“ทวี สอดส่อง” กับนโยบายตั้งศูนย์ข่าวในเรือนจำ ยกระดับความยุติธรรมแดนใต้
เลขา เกลี้ยงเกลา
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
บทบาทของกระทรวงยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นับเป็นบทบาทที่หลายฝ่ายจับตามอง เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า “ความยุติธรรม” คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่คลี่คลายหรือบานปลายมากยิ่งขึ้น
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ประชาชนตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่างรู้จักกันดีกับชื่อ ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ตั้งแต่สมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ต่อเนื่องถึงรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่มักลงพื้นที่อยู่เป็นประจำเพื่อขับเคลื่อนงานด้านความเป็นธรรม
ล่าสุด ชาญเชาวน์ ขยับไปนั่งเป็นอธิบดีกรมคุมประพฤติ ขณะที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่ดูแลปัญหาภาคใต้เปลี่ยนตัวเป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ผู้โด่งดัง น่าสนใจว่านโยบายของเขากับนโยบายของกระทรวงในจังหวะก้าวต่อไปจะเป็นไปในทิศทางใด...
เมื่อเร็วๆ นี้ พ.ต.อ.ทวี ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมการนโยบายและประสานงานกระบวนการยุติธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำกับดูแลงานยุทธศาสตร์กระทรวงยุติธรรม งานด้านประสานนโยบายในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้ และงานกำกับดูแลศูนย์ประสานงานราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อมอบนโยบายแก่เจ้าหน้าที่และผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมปลุกเร้าให้เร่งสร้างความเข้าใจและเชื่อมั่นแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ของกระทรวง เพราะ “คนยุติธรรม” จักต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน
“ในพื้นที่นี้มีข้าราชการของกระทรวงยุติธรรมปฏิบัติงานอยู่เกือบ 2 พันคน จากการสำรวจพบว่าหน่วยงานที่ชาวบ้านให้ความไว้วางใจมากเป็นอันดับ 1 คือ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ อันดับ 2 คือกรมบังคับคดี นับเป็นปรากฏการณ์ที่ดีที่การปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในระดับที่น่าพอใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่กระทรวงยุติธรรมต้องรับผิดชอบก็คือ การไม่ปล่อยให้สิทธิและเสรีภาพของพี่น้องในพื้นที่ถูกละเมิด ขณะเดียวกันก็ต้องอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้นให้ได้”
ในมุมมองของ พ.ต.อ.ทวี ซึ่งผ่านงานจากหน่วยงานด้านความมั่นคงมาอย่างโชกโชน ทั้งกองปราบปราม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำให้เขาพุ่งความสำคัญไปที่ “ผู้สูญสิ้นอิสรภาพ” เพื่อสร้างความรู้สึกที่เป็นธรรมจากกระบวนการตรวจค้น จับกุม ซึ่งเป็นจุดอ่อนไหวที่สุดจุดหนึ่งในปฏิบัติการของฝ่ายความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“จากจำนวนผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมคิดว่าเราน่าจะใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ในการเก็บข้อมูลและสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาไปสู่การกำหนดมาตรฐานการจับกุม และแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นหัวใจที่ทำให้เกิดศรัทธาในการแก้ปัญหาของรัฐ”
