ธุรกิจไม่ใช่เรื่องต้องห้าม ส.ว.ปัตตานีหนุน "เอ็ดดูเคชั่น คอมเพล็กซ์"
สมศักดิ์ หุ่นงาม
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ในปี 2552 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป ประเด็นที่สร้างกระแสความสนใจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้มีเพียงข้อเสนอว่าด้วย “นครปัตตานี” เท่านั้น แต่ยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่นามว่า “ปัตตานี เพลส” เพื่อก่อสร้าง “เอ็ดดูเคชั่น คอมเพล็กซ์” ที่ชายแดนใต้อีกด้วย
โครงการดังกล่าวเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดย บริษัท ดี อาร์ เอส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (DRS DEVELOPMENT CO., LTD) ตัดสินใจระดมทุนราว 500 ล้านบาท ทำโครงการ “ปัตตานี เพลส” ซึ่งก็คือการก่อสร้างศูนย์การค้าและศูนย์กลางการศึกษาขนาดใหญ่บนที่ดินขนาด 10 ไร่ ริมถนนเจริญประดิษฐ์ ต.รูสะมิแล อ.เมืองปัตตานี ห่างจาก ม.อ.ปัตตานี เพียงแค่ 200 เมตร
ในโครงการจะประกอบด้วย IEC หรือ International Education Center เป็นอาคารสูง 5 ชั้นสำหรับบริการด้านการศึกษานานาชาติแห่งใหม่ในภาคใต้ ประกอบด้วย สถาบันทดสอบทางภาษา เช่น TOEFL, IELT และศูนย์ติดต่อประสานงานของมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีโรงแรมระดับ 4 ดาวชื่อ Pattani Hotel (ปัตตานี โฮเต็ล) มี Condotel หรือคอนโดมีเนียมจำนวน 4 อาคาร เพื่อบริการที่พักสำหรับนักศึกษาและบุคคลทั่วไป ทั้งยังมีโฮมออฟฟิศอีก 13 ยูนิตสำหรับเป็นสถานที่ให้บริการของสถาบันกวดวิชา ร้านค้าจำหน่ายอุปกรณ์ทางการศึกษา (Stationary ) และอื่นๆ พร้อมด้วย Hall Outdoor หรือลานกลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรมทางการศึกษา นิทรรศการ และงานแสดงสินค้าอีกด้วย
โครงการที่ว่ากันว่าจะตอกเสาเข็มช่วงต้นปีหน้า และเปิดให้บริการได้ช่วงสิ้นปี สร้างกระแสในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งความเป็นไปได้ และความเหมาะสมของการตั้งศูนย์การค้าขนาดใหญ่ใจกลางเมืองปัตตานี ซึ่งมีวิถีวัฒนธรรมในแบบอิสลาม
วรวิทย์ บารู สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จังหวัดปัตตานี และอดีตอาจารย์จาก ม.อ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ในทีมคณะกรรมการที่ปรึกษาของ "ปัตตานี เพลส" มองโครงการนี้ทั้งในมุมของนักการศึกษา และผู้แทนชาวบ้านสายเลือดมลายูมุสลิม
ธุรกิจไม่ใช่สิ่งต้องห้าม
“โครงการแบบนี้ถ้าไม่แน่จริง คงไม่กล้าลง ไม่กล้าที่จะคิด ไม่กล้าที่จะทำ โครงการแบบนี้ถ้าทำสำเร็จมันก็เหมือนกับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เหมือนกัน แต่จะสำเร็จได้ต้องรู้ถึงจิตวิญญาณของพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร เราจะพัฒนาคนในพื้นที่อย่างไร ธุรกิจก็เลยไม่เป็นสิ่งต้องห้ามและถือว่าดีด้วยซ้ำ แต่ว่าธุรกิจที่จะทำให้ประสบผลสำเร็จเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา
‘ปัตตานี เพลส’ มีเรื่องของศูนย์การค้า โรงแรม และที่อยู่อาศัย ผมว่าการจะทำให้สำเร็จและถามว่าปัตตานีจะมีของแบบนี้ได้ไหม มันปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเป็นการพัฒนาที่จะหลีกจากอิสลามไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นในพื้นที่ตรงนี้ ผมเคยพูดไว้ว่าถ้ารัฐบาลฉลาดที่จะแก้ปัญหา คุณต้องแอบไปมองว่าทางมาเลเซียเขาพัฒนาอย่างไร
ที่ผมพูดอย่างนี้ก็เพราะว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่ค่อนข้างพัฒนาแบบสมัยใหม่ แต่มีวิธีคิดในการพัฒนาที่อยู่บนฐานของอิสลาม ซึ่งเป็นอิสลามที่เรารับได้ เป็นอิสลามที่เป็นกลางมากๆ อิสลามที่อยู่ในโลกนี้ได้อย่างที่คนอื่นเคารพ
ที่ผ่านมาสาเหตุที่เราก้าวไม่พ้นปัญหา เพราะเราละเลยฐานข้อเท็จจริง ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราจะพัฒนา เราก็มักไปมองที่หอการค้า หรือสภาอุตสาหกรรม ถามว่าถูกไหม...ก็ถูกต้อง แต่ต้องบอกว่าไม่เหมือนสังคมมาเลเซีย เพราะสังคมมลายูมาเลเซียเขาเริ่มจากข้างบนมาก่อนเลย รัฐบาลมาเลเซียเขาคุมอยู่ แต่ตรงนี้ไม่ใช่
