ตอบโจทย์ชายแดนใต้...นิติภูมิ นวรัตน์ : ผมชอบเขตปกครองพิเศษ!
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ทางออก”ของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประเด็นที่พูดกันมานาน แต่ก็ยังมองไม่เห็นแนวทางที่ลงตัว “ไฟใต้” จึงเปรียบเสมือนการบ้านข้อยากที่สังคมไทยต้องช่วยกันตอบโจทย์ว่าจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร
แต่ปัญหาที่ดูจะซ้อนอยู่ใต้ปัญหาก็คือ เราเข้าใจปัญหาดีพอหรือยัง และแก้ปัญหาถูกจุดหรือยัง?
ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ นวรัตน์ คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ “เปิดฟ้าส่องโลก” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้มีประสบการณ์เดินทางมาแล้วทั่วโลก ตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลไทยทุกชุดที่ผ่านมา ยังเป็นการแก้ปัญหาเป็นจุดๆ และบางครั้งก็ไม่ถูกจุดเสียด้วย
“เท่าที่ผมติดตามดู...ไม่ทราบเหมือนกันว่าผมจะถูกหรือผิด แต่ผมว่าถ้าพูดถึงเรื่องของการก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบ ผู้ที่ก่อการน่าจะมีอยู่หลายกลุ่มและหลายจุดมุ่งหมาย อาจจะเป็น ก. ข. ค. ง. ตามลำดับ ทีนี้รัฐบาลก็ไปมุ่งแก้ตามจุดมุ่งหมายเหล่านั้น ผมยกตัวอย่างประเทศศรีลังกา มีการสรุปออกมาแล้วว่ากลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลมีทั้งหมด 38 กลุ่ม ดังนั้นผมมองว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังแก้อยู่ บางครั้งก็ยังไม่ถูกจุด และไม่มียุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาในภาพรวม”
ในฐานะด็อกเตอร์ทางประวัติศาสตร์ซึ่งเคยไปสัมผัสและเรียนรู้ประสบการณ์จากพื้นที่ขัดแย้งทั่วโลก ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ บอกว่า ปัญหาการก่อความไม่สงบนั้น ไม่สามารถแก้ไขโดยใช้กำลังทหารเข้าไปปราบปรามได้ และส่วนตัวสนับสนุนเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ”
“ผมชอบในเรื่องเขตการปกครองพิเศษ เพราะคนที่อยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรปกครองตนเอง เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ที่นั่นมีความแตกต่างกับประชาชนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทยชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น ความแตกต่างในเรื่องของศาสนา ภาษา วัฒนธรรม แม้แต่อาหารยังแตกต่าง ภาษาพูดก็แตกต่างกัน”
“ขอยกคำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (ประธานพรรคเพื่อไทย ผู้เสนอแนวคิดตั้งนครปัตตานี) ซึ่งผมเองชอบคำพูดนี้มาก คือคำว่าดอกไม้หลากสี ผมจะเปรียบเทียบว่าเวลาเราเข้าไปในสวนแล้วเราเจอแดด ดอกดาวเรืองชอบแดด แต่ดอกไม้เกือบทั้งหมดจะไม่ชอบแดด เราก็จะมองไม่เห็นความสวยของดอกไม้ แต่ถ้าในสวนนั้นมีความหลากหลาย มีดอกไม้ที่ชอบแดดอยู่ด้วย แม้แดดจะแรงเราก็ยังได้เห็นดอกไม้บาน ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นเรื่องดี ซึ่งผมก็ชอบในลักษณะแบบนี้มากกว่า และในบางประเทศเขาก็ยอมให้มีความแตกต่างแบบนี้ เขาก็สามารถก้าวไปได้ และไปได้อย่างสวยงามด้วยซ้ำ”
แม้จะออกตัวว่า ยังลงไปสัมผัสพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มากนัก แต่คอลัมนิสต์ชื่อดังก็ยังเชื่อมั่นในแนวคิด “เขตปกครองพิเศษ” ว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ชายแดนใต้ได้สำเร็จ
