สำรวจเส้นทาง… ‘เสียงค้าน’ อื้ออึง!! “ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก”
เสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงในสังคมออนไลน์ เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนเดียวที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ว่าได้มอบนโยบายให้ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษานำไปดำเนินการ ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน จำนวน 17,000 โรง จากโรงเรียนทั้งหมด 30,000 โรง
โดยโรงเรียนขนาดเล็กที่ตั้งเป้าจะยุบรวม กำหนดว่าให้เป็นโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ทั้งหมด 14,816 โรง และโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ทั้งหมด 5,962 โรง แยกเป็นขนาดไม่เกิน 20 คน จำนวน 709 โรง ขนาด 21-40 คน จำนวน 2,090 โรง และขนาด 41-60 คน จำนวน 3,163 โรง
ทั้งนี้ นายพงศ์เทพ ชี้แจงเหตุผลว่า... เพื่อให้นักเรียนได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ อันจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเด็กและการจัดการศึกษาในภาพรวม อีกทั้ง รัฐบาลไม่มีกำลังและงบประมาณจะพัฒนาโรงเรียนทุกแห่ง และไม่สามารถนำงบประมาณจากเงินภาษีมาดูแลทุกโรงเรียนได้เท่าเทียมกันเช่นเดียวกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว
พร้อมทั้งเชื่อมั่นด้วยว่า การยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน เนื่องจาก สพฐ.ได้จัดระบบรับส่งนักเรียนไว้รองรับ โดยได้เตรียมงบประมาณไว้จัดซื้อรถตู้รับส่งนักเรียน 1,000 คัน โดยคิดค่าใช้จ่าย 10-15 บาทต่อคน และในบางพื้นที่อาจให้เอกชนประมูลรับไปบริหารจัดการแทน ส่วนในบางพื้นที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลมาก อาจจะจัดงบประมาณจัดซื้อจักรยานให้เด็ก
ล่าสุดความเคลื่อนไหวในสังคมออนไลน์ จากฝั่งสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย ได้ออกแถลงการณ์ต่อกรณีดังกล่าว เรื่อง การแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กของภาครัฐ ว่าหากกกระทรวงศึกษาธิการไม่พร้อมที่จะบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชุมชนให้มีคุณภาพได้ สภาการศึกษาทางเลือกและเครือข่ายโรงเรียนชุมชน (โรงเรียนขนาดเล็ก) มีข้อเสนอว่า
1.กระทรวงศึกษาธิการต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการศึกษาแก่ลูกหลานของตนเองตรงตามบริบทแวดล้อม สอดคล้องกับวิถีชีวิตวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้เกิดการสร้างมิติการศึกษาที่หลากหลายด้วยการดึงความรู้จากชุมชนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภาคการศึกษาในระบบผ่านการหนุนเสริมทั้งด้านงบประมาณและรับรองความรู้จากกระทรวงศึกษาธิการด้วยการให้สถานศึกษาทางเลือกและชุมชนคิดและจัดการได้ด้วยตนเอง
2.ขอคืนพื้นที่การศึกษาให้แก่ชุมชน ยกเลิกนโยบายการยุบ เลิกหรือควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในชนบทพื้นที่ห่างไกลและที่อื่นๆ โดยเปลี่ยนเป็นส่งเสริมและมอบให้ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามาดูแลบริหารจัดการ ตามแนวทางการศึกษาของชุมชน และการศึกษาทางเลือกที่มีความหลากหลาย โดยให้ชุมชน องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนในพื้นที่ร่วมกันบริหารจัดการโรงเรียนโดยกระบวนการมีส่วนร่วม ทั้งนี้หากกระทรวงศึกษาธิการยังเดินหน้ายุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวน 17,000 โรง โดยไม่รับฟังแนวทางจากภาคประชาชนแล้วนั้น สภาการศึกษาทางเลือกจะประสานองค์กรด้านการศึกษาทั่วประเทศจัดรณรงค์ครั้งใหญ่เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป
โดยที่ นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขาธิการสภาการศึกษาทางเลือก ได้โพสต์เฟ็ซบุกแสดงความเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า นโยบายดังกล่าวแสดงถึง "ความล้มเหลว" ในการบริหารการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทั้งๆ ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินปีละ 4 แสนล้าน ซึ่งควรจะยุบกระทรวงศึกษาธิการมากกว่า ไม่ควรทำร้ายเด็กที่ลำบากยากจนอยู่แล้วให้ลำบากมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กในกลุ่มที่พ่อแม่ยากจนไม่สามารถส่งลูกไปที่อื่นได้ ทั้งนี้ เขาเคยมีข้อเรียกร้องถึงกรณีดังกล่าวไปยังรัฐมนตรี เมื่อปี 2553 แล้ว
...หากย้อนไปถึงแนวคิดริเริ่มการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เกิดเมื่อครั้งที่สภาการศึกษา (สกศ.) เห็นชอบยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบการเงินเพื่อการศึกษา ขั้นพื้นฐาน โดยมียุทธศาสตร์การปฏิรูป 4 ข้อ เรื่อง "ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการและการใช้ทรัพยากร วางแผนกำหนดจำนวน ที่ตั้งสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ และจัดระบบบริหารจัดการเพื่อรองรับการยุบเลิก หรือควบรวมสถานศึกษาขนาดเล็กของรัฐ"
และในปี 2553 ระบุอยู่ใน "แผนปฏิรูปการศึกษารอบ 2" ระยะเวลา 10 ปี จาก 2553 - 2563 ของคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา ที่กำหนดไว้ว่าจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก 7,000 แห่ง ที่เป็นโรงเรียนด้อยคุณภาพ เพื่อให้การบริการจัดการทรัพยากรและงบประมาณด้านการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการกระจายงบประมาณ...
ซึ่งตรงกับในสมัยที่ นายชิณวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เป็น รมว.ศึกษาธิการ
แต่ครั้งนี้ นายชิณวรณ์ ก็ได้ออกโรงต้านแนวคิดการยุบเลือกโรงเรียนขนาดเล็กเช่นกัน
โดยเห็นว่า การยึดนักเรียนต่ำกว่า 60 คน เป็นเกณฑ์นั้น ขัด รธน.มาตรา 49 ที่บัญญัติว่า รัฐต้องจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและไม่คิดค่าใช้จ่าย ฉะนั้น หากมีการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก จะต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่าจะจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างทั่วถึงได้อย่างไร
ทั้งนี้ ในวรรคสองของมาตราดังกล่าว ยังระบุด้วยว่า นักเรียนที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก รัฐจะต้องจัดให้มีความทัดเทียมกัน ดังนั้น การที่กระทรวงศึกษาธิการจะใช้เกณฑ์เพียงแค่เรื่องคุณภาพและงบประมาณมาเป็นข้ออ้างในการยุบโรงเรียนขนาดเล็ก โดยยึดเอาจำนวนนักเรียนที่น้อยกว่า 60 คนเป็นตัวตั้งนั้นเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักการตามรัฐธรรมนูญ
นายชินวรณ์ บอกด้วยว่า ตั้งแต่สมัยที่ตนเป็น รมว.ศึกษาฯ ก็เล็งเห็นแล้วว่าก่อนจะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ต้องสร้างโรงเรียนดีประจำตำบลก่อน เพื่อให้โรงเรียนในชนบทมีคุณภาพใกล้เคียงกับโรงเรียนในเมือง เพื่อรองรับการยุบรวมโรงเรียนในอนาคต ในส่วนโรงเรียนขนาดเล็กที่อยู่ในชุมชนห่างไกล หากมีการยุบจะต้องมีสิทธิชุมชนในการดูแลการศึกษา เพราะการยุบโรงเรียนทำให้เกิดปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง ที่อาจกระทบให้เกิดการออกจากการศึกษากลางคันของนักเรียนได้
ดังนั้น หน้าที่สำคัญของรัฐ จึงต้องสร้างทางเลือกให้ประชาชนมากกว่าที่จะบังคับในเชิงนโยบาย...
