กษ. ชี้เปิดเออีซี 'ไทยอันดับหนึ่งพืชสวนอาเซียน'
'ยุคล' ชี้ไทยอันดับ 1 พืชสวนอาเซียนเมื่อเข้าเออีซี ย้ำต้องเน้นปรับปรุงพันธุ์-พัฒนาความรู้เกษตรกร ‘โอฬาร’ แนะลงทุนชายแดน-สร้างแรงงานมาตรฐาน-ส่งเสริมสินค้าคุณภาพ
วันที่ 9 พ.ค. 56 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด จัดประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ‘พืชสวนสู่เออีซีภายใต้สภาวะโลกร้อน’ พร้อมแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) บรรยายพิเศษ ‘ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับพืชสวนไทย’ ว่าปัจจุบันพืชสวนไทยสร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมาก โดยปี 55 มีตัวเลขการส่งออกพืชผักสูงถึง 42,000 ล้านบาท ส่งออกผลไม้ 38,000 ล้านบาท ส่งออกไม้ดอกไม้ประดับ 4,000 ล้านบาท และส่งออกเมล็ดพันธุ์ 4,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดส่วนใหญ่อยู่ในจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ซึ่งภายหลังไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 58 จะมีการปรับลดภาษีและเงื่อนไขการกีดกันทางการค้าต่าง ๆ ลง แล้วหันมาใช้มาตรการความปลอดภัยทางอาหารแทน โดยไทยมีความพร้อมกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ แต่ยังต้องปรับปรุงคุณภาพพันธุ์พืช กฎหมาย และระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุด
รองนายกฯ กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่ากังวลคือ สภาวะอากาศโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการพัฒนางานวิชาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อมุ่งพัฒนาสายพันธุ์พืชให้ทนต่อสภาพอากาศได้ โดยส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรและบุคลากรของรัฐเกี่ยวกับวิธีการดูแลพันธุกรรม การใช้เคมีภัณฑ์ การจัดการน้ำให้เหมาะสม ซึ่งจะมีส่วนในการแก้ปัญหาด้านเกษตรกรรมได้ นอกจากนี้หากไม่มีแผนการตลาดที่ดี เกษตรกรจะขาดทุน และจะส่งผลให้คนรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพเกษตรกรรม
รัฐบาลจึงมีแนวนโยบายจะพัฒนาประเทศด้านเกษตรกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมุ่งปรับโครงสร้างการผลิต ‘โซนนิ่งเกษตร’ ด้วยการพัฒนาพื้นที่เกษตรทั่วประเทศ 151 ล้านไร่ สำหรับการเพาะปลูกตามศักยภาพของพื้นที่ ทั้งนี้ได้เร่งรัดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดส่งแผนการดำเนินงานให้กระทรวงฯ ภายใน31 พ.ค. 56 ก่อนที่จะดำเนินการต่อไป พร้อมพัฒนาโครงการสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เพื่อสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งคาดหวังจะสร้างรายได้จากอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างน้อย 180,000 บาท/ปี
อีกทั้งรัฐบาลยังสานนโยบายบริหารจัดการน้ำ เพื่อรับมือกับสภาพภัยแล้งและน้ำท่วมไม่เฉพาะการก่อสร้างเขื่อนหรือแก้มลิงเท่านั้น แต่รวมไปถึงการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขณะนี้แต่ละปีมีปริมาณน้ำฝนตกในประเทศ 7 ล้านคิว สามารถเก็บกักได้เพียง 7หมื่นคิวเท่านั้น สุดท้าย การพัฒนาระบบขนส่งโลจิสต์ติกส์ตามโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ งบประมาณ 2ล้านล้านบาท จะสามารถช่วยวางระบบให้เป็นศูนย์กระจายสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางของอาเซียนต่อไป
ด้านดร.โอฬาร ไชยประวัติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและประธานผู้แทนการค้าไทย บรรยายพิเศษ ‘การส่งเสริมการสร้างฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านและชายแดน’ว่ากลยุทธ์ที่ทำให้ประเทศไทยประสบผลสำเร็จทางด้านการค้าหรือเศรษฐกิจนั้นควรเริ่มจากการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านบริเวณชายแดนที่มีเส้นทางการเชื่อมต่อได้สะดวก และต้องส่งเสริมการไหลเวียนสินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบกับราคาสินค้าในประเทศที่ผลิตสินค้าเดียวกัน ฉะนั้นการปรับตัวในภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เท่าเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตามปัจจัยการลงทุนที่สำคัญที่สุดคือแรงงานที่มีทักษะความชำนาญ และต้องสามารถทำงานทั้งในไทยและต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนแรงงานจากต่างประเทศที่เข้ามาก็ต้องมีทักษะเท่าเทียมกับคนในประเทศไทยด้วย
“รัฐบาลต้องสนับสนุนในการปรับตัวของอุตสาหกรรม การกำหนดทักษะคนทำงานต้องเป็นมาตราฐานเดียวกันและมีคุณภาพมากขึ้น เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะปัจจุบันคนมีเงินมากขึ้น ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ก็ต้องการบริโภคสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เราต้องผลิตสินค้าโดยเฉพาะสินค้าภาคเกษตร จำพวกอาหารให้มีคุณภาพในสายตาของผู้บริโภคและตรงต่อความต้องการของผู้บริโภค เช่น มาเลเซียชอบทุเรียนกลิ่นแรง จีนไม่ชอบทุเรียนเนื้อเละชอบทุเรียนเนื้อละเอียดแห้งกลิ่นไม่แรงเราก็ส่งสายพันธุ์ที่ตรงความต้องการไปให้ผู้บริโภค”ดร.โอฬารกล่าวทิ้งท้าย .