3 ผู้ต้องหาปล้นฐานพระองค์ดำโดน ปปง.ระงับธุรกรรมฐานหนุนก่อการร้าย!
หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ล่าสุดสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เริ่มทยอยประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงผู้ก่อการร้ายทั้งในต่างประเทศและที่เป็นคนไทย เพื่อกำหนดมาตรการเข้มห้ามทำธุรกรรมทางการเงินทุกรูปแบบแล้ว
ปรากฏว่า "บุคคลที่ถูกกำหนด" ในส่วนของคนไทยที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดีก่อการร้ายจำนวน 3 คนแรกที่ศาลแพ่งประกาศ ล้วนเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
คำว่า "บุคคลที่ถูกกำหนด" มีนิยามตามกฎหมายว่า หมายถึง บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อที่ศาล (หมายถึงศาลไทย) ได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
เดินหน้าประกาศรายชื่อ 2 ส่วน
ทั้งนี้ การประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ เป็นหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ตามนิยามดังกล่าว และตามกฎหมายมาตรา 4 และมาตรา 5 กล่าวคือ
ส่วนแรก ดำเนินการประกาศรายชื่อผู้มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ซึ่งได้ประกาศไปแล้วเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา จำนวนทั้งสิ้น 291 ราย ประกอบด้วย บุคคลธรรมดา 227 ราย นิติบุคคล คณะบุคคล หรือองค์กร จำนวน 64 ราย (เป็นไปตามมาตรา 4 ตรวจสอบรายชื่อได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงาน ปปง. www.amlo.go.th)
ส่วนที่สอง ดำเนินการประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น
ล็อตแรก 3 ผู้ต้องหาปล้นฐานพระองค์ดำ
เฉพาะในส่วนที่สองนี้ กำหนดวิธีการให้สำนักงาน ปปง.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรม (ปปง.) พิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ปรากฏว่า ปปง.ได้ส่งรายชื่อเสนอพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องฝ่ายเดียวให้ศาลมีคำสั่ง และศาลแพ่งได้มีคำสั่งแล้วเบื้องต้นจำนวน 3 คน
ทั้ง 3 คนคือผู้ต้องหาคดีบุกโจมตีและปล้นฐานปฏิบัติการกองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หรือฐานพระองค์ดำ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554
เลขาฯ ปปง.แถลงขั้นตอนพิจารณาละเอียดยิบ
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. แถลงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 พ.ค.ว่า จากการที่สำนักงาน ปปง.ได้ตรวจสอบจากข้อมูลพยานหลักฐานกรณีเมื่อวันที่ 19 ม.ค.2554 เวลาประมาณ 19.30 น. กลุ่มผู้ก่อการร้ายจำนวน 40-50 คน พร้อมอาวุธปืน วัตถุระเบิด ได้ร่วมกันก่อเหตุโจมตีฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ โดยคนร้ายเป็นกลุ่มชายฉกรรจ์บุกเข้าไปทางด้านหลังของฐานปฏิบัติการโดยใช้ไม้กลมมัดเป็นสะพานวางทับรั้วลวดหนาม ใช้อาวุธปืน และวัตถุระเบิดยิงและขว้างใส่ฐาน จุดไฟเผาที่พัก ปล้นเอาอาวุธปืน กระสุนปืน และยุทธภัณฑ์ในราชการทหารไปจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 4 นาย คือ ร.อ.กฤช คัมภีรญาณ ผู้บังคับกองร้อย ส.อ.อับดุลเลาะห์ ดะหยี ส.อ.เทวารัตน์ เทวา และ พลทหารประวิทย์ ชูกลิ่น นอกจากนั้นยังมีกำลังพลได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ปรากฏพยานหลักฐานว่ามีบุคคลที่ร่วมกระทำผิดที่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้ออกหมายจับไว้ดำเนินคดี จำนวน 40 หมายจับ ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ฐานร่วมกันใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้กระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและปล้นทรัพย์ ฐานร่วมกันทำให้เกิดการระเบิด ฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ที่เป็นโรงเรือนสำหรับอยู่อาศัย กับฐานร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร รวมทั้งความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง
หลังเกิดเหตุมีการสืบสวนจับกุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้จำนวน 15 ราย ส่งฟ้องศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย มีทั้งประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต จำคุก 2-10 ปี บางรายเสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และส่วนที่เหลือหลบหนีการจับกุม
ศาลแพ่งประกาศชื่อ "อำรัน มิง และพวก"
