เมื่อน้ำถังเล็กร่วมดับไฟใต้...“ไชยยงค์”ชูแนวทางกระจายอำนาจหยุดความรุนแรง
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ด้วยประสบการณ์อันโชกโชนใน “สนามข่าว” ทั้งภาคใต้และชายแดนใต้นานหลายสิบปีของ ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ซึ่งปีนี้เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 1 สมัยเป็นสมัยที่ 9 เขาเสนอแนวคิดเอาไว้อย่างเฉียบคม เมื่อวันนักข่าว 5 มี.ค. ทั้งในบริบทของสื่อที่ต้องรายงานสถานการณ์ท่ามกลางความขัดแย้ง-รุนแรง และในบริบทของนักข่าวที่ต้องมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่จริง
“ที่ผ่านมาหากองค์กรสื่อไม่เข้มแข็งจะควบคุมกันลำบากที่สุด เพราะสื่อทุกคนต่างมีอิสระเสรี มีความคิดต่างกัน ในองค์กรสื่อจึงต้องมีทางสายกลางในการอยู่ร่วมกัน” ไชยยงค์เริ่มต้นกับภารกิจดูแลสื่อที่มีอยู่หลากหลายสำนัก ให้อยู่ในกรอบและทิศทางที่ควรจะเป็น
“สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยพยายามยกระดับให้นักข่าวทุกคนมีวิธีคิดที่ก้าวหน้า เข้าถึงองค์ความรู้ในวิชาชีพ โดยเฉพาะผู้สื่อข่าวในภูมิภาคที่ต้องทำทุกหน้าที่ในคนๆ เดียว (ทำข่าวเอง ถ่ายภาพเอง เขียนข่าวเอง และรายงานข่าวเอง) จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจประเด็น เรื่องราว และมีองค์ความรู้ในทุกๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในพื้นที่พอสมควร”
ไชยยงค์ บอกว่า ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ไฟใต้คุโชนที่ดินแดนปลายด้ามขวาน ทำให้เขาจัดลำดับความสำคัญของปัญหานี้อยู่ในลำดับต้นๆ ที่นักข่าวต้องเรียนรู้และเข้าใจ
“เราทุ่มเทให้ความรู้กับผู้สื่อข่าวในพื้นที่สามจังหวัดมากกว่าจังหวัดอื่นๆ ทั้งที่มีสมาชิกทั้ง 14 จังหวัด เพราะเห็นว่าต้องทำทุกอย่างให้ผู้สื่อข่าวในพื้นที่สามารถเข้าใจเรื่องราวและมีองค์ความรู้ครบถ้วนในการรายงานข่าวที่ต้องมีทุกมิติ ต้องมองถึงสาเหตุ ไม่รายงานเฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพียงด้านเดียว พร้อมทั้งเป็นส่วนหนึ่งในการรสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นให้ได้ สมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทยพยายามประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อเป็นกลไกที่จะร่วมดับไฟใต้ สื่อมวลชนอาจจะเป็นน้ำถังเล็ก แต่พร้อมช่วยดับไฟอย่างเต็มกำลัง”
ไชยยงค์ มองว่า สำนักข่าวและศูนย์ข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมายในช่วงที่มีสถานการณ์ความไม่สงบ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดี เริ่มจากการจัดตั้ง "ศูนย์ข่าวอิศรา" ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กระทั่งยกฐานะเป็น "โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" ในปัจจุบัน หรือศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนใต้ (ดีพเซาท์วอทช์) และสื่ออื่นๆ แต่สิ่งที่เขาเน้นย้ำก็คือ สื่อทุกคนต้องตั้งใจทำในสิ่งที่ดี นำเสนอข้อเท็จจริงในพื้นที่สู่สังคม ให้รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร พร้อมทั้งเสนอแนวทางแก้ไข
แต่สิ่งที่นายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้ฯกำลังเป็นห่วงก็คือ ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นหรือติดพ่วงมากับการทำข่าว และกระแสเงินที่สะพัดมาจากทั้งองค์กรในประเทศและต่างประเทศตั้งแต่มีสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เพราะอาจส่งผลถึงจรรยาบรรณและภาพพจน์ของการทำงานข่าวในภาพรวม
“อย่าลืมว่าวิกฤติชายแดนใต้ที่ผ่านมา 6 ปี ทำให้คนกลุ่มหนึ่งและสื่อมวลชนบางคนนำวิกฤตินี้มาเป็นโอกาสในการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง เรื่องนี้ทางสมาคมฯก็เป็นกังวลและเฝ้ามองด้วยความเป็นห่วงอยู่ตลอดเวลา ทั้งได้พยายามตักเตือนให้ระมัดระวังเรื่องเงินทุนที่นำมาใช้ทำสื่อ เมื่อทำสัญญากับองค์กรที่สนับสนุนต้องดูว่าเขาหวังอะไร ต้องทำอะไรให้เขาบ้าง เรื่องเหล่านี้ต้องมีความชัดเจน หากทำเพื่อจุดประสงค์ในการสื่อข่าวต่อสาธารณชนครบทุกมิติก็นับว่าเป็นสิ่งที่ดี และสุดท้ายก็ต้องขอให้ผู้บริโภคสื่อเป็นผู้ตัดสินว่าศูนย์ข่าวไหนดีหรือไม่ดี ทำงานเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่อย่างไร”
ไชยยงค์ ยังประเมินว่า สถานการณ์การเมืองไทยที่กำลังชุลมุนวุ่นวาย และจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในเร็ววันนี้ จะส่งผลกระทบถึงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้อย่างมิอาจหลีกเลี่ยง
