อ่านทิศทางเศรษฐกิจไทย แนวโน้มเศรษฐกิจใต้...กับผู้อำนวยการอาวุโส ธปท.สำนักงานภาคใต้
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
รัฐบาลประชาธิปัตย์ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ซึ่งก็มีหลายฝ่ายออกมารับลูกและแสดงความเป็นห่วงว่าความขัดแย้งทางการเมืองอาจเป็นตัวฉุดภาวะเศรษฐกิจให้ดำดิ่งลงอีกครั้งหนึ่ง คำถามก็คือแล้วเศรษฐกิจที่ชายแดนภาคใต้ล่ะมีทิศทางอย่างไร และมีปัจจัยอื่นใดกดดันอีกหรือไม่นอกเหนือจากสถานการณ์ความไม่สงบที่รู้ๆ กันอยู่
“ทีมข่าวอิศรา” ได้รับโอกาสนั่งสนทนาอย่างเจาะลึกกับ นิรุธ รักษาเสรี ผู้อำนวยการอาวุโสธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคใต้ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของพื้นที่ในปี 2553 และมาตรการรับมือกับปัญหาความรุนแรงที่ยังจัดการได้ไม่สะเด็ดน้ำ
O ขอเริ่มจากแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศก่อน หลายฝ่ายยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวแล้ว เช่นเดียวกับเศรษฐกิจไทย จริงๆ เรากำลงยืนอยู่ตรงจุดไหนในวิกฤติการณ์?
อย่างที่ทราบกันว่าในช่วงปี 2552 ได้เกิดมรสุมทางเศรษฐกิจขึ้น ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่พูดง่ายๆ คือทั้งโลก เพราะในเมื่อสหรัฐอเมริกาวุ่นวาย ก็ทำให้เศรษฐกิจโลกวุ่นวายไปด้วย และประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ก็พลอยโดนผลกระทบ
เหตุผลหลักก็คือเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกค่อนข้างสูง สัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศใหญ่ เราเองก็พึ่งพาการค้าขายกับสหรัฐเยอะมาก เมื่อเศรษฐกิจของเขาทรุดลง ก็เลยทำให้เขาซื้อของเราน้อยลง สถานการณ์เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2551 เมื่อเข้าต้นปี 2552 แทนที่จะเป็นบวก กลับกลายเป็นลบ ในไตรมาสแรกนั้นติดลบถึง 7 เปอร์เซ็นต์ (อัตราการเติบโตของการส่งออกติดลบ หมายถึงส่งออกได้น้อยลง) เฉลี่ยทั้งปีติดลบถึง 20 เปอร์เซ็นต์
เมื่อเศรษฐกิจทรุดตัวลง รัฐบาลก็เข้ามาช่วย โดยดูในเรื่องของนโยบายการคลัง รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณกลางปี พร้อมทั้งผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อให้เงินเข้าไปหมุนในระบบ ตัวอย่างเช่น โครงการเช็คช่วยชาติ โครงการเรียนฟรี และอื่นๆ ทั้งหมดนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนได้มีเงินใช้จ่าย
แต่นโยบายลักษณะนั้นก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลก็คงประเมินแล้วว่าไม่เพียงพอ จึงผลักดันมาตรการที่สองตามมา นั่นคือแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เบื้องต้นอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบประมาณ 2 แสนล้านบาท เพื่อผลักดันโครงการลงทุนและพัฒนาทั่วประเทศ
สำหรับภาคใต้ของเรานั้น ได้งบประมาณไทยเข้มแข็งมา 2.7 หมื่นล้านบาท ก็มาช่วยทั้ง 14 จังหวัด แต่จังหวัดไหนจะได้มากน้อยอย่างไรต้องดูตามจำนวนประชากร วิธีการที่จะให้โครงการไทยเข้มแข็งได้ผลคือการใช้จ่ายต้องรวดเร็ว และต้องใช้ในโครงการที่ก่อประโยชน์ ซึ่งผมก็เห็นว่ารัฐบาลพยายามกลั่นกรอง และการที่สื่อได้พยายามเสนอข่าวว่าที่นั่นที่นี่มีการทุจริต ก็ถือว่าดี เพราะจะทำให้คนโกงหวาดกลัว และไม่กล้าทุจริตอีก
O งบไทยเข้มแข็ง 2.7 หมื่นล้านลงไปที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้างหรือไม่ และปัญหาเฉพาะที่สามจังหวัดจะแก้ไขอย่างไร?