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า สำนักงาน ปปง.ได้ตรวจสอบรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานพบว่า มีเหตุอันควรสงสัยว่า (1) นายอำรัน มิง (2) นายอาหะมะ กาเจ และ (3) นายอับดุลเล๊าะฮ์ มะมิง ผู้ต้องหาซึ่งหลบหนีการจับกุมจากกรณีดังกล่าว เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และยังคงมีพฤติการณ์ในการก่อการร้ายในพื้นที่ต่อเนื่องอีกหลายคดี จึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อตามกฎกระทรวงว่าด้วยการพิจารณารายชื่อและการทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดของสำนักงาน ปปง. พ.ศ. 2556 โดยคณะกรรมการฯมีมติเห็นชอบว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอให้ควรเชื่อได้ว่าบุคคลทั้ง 3 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย จึงมีมติให้สำนักงาน ปปง. เสนอชื่อบุคคลทั้ง 3 ให้คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณา
ต่อมา คณะกรรมการธุรกรรมได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 8/2556 เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2556 ว่าปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลทั้ง 3 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย และยังคงมีพฤติการณ์ในการก่อการร้ายต่อเนื่องถึงในปัจจุบันจริง จึงมีมติให้สำนักงาน ปปง.ส่งรายชื่อบุคคลทั้ง 3 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องฝ่ายเดียวต่อศาลแพ่ง
กระทั่งเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2556 ศาลแพ่งได้ไต่สวนตามคำร้องและพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการได้ยื่นต่อศาลแล้ว ปรากฏพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลทั้ง 3 ซึ่งหลบหนีการจับกุม เป็นผู้มีพฤติการณ์ในการก่อการร้ายในการก่อเหตุโจมตีฐานพระองค์ดำตามวันเวลาเกิดเหตุ ทั้งจากผลการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์พบว่าอาวุธปืนที่ใช้ในการก่อเหตุโจมตีฐานพระองค์ดำ มีการนำไปใช้ก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่อีกหลายครั้ง มีความเชื่อมโยงกัน และยังคงมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 8 พ.ค.2556 ศาลแพ่งจึงมีคำสั่งให้ นายอำรัน มิง นายอาหะมะ กาเจ และ นายอับดุลเล๊าะฮ์ มะมิง เป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556
ระงับการทำธุรกรรมทุกประเภท
สำหรับผลที่เกิดขึ้นหลังถูกประกาศเป็น "บุคคลที่ถูกกำหนด" ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ บัญญัติไว้ใน มาตรา 6 ระบุว่า ให้สำนักงาน (ปปง.) ประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 4 และมาตรา 5 พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลที่ถูกกำหนดและผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดดำเนินการดังต่อไปนี้โดยไม่ชักช้า
(1) ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของผู้กระทำการแทนหรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การควบคุมของผู้นั้น
(2) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการให้สำนักงานทราบ
(3) แจ้งให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดหรือผู้ที่มีหรือเคยมีการทำธุรกรรมกับผู้นั้น
ส่วนผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ได้มีการกำหนดโทษเอาไว้ดังนี้ มาตรา 14 ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 (1) หรือ (2) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท และปรับอีกวันละหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
มาตรา 15 ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 6 (3) ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ หรือจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง (อ่านรายละเอียดในกฎหมาย)
อย่างไรก็ดี กฎหมายยังเปิดช่องทางให้ "บุคคลที่ถูกกำหนด" ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้เพิกถอนรายชื่อได้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ระบุว่า บุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 หรือผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา 6 อันเนื่องมาจากมีการกำหนดการเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ขอให้ดำเนินการเพิกถอนรายชื่อออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
(2) ขอให้เพิกถอนการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
(3) ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
กรณีมีคำสั่งอนุญาตตาม (3) ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยก็ได้ และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการอนุญาตดังกล่าวอาจเป็นช่องทางให้นำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ศาลจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม หรือจะเพิกถอนการอนุญาตนั้นเสียก็ได้
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง. ขณะเปิดแถลงข่าว
หมายเหตุ : ภาพจากเว็บไซต์ ปปง.