เสียงจากครอบครัว "สมาน เฮียงมา" และมารดาหนุ่มมุสลิมเหยื่อยิง 6 ศพที่ถูกลืม
เหตุการณ์คนร้ายกราดยิงประชาชนคนหาเช้ากินค่ำเสียชีวิตถึง 6 รายที่หน้าร้านขายของชำในเขตเมืองปัตตานีเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ข่าวคราวส่วนใหญ่ที่นำเสนอผ่านสื่อมุ่งไปที่ความสูญเสียของพี่น้องไทยพุทธ จนหลายคนเข้าใจว่าเหยื่อกระสุนทั้งหมดเป็นชาวบ้านไทยพุทธ ทั้งๆ ที่หนึ่งในนั้นคือพี่น้องมุสลิม
ถึงวันนี้ผ่านมา 1 สัปดาห์ แทบไม่มีใครจำชื่อเขาได้ และเรื่องราวความตายกำลังเลือนหายไปจากความสนใจของสังคม...
"น้อยใจเหมือนกันที่ไม่มีข่าวคราวของลูกเลยทั้งที่เสียชีวิตในที่เดียวกัน เพื่อนบ้านก็บอกว่าน้อยใจที่เห็นข่าวมีแต่พี่น้องไทยพุทธ เพราะเราก็สูญเสียเขาไปทั้งชีวิต ฉันหวังจะอยู่กับเขา พอเกิดเรื่องขึ้นก็ไม่รู้จะทำอย่างไร อาเด๊ะไม่อยู่แล้ว เมาะจะอยู่กับใคร"
เป็นเสียงของ ฮาลีเมาะ จาโก หญิงชราวัย 60 ปีที่พรั่งพรูถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ศพที่ทำให้ มะรูดี การี ลูกชายวัยย่าง 30 ปีของนางเสียชีวิตพร้อมกับพี่น้องไทยพุทธอีก 5 คนในคืนหฤโหดนั้น
มะรูดีเป็นลูกชายคนสุดท้องของนางที่เลือกอาศัยอยู่ที่บ้านเพื่อดูแลพ่อแม่วัยแก่ชรา ส่วนพี่ๆ ของมะรูดีแต่งงานออกไปตั้งครอบครัวทำมาหากินกันตามอัตภาพหมดแล้ว
หลายปีก่อน มะรูดี ก็เคยแต่งงานกับสาวมุสลิมจาก อ.เทพา จ.สงขลา เพิ่งแยกทางกันเมื่อไม่นานมานี้โดยมีพยานรักด้วยกัน 1 คน แต่ลูกไปอยู่กับแม่ที่ อ.เทพา ส่วนเขาเลือกอยู่ที่บ้านแบกอ ต.ตะลุโบะ อ.เมืองปัตตานี เพื่อดูแลพ่อกับแม่ เขาทำงานเป็นพนักงานขับรถส่งพนักงานของบริษัทสหพันธ์ก่อสร้างที่อยู่เยื้องกับร้านขายของชำจุดเกิดเหตุ และบ้านก็อยู่ไม่ไกลกันนักกับที่ทำงาน
"เขาเคยเรียนปอเนาะแถวปูยุด (ตำบลหนึ่งของ อ.เมืองปัตตานี) มาหลายปี แต่ชอบทำงานมากกว่า ปกติเขาจะไปทำงานแต่เช้า กลับมาตอนเย็นๆ มีบางวันกลับค่ำบ้าง บางวันก็เอาเอกสารมาทำที่บ้าน" ฮาลีเมาะ เล่าถึงกิจวัตรประจำวันของลูกชาย ก่อนจะย้อนไปถึงวันที่ไม่อยากจดจำ
"วันเกิดเหตุเป็นวันหยุด เขาอยู่บ้านทั้งวัน พอตอนเย็นเมาะไปหาหมอที่คลินิค เขาก็นั่งกินข้าวกับมาม่าอยู่ บอกว่าจะไปส่งบิลหรือเอกสารอะไรที่ทำงาน แล้วก็ไม่ได้พูดอะไร เมาะกลับมาเขาก็ออกไปแล้ว เห็นล้างจานคว่ำเรียบร้อยทั้งที่ปกติไม่ได้ล้าง ตอนค่ำรู้ข่าวว่าเขาตายจากวิทยุของ ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) จากนั้นมีคนมาถามว่ามะรูดีอยู่บ้านไหม ได้ข่าวว่าถูกยิงเสียชีวิต ฉันก็บอกว่าถ้าเสียชีวิตต้องไปดูที่โรงพยาบาล เขาก็ไปดูให้ปรากฏว่าเป็นเรื่องจริง ฉันก็ตามไปโรงพยาบาล ตอนเห็นศพเขาเหมือนคนกำลังนอนหลับ หน้าตาเขาปกติ มีแผลที่ขากับที่คอ รู้สึกสะเทือนใจตอนที่ย้ายศพกลับบ้าน เริ่มคิดว่าจะอยู่อย่างไรถ้าไม่มีเขา เพราะไม่มีใครดูแลเราแล้ว เขาเป็นเสาหลักของบ้าน"
ฮาลีเมาะ บอกว่าลูกชายคนนี้ตั้งใจจะดูแลพ่อแม่จริงๆ เวลาไม่สบายก็จะพาไปหาหมอ นางเคยป่วยต้องนอนอยู่โรงพยาบาลเกือบ 20 วัน มะรูดีก็ดูแลตลอด เป็นความผูกพันระหว่างแม่กับลูกทำให้ยากที่จะทำใจเมื่อต้องยอมรับว่าเสียเขาไป
เมื่อถามว่าจะอยู่อย่างไรเมื่อไม่มีมะรูดีแล้ว น้ำตาของฮาลีเมาะก็เอ่อเต็มดวงตา...