“ด้วยเหตุนี้ผมคิดว่าแต่ละเรือนจำควรมีศูนย์ข่าวประจำ โดยทางกระทรวงมีงบประมาณสนับสนุนกว่า 50 ล้านบาท ผมเชื่อมั่นว่าถ้าเรามีศูนย์ข่าวด้านความมั่นคงในเรือนจำ จะเป็นเรื่องที่ดีและได้ประโยชน์ เพราะจะได้รับฟังข้อมูลที่เป็นจริงจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็ต้องติดตามว่าผู้ที่ถูกจับโดยหมาย พ.ร.ก. (หมายที่ออกโดยอาศัยอำนาจจากพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) เมื่อถูกปล่อยตัวออกไปแล้วมีทัศนคติดีขึ้นหรือไม่ โดยใช้คลินิกยุติธรรมเป็นเครือข่ายอยู่ในพื้นที่เพื่อรองรับภารกิจนี้ และช่วยเหลือประชาชนให้ได้มากที่สุด”
พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อนำมาสู่การปรับแผนปฏิบัติของภาครัฐ จะทำให้สถานการณ์ในพื้นที่สงบลงได้ในบั้นปลาย
“สิ่งสำคัญที่บุคลากรของกระทรวงต้องตระหนักก็คือ ต้องรู้จักและเข้าใจพื้นที่ ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ วิถีวัฒนธรรม รู้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีสำคัญๆ ที่เกิดขึ้น ร่วมกันคิดและปฏิบัติให้เกิดการต่อยอด ให้ได้รับเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าได้รับความยุติธรรมจริงๆ เพราะความยุติธรรมจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น”
“ขณะเดียวกันก็ต้องเปิดโลกทัศน์ของบุคลากร เช่น การส่งไปดูงานเรือนจำในประเทศตะวันออกกลางหรือประเทศใกล้เคียงกับเราที่มีประชากรมุสลิมจำนวนมาก เพื่อนำจุดแข็งมาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่ ซึ่งน่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นได้”
พ.ต.อ.ทวี ยังบอกด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงยุติธรรมได้รับงบประมาณสำหรับการจัดซื้อรถยนต์กันกระสุนจำนวน 5 คัน มอบให้สำนักงานยุติธรรมจังหวัด จังหวัดละ 1 คันเพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ และให้แต่ละหน่วยงานจัดบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการป้องกันตัวเองและการใช้อาวุธ เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่สามารถป้องกันตนเองได้ ก็จะช่วยเหลือคนอื่นได้
ข้อเสนอจากพื้นที่
ด้านข้อเสนอของหน่วยงานสังกัดกระทรวงยุติธรรมในพื้นที่ เพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงนำไปแก้ไขผลักดัน อาทิ เรือนจำจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีข้อเสนอให้กระทรวงพิจารณาคือ
1.ขอสนับสนุนกำลังเจ้าหน้าที่และยานพาหนะเพื่อควบคุมผู้ต้องหาไปศาล ป้องกันการแย่งชิงตัวผู้ต้องหาหรือเหตุร้ายแรงอื่นๆ
2.ให้แยกขังผู้ต้องหาคดีความมั่นคงกับผู้ต้องหาคดีอื่นๆ เพื่อไม่ให้มีการถ่ายทอดความคิดที่ผิดๆ เพิ่มขึ้น โดยจัดสร้างห้องควบคุมเพิ่ม
3.เพิ่มอุปกรณ์เสริมที่สำคัญ เช่น กล้องวงจรปิด ซึ่งต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีในการใช้งานและการควบคุม
4.จัดให้มีการฝึกอาชีพและให้การศึกษาแก่ผู้ต้องขังอย่างเร่งด่วน มิฉะนั้นเมื่อผู้ต้องขังพ้นจากเรือนจำออกไป จะไม่มีงานทำและอาจกระทำความผิดซ้ำจนต้องหวนกลับเข้ามายังเรือนอีก
5.จัดให้มีความพร้อมด้านการรักษาพยาบาลผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยอย่างทันท่วงที และมีเวชภัณฑ์รวมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะประจำในทุกเรือนจำ
ส่วนสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนของแต่ละจังหวัด เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเฉพาะของเยาวชนมุสลิมที่เข้ามาในสถานพินิจฯ เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและศาสนา ขณะที่ปัญหาของเยาวชนในพื้นที่พบว่า มีผู้เสพยาเสพติดเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ฉะนั้นทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันดูแลและเป็นหูเป็นตามากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
ทั้งหมดแม้จะเป็นความเคลื่อนไหวเล็กๆ ของหน่วยงานอำนวยความยุติธรรม แต่ต้องบอกว่าเป้าหมายไม่เล็ก...เพราะมันคือสันติสุขที่ชายแดนใต้!