ประเวศ วะสี...เมื่อคลื่นแห่งน้ำใจก่อเกิดที่ชายแดนใต้
สมศักดิ์ หุ่นงาม
รอซิดะห์ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ข่าวสารจากชายแดนใต้ส่วนใหญ่มักมีแต่ข่าวร้ายๆ หากจะมีข่าวดีปะปนบ้างในแง่ของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข คนที่เสพสื่อก็มักไม่ค่อยเชื่อถือ เนื่องจากถูกข่าวร้าย “ผลิตซ้ำ” และแย่งชิงพื้นที่การรับรู้ไปมากกว่า ฉะนั้นการมองสถานการณ์ในมุมบวก ในมุมที่เป็นไปได้จริง น่าจะช่วยเยียวยาปัญหานี้ได้บ้าง...
เมื่อวันก่อน ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในฐานะประธานกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ได้เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาอนุกรรมการกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ และมอบประกาศเกียรติคุณแก่คณะกรรมการกองทุนสมานฉันท์แห่งชาติ พร้อมกับส่งมอบงานให้กับมูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ อันถือเป็นการปิดฉาก "กองทุนสมานฉันท์" ซึ่งตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็ถือเป็นการนับหนึ่ง "มูลนิธิเพื่อการเยียวยาและสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้" ที่จะรับหน้าที่ต่อไป
ทั้งนี้ มี นายภาณุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบจำนวนกว่า 200 คนเข้าร่วมการประชุม
กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ โดยตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.2547 ถึง 28 ม.ค.2552 มีผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายทั้งเสียชีวิตและบาดเจ็บ ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายทั้งสิ้นจำนวน 13,500 คน ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากกองทุนฯ จำนวน 4,857 คน แยกเป็น จ.ปัตตานี 1,617 ราย จ.ยะลา 1,203 ราย จ.นราธิวาส 2,037 ราย
นอกจากนั้น กองทุนสมานฉันท์แห่งชาติยังสนับสนุนโครงการสร้างความสมานฉันท์ในชาติอีกหลายโครงการ เช่น โครงการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดอุทกภัย, โครงการเกี่ยวกับหญิงหม้าย เด็กกำพร้า, โครงการศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์, โครงการภาคีองค์กรสื่อเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์ดับไฟใต้, โครงการศูนย์ข่าวอิศรา”โต๊ะข่าวภาคใต้” และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นต้น
ศ.นพ.ประเวศ กล่าวว่า การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมามีการทำงานที่ชัดเจนและเป็นแนวทางเดียวกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา มีประชาชนในพื้นที่และในชุมชนช่วยกันขับเคลื่อนการทำงานมากยิ่งขึ้น
“ในสังคมปัจจุบัน ประชาชนต้องอยู่ด้วยการเยียวยาร่วมกัน ไม่ควรอยู่แบบสังคมเห็นแก่ตัว และการที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและประชาชนในพื้นที่ร่วมมือกันสนับสนุนซึ่งกันและกันในทุกเรื่องและอยู่ร่วมกันด้วยสันติ ทำด้วยใจ ผมเชื่อว่าในระยะยาวจะเกิดความสันติสุขได้อย่างยั่งยืน”
โอกาสนี้ ศ.นพ.ประเวศ ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ทีมข่าวอิศรา” ถึงทิศทางการดับไฟใต้ และการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เพื่อสถาปนาสันติสุขอย่างยั่งยืนทั้งในพื้นที่ชายแดนใต้และประเทศไทย
“การที่เราจะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งได้นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องสร้างฐานของชุมชนให้เข้มแข็งเสียก่อน เพราะไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็จะล้มเหลว และการจะสร้างฐานของชุมชนให้เข้มแข็งได้ คนในชุมชนต้องมีความเป็นประชาธิปไตย”