ต้องบอกก่อนว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนมีเงื่อนไขพิเศษในเรื่องของความมั่นคง ผมเป็นคนที่ติดตามเรื่องความมั่นคงมากเลย เคยไปดูงานที่ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.สน.) ที่ จ.ยะลา (ปัจจุบันคือศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ : ศชต.) และเร็วๆ นี้ก็ไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของทหาร เพื่อเข้าไปดูการทำงาน
สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ถ้าให้ผมพูดตรงๆ คงบอกได้ว่าใช้กำลังในการแก้ไขปัญหาไม่ได้หรอก ไม่มีทางที่จะไปสู้กันด้วยกำลัง ฉะนั้นเราต้องหันมาดูในเรื่องของการพัฒนาขั้นพื้นฐาน โดยผลักดันตัวนี้เป็นตัวหลัก ไม่ว่าจะมีการใช้ศาสนา วิถีชีวิต หรือเชื้อชาติมาเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็แล้วแต่ เราต้องผสมผสานเรื่องของการพัฒนาลงไปให้ได้ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ต้องให้การศึกษาและความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่ดีพอสมควร ต้องช่วยกัน เพราะถ้าทุกอย่างผ่านเกณฑ์การพัฒนาขั้นพื้นฐาน ปัญหาอื่นๆ ก็จะเข้าไปยาก เช่น ยาเสพติด
เมื่อทุกคนอยู่ดีกินดี มีชีวิตสบาย นอนหลับมีความสุข ก็จะเป็นเกราะป้องกันปัญหาความไม่สงบ ยิ่งทำให้เยาวชนมีการศึกษา เขาก็จะมีงานทำ ไม่ตกไปเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี
ผมอยากให้มองในเรื่องของการพัฒนาเป็นหลัก ไม่ใช่ตั้งเป้าว่าไปปราบปรามเป็นหลัก ถ้ามัวแต่ต้อนกันไปต้อนกันมา มันไม่มีทางหมดหรอก เพราะต้องมองพื้นฐานของเขาว่าเขาอยู่แบบนี้กันมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว เขาก็มีความคิดและวิถีชีวิตในแบบของเขา (หมายถึงพี่น้องมุสลิมในพื้นที่) แนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงที่สุดก็คือ ทำอย่างไรก็ได้แต่ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานวิถีชีวิตที่ดีของคนในพื้นที่เป็นหลัก
O ประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ขณะนี้เป็นอย่างไร?
ในช่วงหลังๆ เท่าที่ติดตามข่าวสารก็ถือว่าดีขึ้นตามลำดับนะ เพราะถ้าย้อนไปประมาณ 2 ปีเศษ มีการฆ่ากัน จับทหารไปฆ่ากันสดๆ ซ้ำยังมีชุมชนที่ออกมารวมตัวประท้วงกัน ตอนนั้นผมมีความเป็นห่วงว่าถ้าเรามีความคิดที่เป็นศัตรูกันแล้ว อะไรก็ไปไม่ได้ เราควรมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันนั้นมันต้องใช้เวลา
เท่าที่ผมดูระยะหลังๆ ทหารก็พยายามพัฒนาเหมือนกัน พยายามเข้าถึงโดยไม่ใช่พยายามแสดงละครเพื่อหลอกว่าตัวเองเป็นพวก แต่ต้องให้กันจริงๆ ให้กันด้วยใจ และช่วยให้ชาวบ้านให้มีชีวิตที่ดี ซึ่งตอนนี้ผมก็ถือว่าทหารทำได้ดีขึ้นและทำให้เหตุรุนแรงลดลงพอสมควร แต่ก็ไม่ได้หายไปทั้งหมด ยังเกิดอยู่เป็นช่วงๆ ยกตัวอย่างวันที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลงพื้นที่พร้อมกับนายกฯอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ก็ยังคงมีเหตุการณ์เกือบ 10 จุด (เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552) แสดงให้เห็นว่าเขายังอยู่นะ แต่เท่าที่ดูก็ไม่ได้ไปฆ่าอะไรมากมาย เพียงแต่แสดงให้เห็นว่ายังคงมีตัวตนอยู่ ผมมองว่าการเอาทหารลงมามากเท่าไหร่ก็ไม่เป็นผล เราต้องพยายามลดเงื่อนไขของการอยู่ร่วมกันให้ได้
O ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง (real sector) ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีอะไรบ้าง และทิศทางเป็นอย่างไร?
