ชายแดนใต้ก็มีข่าวดี มอ.ปัตตานีเตรียมเปิดคณะพยาบาล รองรับสถานการณ์-สร้างโอกาสเยาวชน
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
“ภาวะขาดแคลนพยาบาล” เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เต็มไปด้วยข่าวร้ายและความรุนแรงรายวันแล้ว ดูจะหนักกว่าพื้นที่อื่นๆ มากนัก เพราะมีทั้งปัญหาพยาบาลขอย้ายออก ขณะที่จำนวนผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบซึ่งต้องรับการรักษาพยาบาลกลับมีเพิ่มมากขึ้น
ที่ผ่านมาแม้รัฐบาลจะมีโครงการผลิตนักศึกษาพยาบาลจากเยาวชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 3,000 อัตรา ทว่าก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ล่าสุดมีข่าวดีเมื่อมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) มีโครงการเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ คาดว่าจะเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ในปีการศึกษา 2554
ที่มาที่ไปของโครงการนี้เป็นอย่างไร และ ม.อ.ปัตตานี จะปรับทิศไปทางไหน ผศ.พัชรียา ไชยลังกา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี มีคำตอบ
O โครงการเปิดคณะพยาบาลเริ่มต้นอย่างไร?
เป็นนโยบายของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่มองว่า ม.อ.ปัตตานี เป็นที่พึ่งของสังคมในภาคใต้ และชายแดนใต้เองก็มีปัญหาเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงอยู่ ซึ่งความรุนแรงนี้ทำให้คนในพื้นที่ย้ายถิ่นฐานออกไปเป็นจำนวนมาก และพยาบาลส่วนหนึ่งก็ลาออกหรือย้ายออกไป จึงเกิดผลกระทบเรื่องการดูแลสุขภาพของประชาชน แม้จะอาศัยแพทย์ แต่แพทย์ก็มีน้อยเหมือนกัน
พยาบาลนั้นเปรียบเสมือนด่านแรกที่จะต้องเข้าไปดูแลคนบาดเจ็บ ยิ่งเกิดเหตุตอนกลางคืนด้วยแล้ว คนที่ต้องทำหน้าที่ดูแลคนไข้จะเป็นพยาบาลแทบทั้งสิ้น หลายครั้งที่ดิฉันได้ลงไปในพื้นที่สามจังหวัด ก็ได้เห็นถึงความทุกข์ของพยาบาล แม้บางคนจะออกจากพื้นที่ไปเพราะรัฐเปิดฟรีให้ทุกคนย้ายออกได้ แต่ก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ย้ายออก อาจเป็นเพราะมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ แต่พยาบาลเหล่านี้ต้องขึ้นเวรกันหนักมาก เรียกว่าต้องต่อเวรกันเลย บางคนไม่ได้กลับบ้านเป็นเดือนๆ ก็มี ต้องมานอนเฝ้าที่โรงพยาบาล และส่วนตัวก็มีลูกศิษย์ค่อนข้างมากที่อยู่ในพื้นที่ ลูกศิษย์ก็จะเล่าให้ฟังตลอดว่าเป็นอย่างไร
O ช่วงไหนที่ถือว่าวิกฤติที่สุด?
ช่วงปี 2548-2549 ถือว่าพยาบาลขาดแคลนเป็นจำนวนมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขยายตัวของประชากร โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ความต้องการพยาบาลของสถานพยาบาลก็มีหลายระดับ ทั้งปฐมภูมิซึ่งก็คือสถานีอนามัยกับโรงพยาบาลชุมชน และระดับทุติยภูมิ คือโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ทั้งรัฐบาลและเอกชน ทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ
O ทำไมจึงเลือกเปิดคณะพยาบาลที่ ม.อ.ปัตตานี ทั้งๆ ที่นราธิวาสก็มีมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และยะลาก็มีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอยู่แล้ว?
