เหตุผลหนุน-ปฏิกิริยาต้าน นโยบายพงศ์เทพ “ยุบรวมโรงเรียนเล็ก 1.7หมื่นแห่ง”
พลันที่ รมว.ศึกษาฯ พงศ์เทพ ประกาศนโยบายยุบรวมโรงเรียนเล็กทั่วประเทศ 17,000 แห่ง เกิดเสียงคัดค้านเต็มแรง ขณะเดียวกันก็มีเหตุผลสนับสนุน ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา พาไปสัมผัสปฏิกิริยา….
“พงศ์เทพ” ประกาศยุบโรงเรียนเล็ก แก้ “ขาดครู-คุณภาพการศึกษาต่ำ”
9 พฤษภาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) และรองนายกรัฐมนตรี “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” เปิดเผยว่าจะรื้อฟื้นนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศขึ้นมาปฏิบัติ โดยให้เหตุผลว่าโรงเรียนเหล่านี้ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 60 คน มีคุณภาพการศึกษาต่ำมาตรฐานกลางของประเทศ และยังมีปัญหาขาดแคลนครูเมื่อเทียบกับจำนวนนักเรียน ทำให้ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายชั้นเรียนพร้อมกัน ซึ่งมีโรงเรียนเล็กที่เข้าข่ายอยู่หลายพันโรงเรียน ขณะนี้อยู่ระหว่างสำรวจ
“เป็นห่วงคุณภาพการศึกษาเด็กในโรงเรียนขนาดเล็กโดยเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานมาก การควบรวมจะทำให้โรงเรียนมีความพร้อมมากขึ้น จากเดิมครูหนึ่งคนเคยสอน 6 ชั้นเรียน เมื่อยุบรวมก็จะได้สอนเพียง 1-2 ชั้นเรียน ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ต้องดูเป็นกรณีพิเศษไป”
รมว.ศึกษาฯ ยังบอกอีกว่าจะให้โรงเรียนขนาดเล็กต่างๆที่เคยจัดการเรียนการสอนชั้นป.1-6 โดยแบ่งให้บางโรงเรียนจัดชั้นเรียนเพียงแค่ ป.1-2 และบางโรงเรียนแค่ ป.3-4 หรือ ป.5-6 ส่วนบางโรงเรียนที่ค่อนข้างทรุดโทรมก็ยุบเลยได้โดยเปลี่ยนเป็นการศึกษานอกโรงเรียน(กศน.) หรือใช้ประโยชน์อื่น ทั้งนี้จะมีการรับส่งเด็กไปยังโรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนบางพื้นที่ที่รับส่งเด็กลำบาก อาจพิจารณาเป็นรายกรณีว่าไม่ต้องยุบ
กมธ.ศึกษาออกโรงหนุน “ยุบรวม รร.เล็กเพื่อประสิทธิภาพการศึกษา”
สุธรรมพันธุศักดิ์สว.สรรหาในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษาวุฒิสภาออกมาเปิดเผยมติ กมธ.ว่าเห็นด้วยกับนโยบายของนายพงษ์เทพเทพกาญจนารองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.) โดยเห็นว่าการยุบรวมนั้นเป็นการประหยัดงบประมาณและจะทำให้กระบวนการจัดการเรียนการสอนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ คณะกมธ. มีข้อเสนอแนะต่อ ศธ. ดังนี้ 1.ต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครองรับรู้รายละเอียดและแนวทางการดำเนินการต่างๆชัดเจน 2.ควรเตรียมการรับส่งนักเรียนให้มีความพร้อมโดยเน้นเรื่องความปลอดภัย 3.ควรมีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะอาคารพบ้านพักและอาคารที่ทำการของโรงเรียนต่างๆที่ยุบรวมนั้นจะใช้ดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์ใด 4.ควรบริการจัดการโยกย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนที่ถูกยุบรวมให้เหมาะสมเป็นธรรม 5.ควรพิจารณาจัดการศึกษาทางไกลและใช้เทคโนโลยีการเรียนการสอนให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงการศึกษาแก่ประชาชนทุกระดับ และเตรียมความพร้อมล่วงหน้าอย่างเป็นระบบชัดเจนอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อไม่ให้ เกิดปัญหาในอนาคต
“สภาศึกษาทางเลือก-เครือข่ายโรงเรียนเล็ก” ค้านยุบรวม
ด้านเสียงคัดค้านเต็มแรงเหวี่ยง ก็คือ สมาคมสภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง“การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของภาครัฐ”โดยระบุว่าการยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กสะท้อนถึงความไม่เป็นธรรมและเหลื่อมล้ำ ดังนี้