ศ.นพ.ประเวศ ยังยกตัวอย่าง “กองทุนสมานฉันท์” ซึ่งแม้ถึงวันหนึ่งเม็ดเงินจะหมดลง แต่การร่วมทำกิจกรรมดีๆ ยังไม่จบ นั่นหมายถึงการจะสร้างฐานให้ชุมชนหรือท้องถิ่นเข้มแข็ง ดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่ใช้เงินอย่างเดียว แต่ต้องสร้างทุนทางสังคมให้เกิดขึ้น
“กองทุนมันก็มีเงินจำกัด วันหนึ่งก็หมดไป แต่ว่างานดีๆ แบบนี้มันต้องต่อเนื่อง ขยายไปในรูปแบบของมูลนิธิ เพราะมูลนิธิเป็นเครื่องมือที่คนมาร่วมกันได้ และทำงานให้ขยายมากขึ้นได้ ยกตัวอย่างอาสาสมัคร 150 คนที่มาร่วมกัน เปรียบเสมือนทุนทางสังคมอันมโหฬาร ทุนทางสังคมถือว่าสำคัญที่สุด สำคัญกว่าเงินอีก เพราะเงินมันซื้อไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการรวมตัวกันเข้ามาเป็นทุนทางสังคม”
“ตอนที่ กอส.เข้ามาในพื้นที่ใหม่ๆ ในปี 2548 นั้น ถือว่าเครียดมาก เต็มไปด้วยความรู้สึกรุนแรงและความแค้นต่อสิ่งที่เกิดขึ้น แต่พอมาฟังวันนี้ มันมีคลื่นทางน้ำใจเป็นจำนวนมาก เพราะธรรมชาติของคนนั้นมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจ และมันได้เจริญงอกงามขึ้นมา ยกตัวอย่างในช่วงเหตุการณ์สึนามิ คลื่นน้ำใจใหญ่กว่าคลื่นสึนามิเสียอีก และผมเองก็มีความมั่นใจว่าถ้าเรายังทำงานอย่างนี้ต่อไป ไม่ได้คำนึงถึงอุดมการณ์ว่าใครกำลังคิดอะไร ใครเป็นฝ่ายไหน ไม่คิดทั้งนั้น เพราะเราเป็นเพื่อนมนุษย์ และทำการเยียวยาจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน ผมคิดว่าเราจะสามารถสร้างสังคมสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง”
“การเยียวยาเป็นสิ่งที่ช่วยประคับประคองจิตใจในระยะวิกฤติ ให้ผู้ได้รับผลกระทบสามารถผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ ตัวเงินที่ช่วยเหลืออาจจะไม่มาก แต่เรื่องที่ใหญ่กว่าเงินนั้นเรื่องใจของคนที่เขาไปช่วย ซึ่งมันจะออกมาทางสายตา ทางคำพูด ทางหน้าตา ทางการเคลื่อนไหว ถือเป็นภาษากายที่สัมผัสได้ มันทำให้เขามีจิตใจที่บอกกับตัวเองว่าชีวิตยังพออยู่ได้ เพราะว่ามีคนเข้าใจ มีคนเห็นใจ”
"การเยียวยานั้นถ้าเราทำเต็มพื้นที่ สนับสนุนคนเล็กคนน้อย การรวมกลุ่มของคนที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและอาชีพ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องการศึกษา เรื่องวัฒนธรรม ให้ในพื้นที่ได้เกิดสิ่งเหล่านี้ จะทำให้พื้นที่เกิดความสันติสุข เพราะการพัฒนาที่ละเอียดอ่อนมันทำไม่ได้จากที่ใหญ่ๆ”
“ยกตัวอย่างร่างกายของคนเรานั้น มันมีความซับซ้อนและละเอียดมาก เกิดมาจากเซลล์เพียงเซลล์เดียว จากหนึ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ และเกิดมาเป็นตัวเรา ซึ่งถือว่าซับซ้อนมาก เพราะฉะนั้นในความซับซ้อนแบบนี้ เราจะใช้อำนาจใหญ่ๆ ลงมาทำมันทำไม่ถูก ก็ต้องเริ่มจากจุดเล็กขึ้นไป”
“นี่คือสิ่งที่สังคมไทย รัฐบาล และทุกฝ่ายน่าจะต้องเข้าใจ ต้องสนับสนุนประชาชนคนเล็กคนน้อยให้รวมตัวกันจากกลุ่มเล็กๆ ที่เขาจะสามารถดูแลมันได้ จัดการมันได้ ถ้ามันใหญ่เกิน เขาก็ไม่สามารถจัดการมันได้ ต้องเป็นจุดเล็กๆ ที่เขาควบคุมมันได้ เขาทำเองได้ เขาอาจจะมีทุนเล็กๆ ทุนละ 5,000 บาท แล้วมารวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มสตรีมาทำเป็นกลุ่มอาชีพ ผมคิดว่าถ้ามันมีตรงนี้แล้วมันขยายขึ้น และถ้าขยายเต็มประเทศ ประเทศของเราก็จะเปลี่ยน”