เราคิดว่าจะได้เป็นช่องทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยเด็กในสามจังหวัดให้ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ก่อนที่จะตัดสินใจผู้บริหารก็มีข้อมูลระดับหนึ่ง และตอนนี้ก็พยายามทำความเข้าใจว่าทำไมจะต้องไปเปิดที่ปัตตานีด้วย เพราะที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา สถานที่ตั้ง ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งมีคณะพยาบาลศาสตร์เช่นกัน) ก็สามารถรองรับเด็กจากสามจังหวัดได้อยู่แล้ว แต่ในปัจจุบันถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นนักศึกษามุสลิมที่เรียนคณะพยาบาลมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น และเป็นเด็กใต้ถึง 97 เปอร์เซ็นต์ ส่วนภาคอื่นมีมาเรียนน้อยมาก
เราก็ไปดูต่อในเรื่องของการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่าเด็กจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีไม่ถึงครึ่งที่เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และตัวเลขที่น่าสนใจมากที่มีการวิเคราะห์มาก่อนที่จะมีนโยบายการผลิตนักศึกษาพยาบาล 3,000 คน ปรากฏว่าในกลุ่มนั้นบางคนเรียนจบระดับปริญญาตรีแล้ว แต่ไม่มีงานทำ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญมาก คือเรียนจบแต่ไม่มีงานทำ บางคนอายุถึง 30 ปีก็ยังสนใจมาสมัครเรียนพยาบาล เราก็เลยได้คิดว่าพยาบาลเป็นวิชาชีพที่จบแล้วมีงานทำแน่นอน และการที่ตั้งใน ม.อ.ปัตตานีนั้น แน่นอนจะทำให้เด็กไม่ข้ามไปเรียนที่อื่น ซึ่งน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง และจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กมาเรียนมากขึ้น
สิ่งที่จะได้เปรียบตามมาก็คือ ถ้าเด็กที่เป็นมุสลิมหรือว่าไทยพุทธก็ตาม สามารถสื่อสารด้วยภาษาอาหรับได้ ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาด ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนติดต่อมาตลอดว่าอยากได้พยาบาลที่พูดภาษาอาหรับได้ เพราะว่าตอนนี้คนอาหรับมารักษาในประเทศไทยมีถึงปีละ 2-3 ล้านคน โรงพยาบาลเอกชนจึงต้องการพยาบาลที่พูดภาษาอาหรับได้ไปทำงาน คิดว่าคงเป็นโอกาสเลือกของเด็กในภาคใต้มากขึ้น ถ้าเขาได้มีโอกาสเลือกเรียนพยาบาล มีโอกาสได้ทำงาน และมีโอกาสเลือกไปต่างประเทศจากการเรียนในบ้านเกิดของตัวเอง น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
O วิธีการสอบคัดเลือกจะใช้ระบบปกติหรือไม่?
คงต้องมีหลายวิธี และต้องพยายามให้โอกาสหลายๆ อย่าง โดยจะต้องมาพิจารณาในรายละเอียดกันอีกที แต่หลักการทำงานของเรานั้นต้องการให้ชุมชนมีส่วนร่วม ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้น เราก็ประสานงานกับ ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) อยู่ระดับหนึ่ง
ในส่วนของ ศอ.บต.นั้นเราต้องขอบคุณเป็นอย่างสูง และคงจะทราบว่ามีแผนเปิดคณะพยาบาลมาตั้งแต่ปี 2551 แล้ว แต่ไม่มีคนมาสมัครเป็นอาจารย์และบุคลากร แล้วก็มีเหตุการณ์ยิงรถตู้สายเบตง–หาดใหญ่เข้าไปอีก ทำให้ชะงักไป
ครั้งนี้ได้ลองพูดคุยกับ ศอ.บต.ให้ทำเรื่องถึงรัฐบาลให้มีการโอนย้ายเข้ามาร เพราะเราขึ้นกับ ก.พ.ร. (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ซึ่งมีระเบียบว่าถ้ามีพนักงานเกษียณอายุ ก็จะไม่ให้มีการบรรจุใหม่ หรือถ้ามีการบรรจุใหม่ก็จะเป็นเพียงพนักงานราชการ ซึ่งคนไม่อยากเป็น แต่อัตราที่กำหนดไว้ 8 อัตราขั้นแรกของอาจารย์พยาบาลเป็นพนักงานราชการทั้งหมด ยกเว้นข้าราชการที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้วจะโอนเข้ามา แต่ก็หาไม่ได้ที่จะมีคนย้ายเข้าไป
คณะพยาบาลเองมีกำลังคนทั้งหมด 11 อัตรา ตอนแรกยังไม่มีคนเลย เราก็เลยต้องหาวิธีจ้างพยาบาลที่อยู่ในจังหวัดและมีประสบการณ์สูง จบปริญญาโท มีคุณวุฒิที่จะเป็นอาจารย์ได้ ถ้าเกิดให้โอกาสเขาสามารถโอนย้ายมาได้ มันก็จะมีอัตรากำลังคนและสามารถเปิดคณะพยาบาลได้เร็วขึ้น เรื่องนี้ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ประสานไปยัง ศอ.บต. และ ครม. (คณะรัฐมนตรี) ก็อนุมัติเรียบร้อยแล้วให้สามารถโอนย้ายได้
O การเปิดคณะใหม่แบบนี้ใช้งบประมาณสักเท่าไหร่?