1.ความไม่เป็นธรรมในการแก้ปัญหาอันเกิดจากความล้มเหลวด้านหารบริหารจัดการศึกษาของ ศธ. 2.ความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงสิทธิพื้นฐานของประชาชน 3.ความไม่เป็นธรรมต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง 4.ความไม่เป็นธรรมต่อเด็กในการเรียนรู้ 5.ความไม่เป็นธรรมต่อชุมชน และ 6.ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการศึกษาแบบรวมศูนย์ของรัฐ ซึ่งท่าทีและแนวทางนี้เป็นการหักหาญและทำลายหัวใจพ่อแม่และชุมชน
สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชนยังเสนอแนวทางการบริการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้มีคุณภาพ ว่า 1.ศธ.ต้องกระจายอำนาจการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น 2.ขอ คืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายยุบควบรวม รร.เล็ก หาก ศธ.ยังเดินหน้าเรื่องนี้ โดยไม่ฟังแนวทางจากภาคประชาชน สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่ เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและการรวมศูนย์อำนาจการจัดการ ศึกษา ที่เป็นต้นตอของวิกฤตการศึกษาไทย
โดยชัชวาลย์ทองดีเลิศเลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก กล่าวว่าการยุบโรงเรียนขนาดเล็กเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุ ทั้งที่ต้นเหตุของปัญหามาจากการที่ ศธ.บริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ จัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้ไม่ทั่วถึงจากโรงเรียนในมือกว่า 3 หมื่นโรงทำไปมาจนกลายเป็นขนาดเล็กไปกว่า 1.7 หมื่นโรง เพราะให้ความสำคัญแต่การดูแลพัฒนาเด็กโรงเรียนในเมือง แต่หลงลืมโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ชายแดนต่างๆ สะท้อนให้เห็นความไม่เป็นธรรมทางการศึกษาที่โรงเรียนขนาดเล็กต้องเผชิญอย่างชัดเจน ดูได้จากเงินอุดหนุนรายหัว จำนวนครูที่น้อยมีไม่ครบชั้นแต่ภาระงานการสอนกับต้องสอนเท่ากับโรงเรียนใหญ่ ๆที่มีพร้อม ทั้งยังถูกมองว่าไม่มีคุณภาพการศึกษาโดยไปยกตัวอย่างจากคะแนนโอเน็ต ซึ่งในความจริงภาพรวมคะแนนโอเน็ตของเด็กทั้งประเทศอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่เท่าที่ตนได้คุยกับผู้บริหารโรงเรียนเล็กหลายแห่งพบว่าเด็กของโรงเรียนเหล่านี้ทำคะแนนโอเน็ตได้ดีกว่าเด็กโรงเรียนขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้น ปัญหาไม่ใช่ที่คุณภาพ แต่เป็นการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพจนทำให้โรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นแพะรับบาป
ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า ศธ.ควรพิจารณาปัญหาและสาเหตุที่แท้จริง นั่นคือการบริหารงานของ ศธ.ที่กระจุกตัวส่วนกลางไม่กระจายอำนาจ กลายเป็นเตี้ยอุ้มค่อม สุดท้ายก็ดูแลไม่ได้ทั่วถึง ทั้งที่ในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หรือแม้แต่คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ก็ระบุชัดเจนว่า ศธ.จะต้องกระจายอำนาจ และลดบทบาทของตัวเองจากผู้จัดการศึกษามาเป็นผู้สนับสนุนให้ท้องถิ่นมาร่วม จัดการศึกษา ไม่ใช่บริหารผิดแล้วก็มาจัดประชุมสั่งยุบโรงเรียนแบบนี้คือการทำงานแบบผิดทิศผิดทาง แล้วเดี๋ยวพอนานเข้ามีปัญหาก็สั่งยุบอีกเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