“เดิมมันเป็นเรื่องของอำนาจ ที่เรียกว่า top down จากข้างบนลงมาทั้งสิ้น ซึ่งมันก็ทำไม่ได้ การพัฒนานั้นต้องพัฒนาจากข้างล่าง ต้องเจริญขึ้น ไม่ใช่เจริญลง ชุมชนเข้มแข็งต้องมีการรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำของคนในทุกพื้นที่ ในทุกองค์การและในทุกเรื่อง แล้วเวลาเรารวมตัวกัน มันจะเกิดพลัง และพลังจะเกิดขึ้น เป็นพลัง 5 อย่าง คือ
1. พลังทางปัญญาร่วม ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของทั้งหมดที่มารวมตัวกัน
2. พลังทางสังคม คือจำนวนคนที่มาร่วมกัน
3. พลังทางจิตวิญญาณ เพราะเวลามารวมตัวกัน จะลดความเห็นแก่ตัวลง เห็นแก่ส่วนรวมมากขึ้น
4. พลังทางธรรมชาติ เพราะเวลามารวมตัว ร่วมคิดร่วมทำอะไรด้วยกัน มันจะเกิดผู้นำตามธรรมชาติขึ้นหลายคน มีผู้หญิง ผู้ชาย ซึ่งถ้าตามธรรมชาติแล้วผู้นำจะเป็นผู้หญิง ถ้าเป็นเรื่องอำนาจจะเป็นผู้ชาย
และ 5. พลังของการจัดการ เมื่อมีผู้นำเกิดขึ้นซึ่งเป็นผู้นำตามธรรมชาติ จะดีกว่าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งหรือโดยการแต่งตั้ง มันจะเกิดการทำงานร่วมกัน และมีพลังของการจัดการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาลุล่วงไป
ผู้นำตามธรรมชาติจะมีลักษณะ 5 ประการคือ 1. เป็นคนแก่ส่วนรวม 2. เป็นคนสุจริต 3. เป็นคนมีปัญญา 4. เป็นคนที่สื่อสารกับคนรู้เรื่อง 5. เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป คุณสมบัติเหล่านี้จะเป็นพลังมหาศาล ซึ่งผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งนั้นไม่แน่ว่าจะสร้างพลังอย่างนี้ได้ เพราะว่าเขาจะเห็นแก่คนโดยส่วนรวมหรือเปล่า เป็นคนสุจริตหรือเปล่า เนื่องจากพวกเขาผ่านกระบวนการต่างๆ มา รวมไปถึงการใช้เงินด้วย เราก็รับรองไม่ได้ว่าเขามีคุณสมบัติทั้ง 5 ประการหรือเปล่า”
หมอประเวศ ชี้ว่า กระบวนการจากข้างล่างขึ้นข้างบน จะทำให้เกิดผู้นำตามธรรมชาติร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเวลาเกิดการรวมตัวกันร่วมคิดร่วมทำ กระทั่งเกิดชุมชนเข้มแข็ง ก็จะสามารถพัฒนา 8 เรื่องเข้ามาเชื่อมโยงกันได้ กล่าวคือ
1. เรื่องเศรษฐกิจ แก้ความยากจนได้
2. เรื่องจิตใจ จิตใจดีขึ้น จิตใจสูงขึ้น
3.เรื่องของสังคม เริ่มต้นตั้งแต่ครอบครัว เพราะจะทำให้ครอบครัวแข็งแรงขึ้น
4. เรื่องวัฒนธรรม
5. เรื่องสิ่งแวดล้อม ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ชุมชนก็แย่ เศรษฐกิจก็กระทบ
6. เรื่องสุขภาพ เมื่อสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพก็จะดีขึ้น
7. เรื่องของการศึกษา เป็นเรื่องของการเรียนรู้
และ 8. ประชาธิปไตย คือสิ่งที่บอกมาทั้งหมด
เพราะฉะนั้นเรื่องของชุมชนเข้มแข็งคือยุทธศาสตร์ของประเทศ ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามาสนับสนุน ร่วมคิดร่วมทำในทุกพื้นที่ ทุกองค์กร และทุกเรื่อง หากทำได้ก็จะเกิดพลังอย่างที่ว่า และสามารถพัฒนาอย่างบูรณาการทั้ง 8 เรื่อง ถ้าขยายไปหรือสนับสนุนให้ทุกชุมชนทำแบบนี้ ก็จะเป็นฐานของสังคม
“เหมือนฐานขององค์พระเจดีย์ ถ้าฐานแข็งแรง องค์พระเจดีย์ก็จะมั่นคง แต่ที่ผ่านมาเราไปพัฒนาเหมือนสร้างพระเจดีย์จากยอด มันไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างเสร็จจากยอดมัน เพราะมันก็จะพังลงๆ พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน เมื่อฐานแข็งแรง ฐานก็จะรองรับน้ำหนักข้างบน เพราะฉะนั้นฐานของพระเจดีย์คือชุมชนท้องถิ่น ถ้าคนร่วมมือร่วมคิดร่วมทำกันทั้ง 8 เรื่อง ก็จะเป็นเสมือนฐานของพระเจดีย์ทั่วประเทศ การพัฒนาส่วนบนก็จะง่ายขึ้น แต่ถ้าพยายามจากข้างบน ก็จะไม่มีทางสำเร็จ”
เป็นแนวคิดดีๆ ที่เปี่ยมไปด้วยความหวัง...หวังถึงชุมชนเข้มแข็ง ท้องถิ่นเข้มแข็ง เพื่อประเทศไทยเข้มแข็ง จากราษฎรอาวุโส!