ในเรื่องของงบประมาณตอนนี้ยังบอกไม่ได้ เพราะงบประมาณมาเป็นระยะๆ การจะเปิดคณะพยาบาลมันต่างจากคณะอื่นนิดหน่อย คือการจะเปิดได้เราต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เพราะพยาบาลเองมาเป็นอาจารย์เลยไม่ได้ ต้องมีประสบการณ์สอนอย่างน้อย 1 ปี ฉะนั้นเราได้พยาบาลประจำการมาแล้ว จะต้องมาเรียนรู้การเป็นอาจารย์พยาบาลอีก 1 ปีเป็นอย่างน้อย เราจึงคิดว่าจะสามารถเปิดรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2554 ตอนนี้เราได้มาแล้ว 7 อัตรา และกำลังเปิดรับอีก 2 อัตรา
ถ้าถามว่างบประมาณต้องใช้อะไรบ้าง ก็ตอบได้ว่าต้องใช้ในการสร้างคน งบประมาณในการเตรียมเตียง พื้นที่ ซึ่งต้องขอต่อสภาพยาบาล การที่เราจะผลิตพยาบาลนอกจากเตรียมเรื่องคนแล้ว ยังต้องเตรียมสถานที่ให้พร้อม ซึ่งเป็นปัจจัยเกื้อหนุน เพราะการฝึกนักศึกษาพยาบาลเราต้องฝึกในห้องปฎิบัติการให้มีความพร้อมก่อนจะออกไปฝึกกับคนไข้จริง มันจะไม่เหมือนกับวิชาอื่น
ยกตัวอย่างเช่นครู เขาฝึกในห้องเรียนที่ไม่ได้มีผลต่อชีวิต ความเป็นความตาย แต่นักศึกษาพยาบาลต้องไปฝึกในสถานการณ์ที่จริง กับคนไข้จริงๆ ฉะนั้นก่อนที่จะลงไปจริงต้องฝึกในสถานการณ์จำลองให้เชี่ยวชาญเสียก่อน ซึ่งสถานการณ์จำลองนั้นใช้งบประมาณพอสมควร ทั้งการซื้อหุ่น การเตรียมอุปกรณ์ที่เหมือนโรงพยาบาลจำลอง ต้องมีความพร้อม มีความเข้าใจ เช่นการฉีดยา การให้อาหาร เจาะเลือด กิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนเพื่อให้สภาพยาบาลมาตรวจ ถ้าไม่ผ่านก็ไม่สามารถเปิดได้ และในระยะเวลา 4 ปีที่นักศึกษาเรียนนั้น ทางสภาพยาบาลจะมาตรวจทุกๆ ปี
ด้วยเหตุนี้การใช้งบประมาณปีแรกคงจะยังไม่มากเท่าไหร่ แต่ปีถัดไปต้องเพิ่มมากขึ้นในการเตรียมห้องแล็บ แต่ก็ต้องทำเรื่อยไป โหมทีเดียวไม่ได้ และเรายังต้องของบประมาณไว้สร้างตึกด้วย เพราะมันต้องมีความพร้อม แต่ตอนนี้สถานที่จะทำงานยังไม่มีเลย กำลังรอที่ของคณะวิทยาการสื่อสารในวิทยาเขตปัตตานี ซึ่งกำลังจะย้ายไปตึกใหม่ ทางวิทยาเขตปัตตานีจะให้พื้นที่ตรงนั้น แต่ก็ต้องใช้เวลาในการจัดสถานที่ เรื่องเหล่านี้เป็นงบประมาณทั้งนั้น
O ทิศทางของ ม.อ.ปัตตานี จะเป็นอย่างไรหลังจากเปิดคณะพยาบาล ซึ่งเป็นสายวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นคณะแรก?
เดิมวิทยาเขตปัตตานีเน้นทางสังคมศาสตร์ แต่หลังจากนี้จะขยายไปในเรื่องของวิทยาศาสตร์สุขภาพ ก็จะมีคณะพยาบาลศาสตร์เป็นคณะแรก ถ้าไม่มีอุปสรรคใดๆ ปีการศึกษา 2554 ก็น่าจะเปิดได้ และเชื่อว่าคณะเภสัชศาสตร์ รวมถึงคณะแพทย์คงจะตามมาในอนาคต