พ่อเมืองนราฯคนใหม่ “ธนน เวชกรกานนท์” กับ 4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและสร้างสันติสุข
เลขา เกลี้ยงเกลา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2552 ซึ่งนับเป็นปีงบประมาณใหม่หลังผ่านฤดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปี ตำแหน่ง “พ่อเมือง” ของสามจังหวัดชายแดนใต้มีการปรับเปลี่ยน 2 ตำแหน่ง หนึ่งคือผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา จาก นายธีระ มินทราศักดิ์ เป็น นายกฤษฎา บุญราช สองคือผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส จาก นายการัณย์ ศุภกิจวิเลขการ เป็น นายธนน เวชกรกานนท์
สำหรับผู้ว่าฯกฤษฎา เคยเปิดใจกับ “ทีมข่าวอิศรา” มาแล้วถึง 2 ครั้ง คราวนี้จึงเป็นคิวของ ผู้ว่าฯธนน แห่งบางนราบ้าง...
นายธนน เป็นลูกหลานชาวยะลา จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศบ.รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต (พัฒนาสังคม) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รับราชการครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2522 เคยผ่านตำแหน่งสำคัญๆ มามากมาย อาทิ ปลัดจังหวัดราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และก้าวขึ้นเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในปัจจุบัน
“เศรษฐกิจก้าวหน้า นราฯน่าอยู่ สู่สันติสุข” คือวิสัยทัศน์ที่ ผู้ว่าฯธนน กำหนดเป็นเป้าหมายในการบริหารจังหวัด ด้วยการเน้นพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการพัฒนาสังคม การศึกษา คุณภาพชีวิต และสร้างสันติสุข
ด้วยความที่ ผู้ว่าฯธนน คลุกคลีอยู่กับพื้นที่มาตั้งแต่เป็นรองผู้ว่าฯ ทำให้เขามีความสัมพันธ์อันดีกับทุกภาคส่วนในจังหวัด และได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดนราธิวาสให้สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลและศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
ผู้ว่าฯธนน เล่าว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดเป็นการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาตั้งแต่ปี 2553-2556 ใน 4 ด้านหลักคือ
1.ยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2.ยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่
3.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการผลิตภาคเกษตร
และ 4.ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการบริการและการค้าระหว่างประเทศ
เริ่มจากยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผู้ว่าฯธนน อธิบายว่า จะเน้นเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาความยากจนให้ได้อย่างยั่งยืน
“เรื่องการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาผมได้ทำงานคลุกคลีกับผู้นำศาสนาและสถาบันปอเนาะ สิ่งที่สัมผัสได้คือช่องว่างของเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง แม้รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแต่ก็ไม่เป็นรูปธรรมพอ ฉะนั้นจึงต้องปรับตรงจุดนี้”
เรื่องคุณภาพชีวิตยังรวมไปถึงงานด้านสาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่ง ผู้ว่าฯธนน บอกว่า ได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้และขยายผลจากโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆ ซึ่งก่อประโยชน์อย่างมากมายให้กับคนในพื้นที่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา
ส่วนยุทธศาสตร์พัฒนาและเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่ ผู้ว่าฯธนน อธิบายว่า คือการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนเมืองและหมู่บ้านให้มีส่วนร่วมและช่วยตนเองได้ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน
“โจทย์ของเราคือทำอย่างไรให้ความสงบเกิดขึ้น การมีทหารมาช่วยดูแลแม้จะดี แต่สักวันหนึ่งทหารก็ต้องจากไป ฉะนั้นทางออกแบบยั่งยืนคือพี่น้องในพื้นที่ต้องมีความเข้มแข็ง ดูแลตัวเองและชุมชนได้เป็นพื้นฐาน จังหวัดจึงสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนด้วยโครงการพนม. (โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับหมู่บ้านจังหวัดชายแดนภาคใต้) โครงการพนพ. (โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง) และงบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์)”
อย่างไรก็ดี ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางภาษา ศาสนา และวัฒนธรรมเช่นนี้ การจะดำเนินโครงการพัฒนาค่อนข้างมีความอ่อนไหว เพราะแต่ละคน แต่ละกลุ่มอาจมีความคิดความเชื่อแตกต่างกัน ผู้ว่าฯธนน จึงสนับสนุนงานด้านการปรับความคิดความเชื่อ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา ชาติพันธุ์ของคนทุกวัฒนธรรม เพื่อให้เกิดความเคารพและยอมรับซึ่งกันและกัน
ปัญหาสำคัญของเมืองนราฯอีกประการหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ไม่มีความสันติสุข คือเรื่องยาเสพติด ผู้ว่าฯธนน กล่าวถึงปัญหานี้ว่า นราธิวาสเป็นปลายทางของยาเสพติด ขบวนการค้ายาเสพติดจะส่งยาไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แล้วลักลอบนำกลับเข้ามาขายในพื้นที่อีกที การสกัดจับตามด่านที่มีอยู่ 3 ด่านของจังหวัดไม่เพียงพอ เพราะการเดินทางข้ามมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านสามารถเข้ามาได้หลายทาง ขบวนการค้ายาเสพติดจะใช้เรืออย่างอื่นที่ไม่ใช่เรือข้ามฟากขนยา ใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็ถึงฝั่งไทย การป้องกันจึงทำได้ยากมาก ฉะนั้นต้องวางมาตรการแบบบูรณาการ คือทำงานร่วมกันทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ และประเทศเพื่อนบ้าน
แต่กระนั้น การจะป้องกันปัญหายาเสพติดให้ได้แบบยั่งยืนต้องแก้ที่ "ดีมานด์" หรือ "ความต้องการ" เพราะเมื่อใดที่ไม่มีความต้องการ ยาเสพติดก็แพร่ระบาดไม่ได้ และเคล็ดลับของการต่อสู้ยาเสพติดให้ได้แบบชะงัดก็คือ “กีฬา” โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” ซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้จากทีมนราธิวาสเอฟซี เพิ่งได้รับเหรียญทองจากการแข่งขันกีฬาแห่งชาติครั้งล่าสุดที่ จ.ตรัง และยังเป็นแชมป์ฟุตบอลดิวิชั่น 2 ของภาคใต้ในฤดูกาลล่าสุดด้วย
“ฟุตบอลเป็นกีฬามวลชนที่สามารถเปิดโอกาสให้เด็กๆ ทุกคนได้ร่วมเล่น ผมเน้นพัฒนาทักษะให้ดูบอลเป็น เล่นเป็น และรู้กติกา เพราะกีฬาฟุตบอลในปัจจุบันหากเก่งจริงก็สามารถเล่นเป็นอาชีพได้ ที่ผ่านมาชาวนราธิวาสนิยมติดตามชมฟุตบอลกันอย่างล้นหลาม เรามีนักฟุตบอลเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีอุปกรณ์ กรรมการ และผู้ตัดสินที่รู้กติกาจริงๆ ฉะนั้นต้องส่งเสริมในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งฝึกฝนด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ ให้นักฟุตบอลทีมนราธิวาสเรียนฟรี พร้อมพัฒนามุ่งสู่กีฬามหาวิทยาลัย และให้เยาวชนในพื้นที่มีโอกาสติดทีมชาติเป็นนักฟุตบอลที่มีอนาคตด้วย” ผู้ว่าฯธนน กล่าว
นอกจากยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างสันติสุขในพื้นที่แล้ว นราธิวาสยังมียุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ คือส่งเสริมการผลิตภาคเกษตรด้วย
“ผมสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างมีคุณภาพแบบครบวงจร โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต เพิ่มทักษะให้กับเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ ตลอดจนกลุ่มผู้ผลิตสินค้าในชุมชน เน้นการแปรรูปและการตลาด ขยายฐานการผลิตและการตลาดให้หลากหลายเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมแปรรูป สร้างโอกาสและการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกร ส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการลงทุนเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น” ผู้ว่าฯธนน อธิบาย และว่า
ในส่วนของผลผลิตภาคเกษตร นอกจากผลไม้ที่มีอยู่แต่เดิมแล้ว นราธิวาสยังเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกปาล์มน้ำมันอย่างมากด้วย
“ที่ผ่านมาทางจังหวัดจึงส่งเสริมให้จัดตั้งโรงงานผลิตปาล์มน้ำมันในนิคมอุตสาหกรรมบาเจาะ อ.บาเจาะ ซึ่งได้เปิดดำเนินการแล้ว มีกำลังการผลิตมาก แต่ผลผลิตที่เข้ามายังมีน้อย ฉะนั้นในปี 2553 ผมจะส่งเสริมให้มีการปลูกปาล์มประมาณ 3 หมื่นไร่ พร้อมๆ ไปกับการปรับปรุงนาร้าง ซึ่งได้ปรับปรุงไปแล้วกว่าหมื่นไร่ ตั้งเป้าว่าในปี 2553 จะปรับปรุงเพิ่มอีก 8 พันไร่”
ผู้ว่าฯธนน บอกว่า การทำงานเช่นนี้เป็นการระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่ง พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาคที่ 4 ก็ให้ความสนใจและให้การสนับสนุน โดยนำอีเอ็มบอล (การนำจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติมาพัฒนาเป็นปุ๋ยชีวภาพ) มาช่วยทำให้น้ำสะอาดด้วย
เมื่อส่งเสริมให้เพิ่มผลผลิต ก็ต้องหาตลาดรองรับ ซึ่งนราธิวาสเป็นเมืองชายแดน ผู้ว่าฯธนน จึงไม่ได้มองแค่ตลาดภายในประเทศ แต่มองไปถึงตลาดระหว่างประเทศด้วย และนั่นคือที่มาของยุทธศาสตร์การส่งเสริมการบริการและการค้าระหว่างประเทศ
“ผมจะเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ด่านพรมแดนให้มีความพร้อมสำหรับการค้าขายและการบริการ พร้อมๆ กับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร โดยจะเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ”
“ปีที่แล้วสินค้าโอทอปของนราธิวาสได้รับโอกาสไปจัดแสดงในต่างประเทศหลายแห่ง เน้นประเทศมาเลเซียเป็นหลัก ด้วยความที่มีชายแดนติดกันและมีด่านพรมแดนถึง 3 ด่าน ทั้งด่านบูเก๊ะตา ด่านสุไหงโก-ลก และด่านตากใบ ตอนนี้กำลังคิดว่าทำอย่างไรจะให้มีสะพานมิตรภาพที่ด่านตากใบเหมือนกับที่สุไหงโก-ลก และบูเก๊ะตา (อ.แว้ง) โดยเร็ว เพื่อให้เม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ ไม่ใช่เข้ามาแล้วต้องเลยไปหาดใหญ่ (จ.สงขลา)”
เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลเพิ่งอนุมัติงบประมาณกว่า 400 ล้านบาทเพื่อปรับปรุงสนามบินนราธิวาสและต่อเติมทางวิ่ง (รันเวย์) ให้กว้างขึ้น เพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ระดับแอร์บัส ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้ระบบโลจิสติกส์ (การขนส่งทั้งคนและสินค้า) ของนราธิวาสได้มาตรฐานระดับประเทศ
“ท่านกงสุลใหญ่ที่ดูแลเมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย บอกว่าเมื่อสนามบินนราธิวาสปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว จะสามารถรองรับพี่น้องมุสลิมจากมาเลเซียที่ต้องการเดินทางไปทำฮัจญ์ได้มาก เพราะการใช้สนามบินที่นี่จะลดค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปถึงกัวลาลัมเปอร์ (เมืองหลวงของมาเลเซีย) ทั้งยังเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศด้วย”
แม้จะมียุทธศาสตร์ที่ดีถึง 4 ด้าน แต่ ผู้ว่าฯธนน ก็ไม่ลืมที่จะบอกว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้แผนงานและยุทธศาสตร์ทั้งหมดก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ คือความร่วมแรงร่วมใจจากทุกคนทุกภาคส่วนในจังหวัด ฉะนั้นการสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง...
และนั่นจะเป็นบทพิสูจน์การทำงานในปี 2553 ของผู้ว่าฯนราธิวาส ธนน เวชกรกานนท์!