำถามคือทำได้อย่างไร มีกฎหมายอะไรรองรับ หรือเพราะว่าชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย และเจ้าหน้าที่ก็รู้ว่าชาวบ้านไม่รู้กฎหมาย จึงกล้าทำถึงขนาดนี้"
เมื่อถามว่าอยากได้อะไรในวันนี้ อังคณาให้คำตอบว่าเธออยากเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนคนให้เป็นพลเมือง จะได้เรียนรู้ที่จะเรียกร้องสิทธิของตนเอง เพราะสังคมนี้ถูกผู้มีอำนาจตัดอำนาจของประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิเรียกร้องความเป็นธรรม...
ไม่ว่าคนๆ นั้นจะนุ่งผ้าถุงเก่าๆ หรือเป็นนายกรัฐมนตรี!
--------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :
6 ปีทนายสมชาย (1) กับบทเรียนคดีอุ้มหายที่กัวเตมาลา