ในพื้นที่นี้มีประมาณ 38 เปอร์เซ็นต์ที่ขึ้นอยู่กับภาคเกษตร คำว่าการเกษตรในที่นี้คือขึ้นกับยางพารา ประมง อุตสาหกรรมต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวเล็กน้อย แต่ที่ใหญ่ที่สุดคือภาคเกษตร แต่ก็ต้องบอกว่าสถานการณ์โดยรวมดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่า แต่จะให้ดีขึ้นมากกว่านี้ผมยังมองไม่เห็นทางนะ โดยเฉพาะถ้าความสงบจริงๆ ยังไม่เกิด ทิศทางก็จะเป็นไปตามภาวะของเศรษฐกิจประเทศและเศรษฐกิจโลก
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนี้ แบงก์ชาติก็ช่วยเหลืออยู่ในเรื่องของซอฟต์โลน (เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ) ในสามจังหวัดยังมีเงินค้างอยู่กับผู้ประกอบการอีกหลายพันราย ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ที่เราให้ไปก็เพื่อต้องการให้เขาอยู่ได้ ให้เขาเดินได้ จะได้ไม่หนีไปไหน (ไม่ให้ย้ายกิจการหรือฐานการผลิตออกจากพื้นที่) แต่หลังจากปลายปี 2553 ไปแล้วจะทำอย่างไรนั้น รัฐบาลคงมีทางออกเตรียมเอาไว้ โดยเฉพาะการให้ธนาคารออมสินเข้ามาดูแลว่าจะช่วยผู้ประกอบการอย่างไรต่อไป เพราะตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่อนุญาตให้แบงก์ชาติลงไปปล่อยสินเชื่อแข่งกับธนาคารพาณิชย์ เพราะเงินของเราเป็นเงินเย็น ถ้าเราปล่อยสินเชื่อลงไปก็ทำให้แบงก์พาณิชย์อยู่ไม่ได้ แต่ในกรณีชายแดนภาคใต้ถือเป็นกรณีจำเป็น
โดยสรุปก็คือในเรื่องของเศรษฐกิจในพื้นที่สามจังหวัดนั้นคงจะดีขึ้น แต่ก็ต้องดีตามภาวะเศรษฐกิจของภาคใต้และของประเทศ โดยเฉพาะอนาคตของสินค้าหลักทั้งประมง เกษตร ยางพารา และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ต้องดูว่าแนวโน้มของสินค้าและอุตสาหกรรมเหล่านี้ในระดับภาคและระดับประเทศสดใสหรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบยังไม่มีความชัดเจน ใครบอกว่ามันจะสงบแต่ผมยังมองไม่เห็น ส่วนแนวทางการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือให้คนในพื้นที่คิดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษขึ้นมา เราไม่ได้ประเมินเพราะยังไม่มีข้อสรุป
เศรษฐกิจในภาคใต้นั้นขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นหลัก เพราะหากพิจารณาในแง่ทรัพยากร ผมบอกได้เลยว่ามหาศาล และยังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะอะไร ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ หรือต้องการปกครองตัวเอง หรือว่าคนในระบบภาครัฐไปข่มเหงเขา ผมเองก็ไม่รู้ว่าสาเหตุมาจากอะไรกันแน่
O แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553 ฟันธงว่าอย่างไร?
ในภาพรวมผมมองว่ามันดีขึ้น แต่ก็มีเงื่อนไขคือเศรษฐกิจโลกต้องนิ่งจริง บวกกับกีฬาสีภายในประเทศ คือเสื้อเหลืองกับเสื้อแดง ถ้าเบาบางลงก็จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อย่างไรก็ดี ในภาคใต้เองคงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองในส่วนกลางมากนัก แต่จะมีปัญหาโดยตัวของตัวเองมากกว่า สินค้าของภาคใต้ในเรื่องของอาหารกระป๋อง อาหารสดแช่แข็ง ที่เป็นสินค้าส่งออกจะต้องเร่งหาตลาดใหม่ๆ ยางพาราก็ต้องหาตลาดเพิ่มเติม เพราะถ้าเราจะไปหวังพึ่งจีนกับอินเดียคงไม่พอ
อาหารกระป๋องนั้นผมมองว่าเราไปได้ดี และถ้านิมคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเดินหน้าก็ถือว่าเยี่ยมเลย เพราะวัตถุดิบเรามากกว่ามาเลเซีย แต่ของเขานำหน้าเราทั้งด้านชื่อเสียงและปริมาณการส่งออก ถ้าถามว่าเขามีวัตถุดิบมากกว่าเราหรือเปล่า มันก็ไม่ใช่ เราทำได้มากกว่า แต่ต้องทำให้น่าเชื่อถือ และต้องหาตลาดส่งออกใหม่ๆ จะได้มีช่องทางหายใจกันไป และเศรษฐกิจในภาคใต้ก็จะดีขึ้นด้วยตัวเอง