“ร.ร.ขนาด เล็กควรจะปรับพัฒนาให้เป็น ร.ร.ของชุมชน กระจายอำนาจออกไปให้ท้องถิ่นมาช่วยดูแล แบบนี้จึงจะเป็นการสร้างความเป็นธรรม ทางการศึกษาให้แก่โรงเรียนขนาดเล็ก เพราะต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนเหล่านี้เกิดจากชาวบ้านที่เขาร่วมระดมทุนร่วมสร้างมีความผูกพัน ไม่ใช่พอเด็กเหลือน้อยก็แก้ปัญหายุบทิ้งย้ายไปเรียนรวมที่อื่นเป็นการซ้ำเติมชาวบ้าน ขณะที่ สพฐ.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดแม้ที่ผ่านมาจะพูดมาหลายรอบว่าการยุบจะต้องสำรวจก่อน แต่ปัญหาคือพอฝ่ายการเมืองมีทิศทางว่าจะยุบ ข้าราชการก็ตอบสนองนักการเมือง การจะทำอะไรต้องคุยกับผู้รู้ คนในพื้นที่เพื่อจะได้แก้ปัญหาตรงจุด หาก ศธ.ไม่ยุติหรือทบทวนเรื่องนี้ใหม่ ก็จะมีการเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน”
ชัชวาลย์ กล่าวที่ผ่านมาทางสภาการศึกษาทางเลือก เคยพยายามติดต่อขอพบนายพงศ์เทพ แต่ก็ได้รับการเลื่อนนัดมา 2-3 ครั้งและเร็วนี้ๆจะพยายามประสานเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโรงเรียนขนาดเล็กต่อไป
สมบูรณ์ รินท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหัวเวียงเหนือ จ.น่าน ประธานชมรมเครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นอีกเสียงที่คัดค้าน โดยกล่าวว่าไม่สมควรที่จะยุบ รร.เล็กโดยยกประเด็นเรื่องคุณภาพ ทั้งที่ผ่านมาไม่เคยสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและทางการบริหารให้เลย ทั้งครู อุปกรณ์สื่อการเรียนการสอน โดยเฉพาะการนำผลคะแนนทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาเป็นตัวตัดสินยิ่งแย่ เพราะหากติดตามผลการทำงานของโรงเรียนขนาดเล็กเป็นรายโรงไม่ว่าจะเป็นภาค เหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่าปีการศึกษา 2555 นี้คะแนนโอเน็ตของเด็กป.6 ดีขึ้นติดอันดับต้นๆ ของจังหวัด เฉพาะวิชาคณิตศาสตร์บางโรงเรียนทำได้สูงขึ้นถึง 40% และหลายวิชาก็ได้ค่าเฉลี่ยสูงกว่า 5% ที่ สพฐ.กำหนดด้วย หรือแม้การรับรองคุณภาพภายนอกจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการ ศึกษา (สมศ.) รอบที่ 3 ปัจจุบันก็มีโรงเรียนขนาดเล็กได้รับการรับรองด้วย นั้นเพราะฉะนั้นขณะนี้โรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งได้ทำให้เห็นแล้วว่าคุณภาพของเด็กดีขึ้น แม้จะไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรก็ตาม“
“ยกเหตุผลเรื่องไร้คุณภาพและงบประมาณจำกัดเพื่อยุบโรงเรียนเล็ก แล้วแก้ปัญหาโดยซื้อรถตู้รับส่งนักเรียน ถามว่าการซื้อรถตู้กรณีนี้ปัญหาที่จะตามมาคือค่าน้ำมัน ค่าคนขับ ค่าซ่อมแซม ค่าเสื่อมราคา แล้วจะช่วยลดงบประมาณได้จริงไหม ค่าน้ำมันจะเอามาจากที่ไหน ถึงบอกว่าจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจ่าย แต่เอาเข้าจริงอปท.ก็ไม่ได้มีรายได้นอกเหนือจากงบประมาณอุดหนุนเพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นเหตุผลและวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้ช่วยให้โรงเรียนขนาดเล็กมีคุณภาพดีขึ้น”
ครูสมบูรณ์ กล่าวอีกว่าการยุบทิ้งหรือควบรวม รร.เล็กยังสะท้อนว่าส่วนกลางใช้ทรัพยากรบุคคลได้ไม่เต็มศักยภาพ เพราะจะทำให้ครูที่ไม่มีตำแหน่งที่ลงจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ไม่มีที่ลง
“ตัวอย่างง่ายๆ กลุ่มผมรวมตัวกันแต่ปี 2554 เคยยื่นเรื่องขอกับต้นสังกัด สพฐ.เพื่อบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนชุมชน ของบ 200,000 บาทต่อปีนำมาบริหารจัดการทั้งจ้างครูให้เพียงพอต่อการสอนเด็กแต่ก็ไม่เคยได้รับอนุมัติ แต่กลับจะซื้อรถตู้คันเป็นล้านได้” นายสมบูรณ์ กล่าว
นานาทัศนะ “ครู-ผู้ปกครอง” เห็นต่างแต่จะเลือกอย่างไร?