“ความรุนแรงทางการเมืองที่กำลังปะทุขึ้นแม้จะเกิดในส่วนกลางหรือภูมิภาคอื่นๆ แต่ก็จะทำให้ทั้งสถานการณ์การเมืองและสถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้เลวร้ายลง ต้องเข้าใจว่าพี่น้องประชาชนในพื้นที่เคยคาดหวังมากกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลที่คนใต้พอใจและสนับสนุน แต่ผ่านมาปีกว่ากลับไม่ได้เป็นอย่างที่คาดหวัง เหตุผลคือการเมืองในส่วนกลางค่อนข้างหนักหนาสาหัส รัฐบาลจึงขาดความสนใจที่จะมาทุ่มเทแก้ปัญหาความไม่สงบ ได้แต่มอบหมายให้กองทัพ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) และ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) รับผิดชอบแก้ปัญหากันไปเท่านั้น ส่วนรัฐบาลก็ไปมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองในส่วนกลางที่ยังแก้ไม่ตกสักที”
“ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปัญหาการเมือง ยิ่งมีมากเท่าไหร่ก็จะส่งผลกระทบต่อชายแดนใต้มากเท่านั้น เพราะกลุ่มผู้ไม่หวังดีต้องการกระพือไฟและทำให้ผู้สนับสนุนเห็นว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้เหมือนประเทศไทยเป็นอนาธิปไตย คือไม่มีกฎหมาย ผู้ปกครองไม่สามารถปกครองได้ เหมือนกับไม่มีผู้ปกครอง พวกนี้เขาต้องการทำให้สังคมเห็นความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล ฉะนั้นหากการเมืองยิ่งมีความรุนแรงต่อไป เหตุการณ์ในชายแดนใต้ก็จะยิ่งไม่สงบ และขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนี้”
แต่อย่างไรก็ดี ไชยยงค์ ก็ยังมองในแง่ดีว่าแม้จะต้องเผชิญกับปัญหาการเมืองที่รุมร้า แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะไปรอด เพราะมีกลุ่มสนับสนุนทั้งกองทัพและพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
“ถ้าเปรียบเป็นรถสี่ล้อ ประชาธิปัตย์อาจไปได้แค่สองล้อ อีกสองล้อยางอาจแบน แต่ก็จะมีคนช่วยเข็นช่วยลากช่วยประคับประคองไปเรื่อยๆ ให้อยู่ได้นานที่สุด เพื่อแก้ปัญหากลุ่มเสื้อแดงให้ได้ หากยุบสภาก็กลัวพรรคไทยรักไทยคืนชีพและอดีตนายกฯทักษิณจะมีช่องทางกลับมามีอำนาจ”
ส่วนการต่อสู้ของกลุ่มที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนนั้น ไชยยงค์ มองว่าสำเร็จค่อนข้างยาก และคงต้องใช้เวลาอีกนาน
“ที่ผ่านมาขบวนการในประเทศไทยต่อสู้มา 50-60 ปีแล้ว และก็ล้มไป แต่ในระยะเวลา 6-7 ปีหลังนี้ เริ่มมีรูปแบบการต่อสู้ที่ชัดเจนมากขึ้น เมื่อรัฐบาลอ่อนแอ ขบวนการเข้มแข็ง แต่เรายังไม่เสียเมือง เพราะเรื่องนี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นสิบปีขึ้นไปจึงจะเห็นเป็นรูปธรรม ถามว่าเราจะยอมเพลี่ยงพล้ำไปมากกว่านี้หรือไม่ และหากสถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป ทั้งประชาชน ตำรวจ ทหาร ก็จะยังตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์ในวังวนที่มีแต่ความรุนแรง”
ไชยยงค์ ชี้ด้วยว่า การกระจายอำนาจสู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและแท้จริงคือแนวทางการแก้ปัญหาชายแดนใต้อย่างได้ผลที่สุด
“แม้กฎหมาย ศอ.บต.ฉบับใหม่จะผ่านสภา ก็ไม่ใช่ยาวิเศษที่จะแก้ปัญหาได้ เป็นแค่ยาสามัญประจำบ้าน แต่ก็ดีกว่าไม่มี อย่างน้อยก็แก้ปัญหาปวดหัวปวดท้องได้ สำหรับแนวคิดเรื่องนครปัตตานี ผมมองว่าเป็นไม้ขีดก้านเดียวที่ถูกจุดขึ้นท่ามกลางความมืดที่มองไม่เห็น เมื่อสว่างวาบขึ้นทำให้คนที่อยู่ในความมืดดีใจ คิดว่ามีแสงสว่างแล้ว แต่พอศึกษาไปสักพักจะรู้ว่า ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องเช่นกัน เพราะรัฐบาลไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่นก็ไม่เห็นด้วย เพราะหากมีการตั้งเขตปกครองพิเศษขึ้นมาแล้ว พวกนายก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เทศบาล และ นายกอบต. (องค์การบริหารส่วนตำบล) จะไปอยู่ที่ไหน เกิดความขัดแย้งใหม่ในกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองแน่นอน”
“ผมมองว่าวิธีที่จะเป็นทางออกมากที่สุด ต้องใช้กลไกที่มีอยู่คือการกระจายอำนาจให้ทั่วถึง ปัจจุบันมีการเลือกตั้งในท้องถิ่นที่มีพี่น้องมุสลิมได้รับการคัดเลือกมาเป็นส่วนใหญ่ แต่กลับยังแก้ปัญหาไม่ได้ อาจเป็นเพราะคนเหล่านั้นไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง ฉะนั้นรัฐต้องทุ่มงบประมาณและมอบอำนาจให้เขาไป เพื่อใช้ระบบที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
เป็นวิสัยทัศน์ของนายกสมาคมหนังสือพิมพ์ภาคใต้แห่งประเทศไทย ที่บันทึกไว้ในวันนักข่าว 5 มี.ค.2553