"ในหลายประเทศ หลายบ้านเมืองก็มีปัญหา และเขาก็แก้ไขโดยการให้ปกครองตนเอง แล้วก็สามารถไปได้ ยกตัวอย่างประเทศจีนซึ่งผมเพิ่งไปเมื่อปีที่แล้ว และก็ได้เห็นเขตปกครองตนเองของจีน (มณฑลซินเจียง) เขาทำได้ดีมาก ทั้งๆ ที่ประชากรของเขามีอยู่ประมาณสัก 5 ล้านกว่าคน ซึ่งแต่เดิมนั้นมีมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ในปัจจุบันมีน้อยกว่าชาวฮั่น แต่เขาก็ให้ปกครองตนเอง และเขาก็อยู่กันได้”
ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ ซึ่งเคยสัมผัสทั้งแวดวงการศึกษาและการเมือง ยังเสนอว่า สังคมไทยควรเริ่มสนใจการเรียนรู้อย่างแท้จริง เพื่อนำไปสู่การหาหนทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ถูกต้อง
“ก่อนปี 2547 (ก่อนเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนจากค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) เราเองไม่ค่อยได้สนใจเรื่องราวแบบนี้สักเท่าไหร่ แต่หลังปี 2547 เป็นต้นมา เราก็เริ่มให้ความสนใจ แต่ความสนใจและการเรียนรู้นั้น ผมว่าบางทีเรายังเรียนรู้กันผิดๆ เรียนรู้แบบไม่ลึกซึ้งพอ เพราะเราใช้วิธีเลียนแบบประเทศอื่นเพื่อเอามาแก้ไขปัญหา ‘เลียน’ไม่ได้หมายความว่ามาจากจิตวิญญาณ ทำให้บางครั้งเรายังขาดองค์ความรู้ที่แท้จริงสำหรับการแก้ไขปัญหา”
คอลัมนิสต์ชื่อดัง บอกด้วยว่า ขณะนี้เขากำลังศึกษาโมเดลปัญหาของประเทศจอร์เจีย ซึ่งแม้ไม่เหมือนกับภาคใต้ของไทยมากนัก แต่ก็อาจมีประสบการณ์ดีๆ ที่น่าสนใจ
"จอร์เจีย" เป็นประเทศที่แยกตัวออกมาจากสหภาพโซเวียตช่วงหลังสงครามเย็น แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจากประเทศใด ทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนจากคนต่างเชื้อสายในประเทศเดียวกัน และมีหลายเมืองที่รัสเซียให้การสนับสนุนชนกลุ่มน้อยที่ต่อต้านรัฐบาลจอร์เจีย
“ถ้าเปรียบเทียบกับทางจอร์เจีย ผมคิดว่าปัญหาในสามจังหวัดของเรายังถือว่าไม่รุนแรงมากนัก เพราะจอร์เจียนั้นรัสเซียกระโดดเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วย ที่นั่นมีปัญหาเพราะมีคนจอร์เจียนแต่สัญชาติรัสเซีย ส่วนทางสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทางมาเลเซียเขาไม่ได้เข้ามาเกี่ยวดองหนองยุ่ง มันก็เลยทำให้แตกต่างกันตรงจุดนี้”
“ผมมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ก็ยังเป็นแบบรายวัน เล็กๆน้อยๆ มากกว่า ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่มีความขัดแย้งเช่นกัน ของเขาจะเกิดขึ้นทีเดียวเลย ก่อเหตุทีมีคนตายเป็นร้อยๆ แต่ถ้าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนช่วงหลังก็มีการตายวันละ 1-2 คน”
ปัญหาสำคัญของรัฐบาลต่อปัญหาความไม่สงบในความเห็นของ ร้อยตำรวจเอก ดร.นิติภูมิ ก็คือ จนถึงขณะนี้ยังไม่รู้ว่ารบอยู่กับใคร
“ของเราจะต่างกับประเทศอื่น คือทางฝ่ายรัฐบาลไม่รู้ว่ารบกับใครจริงๆ แต่ในประเทศอื่นๆ นั้นเขารู้ว่าเขากำลังรบกับใครอยู่ เพราะมีองค์กรที่ประกาศตัว ยกตัวอย่างประเทศศรีลังกาที่มี 30 กว่ากลุ่มนั้น เขามีผู้นำ และเขาก็มีการประกาศตัว ซึ่งรวมไปถึงจอร์เจียและฟิลิปปินส์ก็มีการประกาศตัวกันอย่างชัดเจนด้วย การที่กลุ่มก่อความไม่สงบในประเทศของเราไม่มีการประกาศตัว และรัฐบาลเองก็ไม่รู้ว่ากำลังสู้อยู่กับใคร ทำให้การแก้ไขปัญหายากยิ่งขึ้นไปอีก”
“การจะแก้ปัญหาให้ได้สำเร็จ เราต้องรู้ก่อนว่าโจทย์คืออะไร ยกตัวอย่างว่ามีการบ้านอยู่ข้อหนึ่ง เราก็ต้องอ่านโจทย์เสียก่อน ถึงจะทำการบ้านข้อนั้นได้ แต่ถ้าไม่มีโจทย์ ก็ไม่สามารถทำการบ้านได้ วันนี้การแก้ไขปัญหาภาคใต้ยังเปรียบเสมือนการบ้านที่ไม่มีโจทย์”
เป็นความสับสนที่ต้องย้อนกลับไปอ่านตอนต้นแล้วจะพบวิธีแก้!