วิทยา พันธุ์เพ็ง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลโนนคูณ จ.ศรีสะเกษ รองประธานชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่านโยบายยุบโรงเรียนเล็กสร้างความรู้สึกเจ็บปวดและหวั่นวิตกให้กับครูและชาวบ้าน และจะให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย และยังเป็นการฉีกกฏหมายรัฐธรรมนูญแห่งราช อาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพในการจัดการศึกษา ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศชาติ ซึ่งในมาตรา 49 กล่าวไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ทุพลภาพ หรือผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบากต้องใช้รับสิทธิตามวรรค 1และได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น
“3 ปีที่ผ่านมานักเรียนจากหนองคายที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เครียดจากการเรียน จุดไฟเผาห้องวิทยาศาสตร์ 130 ล้านบาท นี่คือโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่เปรียบเทียบกับโรงเรียนบ้านโคกอีแล้งมีนักเรียน 20 คน ได้เงินรายหัวแค่เล็กน้อย ตรงนี้เป็นปัญหาความเสมอภาค เป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันก็ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การศึกษาภาคบังคับ พ.ศ.2545 ว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับด้วย”
ครูวิทยา กล่าวต่อว่าปัจจุบันยังมีปัญหาความเท่าเทียม เสมอภาคระหว่างโรงเรียนอยู่ แต่ ศธ.กลับมีนโยบายยุบโรงเรียน จะเกิดผลกระทบต่อนักเรียนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเมื่อถูกย้ายไปเรียนไกลบ้านเชื่อว่าบางส่วนจะไม่ไปเรียน ดังนั้นเรื่องนี้ต้องถามชุมชน ถามครู ซึ่งมีจำนวนมากออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยถึงขนาดจะนำผู้ปกครองและนักเรียนเดินทางมาที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ซึ่งประเด็นทั้งหมดนี้ทางส.ค.ท.จะรวบรวมนำเสนอนายกฯในคราวต่อไป
ครูถุงเงิน เต็มถุง ผู้ปกครอง นักเรียนชั้นป.1 โรงเรียนบ้านหนองโคก หมู่ที่ 3 ต.หนองปลิง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับนโยบายกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะยุบ โรงเรียนขนาดเล็ก ผู้ปกครองและลูกๆจะลำบาก เพราะโรงเรียนที่ใกล้ที่สุดก็ห่างไกลไปอีก 4 กิโลเมตร จะต้องไปรับ-ส่งคงไม่มีเวลามากพอเพราะต้องทำงาน หากจะให้ไปเองก็เป็นห่วงลูก แต่หากจะมีรถรับส่งใครจะออกค่าใช้จ่าย ชาวบ้านเองก็อาศัยคนเฒ่าคนแก่มารับส่งลูกหลายเดินมานิดเดียวก็ถึง หากย้ายก็ลำบาก
ครูบานเย็น พึ่งกุศล ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนบ้านหนองโคก กล่าวว่า โรงเรียนนี้สร้างมาแต่ปี 2500 จาก ความร่วมมือของชุมชนและทุกคนมีความผูกพัน การจะยุบโรงเรียนควรถามชุมชนเสียก่อน ต้องยอมรับว่าโรงเรียนในชุมชนมีความสำคัญมากกว่าโรงเรียน คนในชุมชนมีความผูกพัน เช่น ชุมชนบ้านหนองโคกเมื่อปี 2554 น้ำ ท่วมใหญ่ โรงเรียนเป็นบ้านของตนในชุมชนที่อพยพมาอยู่ในโรงเรียน ซึ่งหากจะยุบจริงๆ ไม่ควรใช้เกณฑ์จำนวนนักเรียนมาตัดสิน แต่ควรให้ทำประชาคมจากคนในชุมชนร่วมด้วย
นายชลำ อรรถธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าจ.ภูเก็ต มี 4 โรงเรียนที่เข้านโยบายดังกล่าว โรงเรียนเกาะนาคามีนักเรียน 15 คน โรงเรียนเกาะโหลนนักเรียน 12 คน ทั้ง 2 แห่งอยู่บนเกาะ ซึ่งที่ผ่านมาไม่คิดยุบเพราะมีปัญหาการเดินทางของเด็กที่จะมาเรียนบนบก ส่วนโรงเรียนบ้านโคกวัดใหม่มีนักเรียน 49 คน โรงเรียนบ้านในทอนนักเรียน17 คน ต้องถามความเห็นคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน ว่าระหว่างยุบกับไม่ยุบสถาน อย่างไหนดีกว่ากัน ซึ่งต้องยึดผลประโยชน์ของเด็กกับผู้ปกครองเป็นหลัก
“บางโรงเรียนก็ไม่คุ้มค่าในการจัดการศึกษา เด็กสามารถไปเรียนโรงเรียนอื่นได้ อย่างโรงเรียนโคกวัดใหม่ ถ้าชุมชนบอกว่าให้ยุบได้ เราก็มีรถตู้รับส่งเด็กก็จะไม่เดือดร้อน แต่ถ้าพูดถึงศักยภาพโรงเรียนในภูเก็ตแล้วเรายังดูแลตัวเองได้ไม่เป็นปัญหา ประกอบกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตก็ว่าจ้างครูกว่า 200 คนส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทำให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน” นายชลำ กล่าว
ครูประหยัด ศรีบุญชู คณะกรรมการสภาการศึกษาจังหวัดกระบี่ เห็นด้วยที่จะยุบรวมโรงเรียนเล็ก เนื่องจากปัจจุบันสังคมเจริญมากขึ้น ผู้ปกครองส่วนใหญ่ตามชนบทห่างไกลนิยมส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองเพิ่มขึ้น ซึ่งบางโรงเรียนมีรถรับส่งนักเรียนถึงบ้าน ทำให้โรงเรียนมีขนาดเล็กลงและบางแห่งมีนักเรียนน้อยจนต้องปิดโรงเรียน ทั้งนี้จากประสบการยุบควบรวม รร.ในพื้นที่ จ.กระบี่ ทำให้เด็กมีการเรียนที่ดีขึ้น ครูเพิ่มขึ้น ทำการสอนเรียนได้ตรงตามความถนัด ไม่ใช่ครูคนเดียวต้องทำหน้าที่หลายอย่างตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงภารโรง แต่ทั้งนี้รัฐต้องเข้ามาดูแลต้องติดตามผลกระทบกับนักเรียนที่ตามมาและแก้ไขด้วยภายหลังการยุบรวม
บุญเสริม ทองศรีพราย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ความเห็นว่าโรงเรียนเล็กมีความพร้อมด้านการศึกษาน้อยกว่าโรงเรียนที่ใหญ่กว่า ทั้งอุปกรณ์การเรียน บุคลากร โอกาสทางการศึกษาต่างๆ และสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้การรวบรวมเด็กที่กระจัดกระจายอยู่ตามโรงเรียนต่างๆมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนขนาดใหญ่กว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่ทั้งนี้ผลเสียของการยุบรวม รร.เล็ก ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและโรงเรียน ความสะดวกของชาวบ้าน จึงเป็นหน้าที่ สพฐ.ที่ต้องชี้แจงให้เข้าใจ เนื่องจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้จะมีพื้นที่ยากจนอยู่ ถ้านักเรียนจะต้องเดินทางไกลจากเดิมที่บ้านห่างจากโรงเรียนไม่ถึง 1 กม. จะเพิ่มภาระให้ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยเด็ก
ด้านดารี ประหยัดทรัพย์ ครูโรงเรียนบ้านท่าโพธิ์ ต.ท่าโพธิ์ อ.สะเดา จ.สงขลา ไม่เห็นด้วยกับการยุบรวมว่าจะทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ สงสารเด็กในชุมชนที่จะต้องย้ายหรือหาโรงเรียนใหม่ไกลบ้านและมีค่าใช้จ่ายสูง อาจส่งผลทำให้เด็กบางคนไม่ได้เรียนต่อ
.............................................
“นโยบายยุบทิ้ง ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การออกมาประกาศชัดแจ้งของ รมว.ศึกษาฯ “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” ที่จะรื้อฟื้นขึ้นมาได้สร้างปฏิกิริยาต้านสุดแรงเหวี่ยงอีกครั้ง และคงเห็นการรวมตัวคัดค้านครั้งใหญ่เพื่อยึดยื้อชะตากรรมของโรงเรียนขนาดเล็กกว่า กว่า 1.7 หมื่นแห่งทั่วประเทศ .
ขอบคุณภาพ : Nation, news.voicetv.co.th, www.kroothaiban.com, news.mthai.com