สำนักข่าวอิศรา ย้อนข้อมูล เมื่อ ปี 2554 สมัยที่ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรมว.ศึกษาฯ เมื่อครั้งที่จะดำเนินตามแผนปฏิรูปการศึกษา ก็เคยมีการเคลื่อนไหวคัดค้านนโยบายการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมาแล้วเช่นกัน
อย่างเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2554 มีการเดินรณรงค์คัดค้านไปถึงกระทรวงศึกษาธิการ จนในที่สุด สพฐ.ระงับโครงการดังกล่าว โดยเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้คัดค้านจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก เพื่อตอบโจทย์การจัดการที่เหมาะสม โดยสรุปเป็น
"แผนในการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่" ที่มุ่งเป้าให้นักเรียนดี มีความรู้ ครูมีจิตวิญญาณ ชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมบริหารจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชนที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยได้วางพันธกิจ และแผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี (2555-2559) ส่งเสริมให้เกิดการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนชุมชน มาแล้ว (ดูฉบับเต็มได้ที่ส่วนล้อมกรอบ)
เช่นเดียวกับสมัย ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ปี 2555 มีผู้ปกครองและครูโรงเรียนเคลื่อนไหว เดินทางมายื่นหนังสือคัดค้านการยุบและควบรวมโรงเรียน ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่ง ศ.ดร.สุชาติ เคยกล่าวในช่วงนั้นว่า นโยบายไม่ได้บอกให้ยุบรวมโรงเรียน แต่ให้ไปศึกษาร่วมกับผู้ปกครองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าเห็นด้วยก็ให้ยุบรวมโรงเรียนเล็กไปอยู่กับโรงเรียนใหญ่ๆ และหากต้องการให้สนับสนุนอะไรก็ยินดี เช่น รถรับส่งครูนักเรียน แต่สำหรับบางพื้นที่ที่ไม่ต้องการยุบรวม เนื่องจากห่างไกล ก็จะนำวิธีการเรียนการสอนทางไกลไปใช้
จะเห็นได้ว่า ตลอดเส้นทางตั้งแต่แรกเริ่ม กระทั่งปัจจุบันของแนวนโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่ถูกประเมินตามระบบประเมินมาตรฐานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ออกมาแล้วว่า "คุณภาพต่ำ" นั้น เป็นเส้นทางที่คดเคี้ยว และขรุขระอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเพราะกระแสสังคม ผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา และครู นักเรียนในพื้นที่เองต่างก็คัดค้านเป็นเสียงเดียวกัน
ด้วยเห็นว่า... แม้จะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีจำนวนนักเรียนน้อย อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และถูกมองว่าคุณภาพต่ำในแง่ทุนนิยม แต่หากมองผ่านสายตาของพวกเขา "โรงเรียนขนาดเล็ก" กลับมีความจำเป็นในมิติทางสังคม เน้นการศึกษาจากรากเหง้าของตนเอง สอนวิธีทำมาหากินในแบบวิถีชนบท มาตรฐานการประเมินและการพัฒนาแบบวิถีเมืองจึงชี้วัดไม่ได้นัก
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนมือ "เจ้ากระทรวง" แบบรายปี ก็ทำให้นโยบายด้านการศึกษาขาดความต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด ในส่วนแนวทางการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กนั้น รัฐมนตรีแต่ละสมัยต่างก็รอมชอมให้ส่วนท้องถิ่น และชุมชนร่วมศึกษาทางออก ตามที่กลุ่มร้องเรียนและคัดค้านเสนอ จนออกมาเป็นแผนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่ที่ท้องถิ่นและชุมชนมีส่วนร่วมแล้ว
คำถามคือ เหตุใดจึงไม่พัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กไปตามแผนที่ชุมชน ท้องถิ่นและโรงเรียนเสนอเสียที?? หรือเปลี่ยนรัฐมนตรีที ก็ต้องให้มีการเดินขบวน เรียกร้อง คัดค้าน และทำการศึกษากันใหม่เช่นนี้ต่อไป??
ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อต้องมีการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจริง จะช่วยดึงคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่?? ก็ยังเป็นคำถามที่ไร้คำตอบ
ล้อมกรอบ
สรุปแผนการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่
วิสัยทัศน์
นักเรียนดี มีความรู้ ครูมีจิตวิญญาณ ชุมชน และทุกภาคส่วนร่วมบริหารจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนและคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชนที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่น
พันธกิจ
• พัฒนาให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนชุมชน
• แก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารและจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมชน
• สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการร่วมบริหารจัดการศึกษาของชุมชน
• สร้างและพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นที่เน้นกระบวนการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง
• สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น
• พัฒนาคุณภาพครูและผู้บริหารให้เป็นครูมืออาชีพของโรงเรียนชุมชน
• ปรับปรุงระบบบริหารจัดการและระดมทรัพยากรทางการศึกษาเพื่อการจัดการศึกษาให้มีความเสมอภาค เท่าเทียม และทั่วถึง
• จัดให้มีหลักสูตรสถานศึกษาที่บูรณาการการเรียนรู้และการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
• สร้างเครือข่ายโรงเรียนชุมชนที่เข้มแข็ง
แผนยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี (2555-2559)
• ส่งเสริมให้โรงเรียนขนาดเล็กเป็นโรงเรียนของชุมชนที่สามารถจัดการศึกษาได้ทั้งสามรูปแบบ คือ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย
• สนับสนุนให้ชุมชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดทำประกันคุณภาพ และพัฒนาแผนการจัดการศึกษา หลักสูตร แผนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล
• ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาผู้บริหาร ครู ครูภูมิปัญญา ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อให้นำหลักสูตรสู่การจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ
• ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาโรงเรียนชุมชนและให้มีการจัดสรรเพื่อการพัฒนาตามสภาพจริง ไม่น้อยกว่าโรงเรียนละ 200,000 บาท
• ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือเทศบาล จัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายให้กับโรงเรียนชุมชน
• ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีกฎระเบียบในการจัดสรรงบประมาณเพื่อการจัดการศึกษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ให้กับการจัดการศึกษาของท้องถิ่นและการพัฒนาโรงเรียนชุมชน
• ให้ภาคเอกชน ชุมชน สถาบันศาสนา ครอบครัว ศิษย์เก่า องค์กรอิสระ มีการระดมทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการศึกษา
• ให้มีระบบประกันคุณภาพภายในและภายนอก ดำเนินการโดยการวิจัยสถาบันของโรงเรียนชุมชนซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ที่สอดคล้องกับปรัชญา เป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานของโรงเรียนชุมชน
• ปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง และระเบียบปฏิบัติที่เป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารจัดการ ด้านบริหารบุคคล ด้านวิชาการ ด้านบริหารทั่วไป และด้านการเงินและงบประมาณของโรงเรียนชุมชน เพื่อให้โรงเรียนชุมชนเป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์และสามารถจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
• จัดทำพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาของโรงเรียนชุมชน เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพของเยาวชนในฐานชุมชนท้องถิ่น
• จัดตั้งสมาคมเครือข่ายโรงเรียนชุมชนแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมการพัฒนาโรงเรียนชุมชนและขยายผลสำเร็จของการพัฒนาไปยังโรงเรียนอื่นๆต่อไป
แผนการดำเนินงาน ระยะ 5 ปี (2555-2559)
• การส่งเสริมให้เกิดการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนชุมชน