หมอพรทิพย์ : ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงคือเหยื่อ!
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ท่ามกลางกระแสโต้เถียงกันเรื่องประสิทธิภาพของเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200 ซึ่งดูจะยังหาจุดจบไม่ได้ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม เรียกร้องให้สังคมไทยหันมามองปัญหาใหม่ที่ชายแดนใต้ ซึ่งอาจน่าตกใจกว่า จีที 200
"เราใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่าการนำคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หลายๆ ครั้งคนเหล่านั้นเป็นเพียงเหยื่อ อาจจะเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น มีความรู้น้อย กลายเป็นเครื่องมือของคนที่สั่งการจากข้างบน คนเหล่านี้ต่างหากที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่คนสั่งการยังอยู่สบาย”
ปัญหาที่หมอพรทิพย์พบจากที่ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องหลายปีก็คือ แนวร่วมก่อความไม่สงบจำนวนมากในบัญชีของรัฐ แท้ที่จริงแล้วพวกเขาอยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐด้วยความจำใจ
“หลายๆ กรณีเราพบว่ากลุ่มก่อความไม่สงบใช้บ้านของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเป็นสถานที่วางแผน เจ้าของบ้านก็ปฏิเสธไม่ได้ แต่สุดท้ายเจ้าของบ้านกลับกลายเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีแนวร่วม เมื่อใช้วิทยาศาสตร์เข้าไปพิสูจน์ยิ่งชัด เพราะไปตรวจหาร่องรอยสารระเบิดในบ้านก็เจอ เนื่องจากบ้านหลังนี้ถูกใช้ทำระเบิด ทั้งๆ ที่เจ้าของบ้านไม่ได้เต็มใจ”
หมอพรทิพย์ ย้ำว่า ทุกฝ่ายต้องหันมายอมรับว่า ฝ่ายขบวนการสร้างแนวร่วมด้วยวิธีนี้ ฉะนั้นการส่งตัวผู้กระทำผิดเข้ากระบวนการยุติธรรม หรือใช้วิธีปราบปรามอย่างเด็ดขาด อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกทั้งหมด
“การจับเป็นผู้ต้องหาได้คนหนึ่ง อาจพาเราไปเจอแหล่งผลิตระเบิดจำนวนมหาศาล แต่หากเราไปตั้งเป้าว่าต่อสู้เมื่อไหร่ตายหมด มันก็ไม่คุ้มกับโอกาสของการได้พยานหลักฐานที่เสียไป การมีหมายจับ ป.วิอาญา ยังไม่ได้หมายความว่าเขากระทำผิดจริง บางทีบอกว่ามีหมายจับ 15 หมาย แต่มันยังต้องพิสูจน์ ต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ”
“ถ้าคนๆ หนึ่งเคยประกอบระเบิดแล้วเข้ามอบตัว ทำให้เรารู้ขบวนการของเขา แต่คนนั้นก็ยังมีความผิด ถูกดำเนินคดีด้วย แล้วใครจะหันมาช่วยรัฐ ตรงนี้เป็นสิ่งที่อยากให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันขบคิด โดยเฉพาะนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานอยู่ในพื้นที่จริงๆ”
“เรื่องนี้เป็นจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไข ในความคิดของหมอคิดว่าทุกฝ่ายต้องผนึกกำลังกัน อย่าใช้อคติ อย่าใช้อารมณ์ แล้วร่วมกันดำเนินการ โดยเฉพาะการรับฟังความจริงว่าผู้ที่ถูกจับทุกวันนี้เป็นแค่เหยื่อ กระบวนการยุติธรรมไม่ใช่ทางออกเดียว ไม่อย่างนั้นจะมีแต่คนติดคุก ต้องเอาน้ำดีมาล้าง ไม่ใช่จับทุกคนเข้ากระบวนการยุติธรรม”
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การทำงานของกลุ่มบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ชาวบ้าน หลายๆ ครั้งกลับกลายเป็นซ้ำเติม
“หลายคดีเรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชัด แต่กลับมีทนายหรือองค์กรในพื้นที่บางกลุ่มบางคนไปยุให้ผู้ต้องหาต่อสู้ ไม่ให้รับสารภาพ ไปอ้างว่าถูกซ้อมบ้างอะไรบ้าง สุดท้ายศาลก็ลงโทษในอัตราสูง ไม่ลดโทษ และไม่ได้ช่วยในการแก้ไขปัญหา เพราะคนเหล่านี้เป็นเพียงเหยื่อ แต่แน่นอนว่าถ้าเขาไม่ผิดจริงๆ หมอก็สนับสนุนให้สู้สุดชีวิต”