"อาเด๊ะไม่อยู่แล้ว เมาะไม่รู้จะทำอย่างไร ยังทำใจไม่ได้ เขาดูแลเลี้ยงดูพ่อแม่มานาน เป็นที่พึ่งคนเดียวเพราะพี่ๆ เขาย้ายไปอยู่ที่อื่นกันหมด ไม่รู้จะอยู่อย่างไรเหมือนกัน"
มะรอเซะ การี พี่ชายคนหนึ่งของมะรูดี บอกว่า เสียใจมากที่น้องชายเสียชีวิตอย่างนี้ เพราะน้องเป็นคนดี ไม่เคยมีเรื่องมีราวกับใคร เมื่อเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นจึงยิ่งทำใจไม่ได้ แต่ก็ยอมรับกับสิ่งที่อัลลอฮ์กำหนด
ส่วนการจัดการภาระหนี้สินของมะรูดี ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเมื่อมุสลิมเสียชีวิต เพราะครอบครัวและญาติพี่น้องจะต้องจัดการหนี้สินทุกอย่างของผู้ตายเพื่อจะได้ไม่มีบาปนั้น มะรอเซะ เล่าว่า เมื่อได้รับเงินเยียวยาก็จะจัดการเรื่องที่น้องกู้ไฟแนนซ์มาซื้อรถยนต์ให้เรียบร้อย ที่เหลือก็จัดการแบ่งให้พ่อแม่และลูกของมะรูดีเพื่อเป็นทุนการศึกษา สำหรับการดูแลพ่อแม่ก็กำลังคุยกันว่าพี่น้องคนไหนจะมาอยู่ที่บ้านแทน
หลังจากมะรูดีเสียชีวิต 1 วัน พี่สาวของเขาซึ่งกำลังตั้งครรภ์ใกล้คลอดก็เจ็บท้องอย่างมาก ประกอบกับตกใจที่ได้ทราบข่าวร้ายของน้องชาย ทำให้เธอไปคลอดที่โรงพยาบาลไม่ทัน เธอต้องคลอดลูกที่บ้านมะรูดี เด็กเป็นผู้ชายและปลอดภัย...เสมือนชีวิตหนึ่งจากไป ก็มีชีวิตใหม่มาทดแทน แม้ในความเป็นจริงไม่มีชีวิตใครทดแทนใครได้ก็ตาม…
ด้านครอบครัวของ สมาน เฮียงมา เจ้าของร้านขายของชำที่ถูกยิงเสียชีวิตในคราวเดียวกัน ต้องเดินทางจาก จ.หนองบัวลำภู มาที่ปัตตานีเพื่อร่วมงานศพของลูกชายด้วยความยากลำบาก คำพู และ คำพา เฮียงมา พ่อกับแม่วัยหกสิบกว่าของสมานบอกเล่าด้วยนัยน์ตาแห้งผากกับคำพูดที่แผ่วเบาในศาลาวัดนพวงศารามก่อนพิธีเผาศพลูกชายและหลานชาย (น้องไตเติ้ล ด.ช.จักริน เฮียงมา ลูกของสมาน)
"ลูกสะใภ้โทรศัพท์มาบอกว่าสมานถูกยิงตาย พ่อก็เป็นลม เตรียมตัวลงมางานศพ ญาติๆ ก็ห้ามว่าอย่ามา กลัวจะถูกยิงด้วย แต่ตัดสินใจมาเพราะเขาเป็นลูกเรา อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด มากัน 7 คน นั่งรถทัวร์มาลงที่อุดรธานี แล้วนั่งต่อมาลงที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็นั่งเครื่องมาลงที่หาดใหญ่ (อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา) สาเหตุที่ได้นั่งเครื่องเพราะญาติที่มาทำงานที่หาดใหญ่สงสาร ขอให้เจ้านายเขาซื้อตั๋วให้ เขาสงสารพวกเรา จากหาดใหญ่มีน้องชายที่ทำงานอยู่ภูเก็ตมารับ แล้วนั่งรถมาปัตตานี กระทั่งมาทันรดน้ำศพ"
คำพู บอกว่า สมานเป็นคนขยันทำมาหากิน รักพี่น้อง รักครอบครัว ซื่อสัตย์ เคยบวชเรียน เมื่อสึกก็ไปทำงานเป็นกระเป๋ารถเมล์ในกรุงเทพฯ แต่งงาน มีลูก แต่ต่อมาแยกทางกัน ก็พาหลานไปให้ปู่กับย่าเลี้ยง ตอนนี้เรียนอยู่ชั้น ม.5 จากนั้นสมานก็ลงมาทำงานโรงงานปลาป่นที่ปัตตานีเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว
"เขาทำอาชีพหาของเก่าไปด้วย และออกเรือประมงที่มาเลเซีย เขาตั้งใจเก็บเงินไปสร้างบ้านให้พ่อแม่และน้องได้อยู่สบาย เพราะพ่อกับแม่มีอาชีพเผาถ่านขาย รายได้แค่มีกินไปวันๆ ช่วงแรกๆ พ่อกับแม่ก็ลงมาเยี่ยมเขา ปัตตานีตอนนั้นน่าอยู่ สบาย บรรยากาศดี พอเริ่มมีเหตุการณ์รุนแรงมากขึ้นก็บอกเขาให้กลับไปอยู่บ้านเรา ทำนาทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตอยู่ที่นี่ ตอนนั้นเขาบอกว่าอยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกัน จะทำงานหนักหาเงินสัก 2 ปี ได้เงินสักก้อนก็จะกลับไปอยู่บ้านเรา เขาออกเรือไปครั้งแรกได้มา 5 พันบาท จะไปอีกก็มาถูกยิงเสียก่อน"
ขณะที่ คำพา บอกด้วยสำเนียงไทยอีสานถึงความรู้สึกของผู้เป็นแม่ว่า อย่าทำร้ายคนบริสุทธิ์กันอีกเลย ให้เรื่องร้ายๆ นี้จบลงเสียที จะได้อยู่ทำมาหากินกันอย่างมีความสุข เพราะนอกจากนางจะเสียทั้งลูกและหลานแล้ว หลานคนโตที่ยังอยู่ก็ต้องกำพร้าพ่ออีก แต่ก็ยังดีใจและภูมิใจที่ความเป็นคนดีของลูกทำให้มีคนและหน่วยงานภาครัฐให้ความช่วยเหลือกันพอสมควร
"อย่าให้เกิดความสูญเสียกับใครอีกเลย ทางไหนที่พอจะช่วยกันได้ก็ขอให้ช่วยกันเถอะ"
เมื่อเสร็จพิธีเผาศพและทำบุญ คำพูกับคำพาก็เดินทางกลับหนองบัวลำภูพร้อมกระดูกของสมาน ส่วน วัชริน นวลสาย ภรรยาคนปัจจุบันของสมาน และเป็นแม่ของน้องไตเติ้ลที่เสียชีวิตพร้อมกับสมาน เมื่อจัดการทุกอย่างเสร็จสิ้น เธอและครอบครัวก็จะย้ายกลับบุรีรัมย์บ้านเกิดเช่นกัน
เมื่อถามถึงการกลับมาเยือนปัตตานีอีกในวันข้างหน้า วัชรินไม่ตอบเป็นคำพูด ได้แต่ส่ายหน้ากับดวงตาที่ว่างเปล่า...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพมะรูดี (ซ้ายสุด) ตอนที่เขาแต่งงาน
2 ฮาลีเมาะ แม่ของมะรูดี
3 งานศพของสมานกับลูกน้อย "น้องไตเติ้ล"
4 คำพู เฮียงมา (ภาพทั้งหมดโดย เลขา เกลี้ยงเกลา)