แนวคิดที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ เสนอ ดูจะสอดรับกับแนวทางการนำมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ “พ.ร.บ.ความมั่นคง” มาใช้ เพื่อเบี่ยงคดีบางคดีออกจากกระบวนการยุติธรรมทางอาญาปกติ
สาระของมาตรา 21 คือการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่กลับใจเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน หรือเป็นบุคคลที่หลงผิด กระทำความผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พนักงานสอบสวนสามารถทำความเห็นเสนอไปยัง ผอ.รมน.เพื่อพิจารณา หาก ผอ.รมน.เห็นชอบด้วย ก็ให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลสั่งให้บุคคลผู้นั้นเข้ารับการอบรมเป็นเวลาไม่เกิน 6 เดือนด้วยความยินยอม และจะไม่ถูกดำเนินคดีอาญา
อย่างไรก็ดี หมอพรทิพย์ ย้ำว่า แนวทางที่ควรดำเนินการตามกรอบของมาตรา 21 ต้องระวังเรื่องการใช้เงิน
“ปัจจุบันหลายหน่วยก็ใช้งบประมาณไปจ้างฝ่ายก่อความไม่สงบบางระดับเป็นสายข่าวอยู่แล้ว จึงอยากให้คิดในมุมที่กว้างและรอบด้านกว่านี้ โดยดึงทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อหาพิมพ์เขียวที่ดีที่สุด”
อีกด้านหนึ่งคือปัญหาเรื่อง จีที 200 หมอพรทิพย์ ยืนยันว่า อย่างไรเสียก็จะไม่เลิกใช้ แม้สุดท้ายจะพิสูจน์ว่าไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ ก็ไม่ถือว่าหน้าแตก
“หมอไม่หน้าแตกหรอก เรายึดตามการปฏิบัติ หมอเองก็ไม่เคยใช้เอง ไม่เคยถือ เพราะบางทีใจเรามุ่งมั่นมากไป ไม่อยากทำอะไรให้ผิดพลาด ทุกวันนี้ก็ให้ลูกน้องที่มีพรสวรรค์ใช้อยู่ แล้วก็แม่นยำทุกครั้ง นานมาแล้วทุกคนบอกว่าโลกแบน ใครบอกว่าโลกกลมต้องถูกประหาร สิ่งที่มองไม่เห็น บางครั้งไม่ได้หมายความว่าไม่มีอยู่จริง”
ไม่ใช่แค่ไม่รู้สึกว่าหน้าแตก แต่ หมอพรทิพย์ ยังประกาศจะเดินหน้าใช้ จีที 200 ต่อไปอีกด้วย
“เครื่องที่มีอยู่แล้วไม่มีสิทธิ์ระงับใช้ หมอจะใช้ และจะช่วยทุกหน่วยในการเข้าตรวจพื้นที่เป้าหมายต่อไป ต้องเข้าใจว่าคนทำงานภาคใต้ล้วนเสียสละ ไม่มีใครอยากไป ทหารก็ถูกสั่งให้ลงไป ส่วนตำรวจก็ถูกสั่งไม่ให้ขึ้นมา ฉะนั้นต้องคิดถึงชีวิตและสภาพจิตใจของพวกเขาด้วย คนที่ออกมาวิจารณ์อย่ามองด้านเดียว”
อีกประการหนึ่งที่ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ อยากทำความเข้าใจคือ เรื่องงบประมาณจัดซื้อ ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของความโปร่งใสหรือไม่ แต่เป็นในแง่ของเม็ดเงินที่รัฐมอบให้
“ที่ผ่านมารัฐบาลไม่ค่อยสนใจเรื่องเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ก็จัดงบให้น้อย จึงต้องหาซื้อเครื่องราคาถูก แน่นอนเราก็อยากได้เครื่องที่มีความแม่นยำและรับประกันร้อยเปอร์เซ็นต์อย่างเครื่องไฟโด้ หรือไอร์ออนสแกน แต่เมื่อไม่ได้รับการสนับสนุน จะซื้อได้อย่างไร ฉะนั้นเมื่อมีการพูดกันเรื่องนี้ ก็อยากจะฝากบอกว่าถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องหันมาสนับสนุนให้หน่วยงานความมั่นคงมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ดีๆ ใช้กันเสียที”
ถือเป็นอีกหนึ่งความเห็นท่ามกลางวาระร้อนว่าด้วย จีที 200!
---------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์คมชัดลึก คอลัมน์กระดานความคิด ฉบับวันจันทร์ที่ 1 ก.พ.2553 และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้า 15 ฉบับวันอังคารที่ 2 ก.พ.2553
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ www.inwtrend.com