ฉะนั้นการพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ เมื่อไปพูดกับหอการค้า ส่วนใหญ่ก็จะพูดถึงเฉพาะเรื่องเงินกู้เพื่อให้ธุรกิจของเขาอยู่ได้ และจะได้จ่ายภาษีให้แก่รัฐ แม้แต่เรื่องการส่งออกอาหารฮาลาลก็พูดแต่เรื่องเงินกู้ ส่วนชาวบ้านก็เป็นกลไกเพียงแค่ผลิตแพะ วัว ไก่ป้อนโรงงาน ผมถามว่าแล้วจะพัฒนากันอย่างไร ให้ไก่ 50 ตัว เป็ด 20 ตัว แพะ 5 ตัวต่อครัวเรือน แล้วจะสร้างตัวได้หรือเปล่า นี่คือปัญหา”
โครงสร้างประเทศสวนทางพื้นที่
“การก่อเกิดของ ’ปัตตานี เพลส’ มันจะเป็นสิ่งสะท้อนว่าคนในพื้นที่สนใจการเรียนหนังสือหรือไม่ รัฐเคยบอกว่าคนในพื้นที่ตรงนี้ไม่ค่อยชอบเรียนกันเท่าไหร่ แต่ข้อเท็จจริงแล้วคนในพื้นที่เขาบอกว่าฉันเรียนมาตั้งนานแล้วนะ แต่ฉันไม่มีงานทำ เพราะอะไร เพราะโครงสร้างใหญ่ที่นี่กับโครงสร้างใหญ่ของประเทศเราชนกันอยู่ตลอด
ยกตัวอย่างเช่น แพทย์ในมาเลเซีย เขามีงานทำ มีหน่วยงานรัฐ หน่วยงานกึ่งรัฐ หน่วยงานเอกชนรองรับ เขาก็สร้างคุณธรรมให้แก่ชาติ ให้แก่ประเทศ เพราะคุณธรรมถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในประเทศ ไม่ว่าประเทศไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะเป็นพุทธ คริสต์ หรืออิสลามก็ตาม ฉะนั้นถ้าเราจะเล่นเรื่องการศึกษา มันต้องสะท้อนภาพจริงของการจัดการเรียนการสอนที่นี่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกหลานอยู่ในกรอบของศาสนา ด้วยเหตุนี้โรงเรียนของรัฐจึงได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก และต่อไปในระดับประถมก็คงได้รับผลกระทบเช่นกัน ถ้าเราไม่รีบแก้หลักสูตร มันจะยิ่งเสียหาย เพราะว่าสิ่งที่คนเขาอยากได้มันไม่มีในโรงเรียนของรัฐบาล เขาก็เลยไปสร้างเอง อันนี้ประเด็นหนึ่ง
ประเด็นถัดมา คนที่จบมาจากต่างประเทศ ถ้าเขาไม่มีงานทำ เขาก็ไปเป็นครู เขาก็เลยต้องเปิดโรงเรียนมากขึ้นเพื่อให้เขามีอาชีพ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แล้วส่วนมากเปิดกันที่ไหน เขาก็เปิดกันในหมู่บ้านที่เข้าไปลึกๆ และคนส่วนใหญ่ที่ส่งลูกเข้าไปเรียน เพราะความเชื่อที่มีต่อตัวโต๊ะครู สิ่งเหล่านี้ไม่มีในโรงเรียนรัฐบาล สิ่งเหล่านี้ก็เลยไปรวมกันที่ ‘ปัตตานี เพลส’ เพราะสามารถสนองสิ่งที่ต้องการของเด็กเหล่านี้ได้
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนหนึ่งเรียนจบแล้วสามารถเปิดโรงงาน ก็จะมีการจ้างงาน 30-40 คน เรื่องอย่างนี้ผมเคยพูดใน ม.อ.ปัตตานี ผมบอกว่าถ้าเราอยู่กับสังคมศาสตร์มันจะไปไม่รอด (ม.อ.ปัตตานี เป็นมหาวิทยาลัยสายสังคมศาสตร์) มันพัฒนาไม่ได้ มันจะต้องสร้างการเป็นผู้ประกอบการ เพราะจะพัฒนาคนได้อีกมาก
ฉะนั้นคนที่นี่ที่ไปเรียนศาสนา คนมักจะพูดว่าเขาเรียนศาสนามาก ผมถามว่าโรงเรียนหนึ่งมีนักเรียนหลายพันคน ปีหนึ่งจบ ม.6 เป็นหมื่นๆ คน ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอิสลามยะลา ผมรู้ว่าเด็กจะเข้ามาเท่าไหร่ ถามว่าเด็กเหล่านี้มีถึง 20% ไหมที่จะตอบคำถามว่าต้องการไปต่อศาสนาที่เมืองนอก เพราะจริงๆ เขาก็เลือกที่จะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในประเทศทั้งนั้น แต่ถ้าการศึกษามันต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานแล้วมันจะสอบอะไรได้ นอกเหนือจากการสอบในราชภัฏก็ดี หรือในระดับมหาวิทยาลัยก็เลือกสังคมศาสตร์ มันก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ เด็กที่จบมาก็เต็ม พอเต็มก็ไม่รู้จะทำงานอะไร ไหนจะคนที่จบมาจากเมืองนอกอีก จบมาก็ไม่รู้จะทำอะไร”
ความจำเป็นแห่งยุคสมัย
“เพราะฉะนั้น ‘ปัตตานี เพลส’ จะแก้ปัญหาตรงจุดที่ผมพูด และเป็นสิ่งที่ช่วยรัฐโดยแท้ ในเชิงคุณธรรมนั้นยังปกป้องเด็กมุสลิมมากมายที่ต้องไปเสียในกรุงเทพฯ ไปเสียที่หาดใหญ่ (จ.สงขลา) แต่การที่มาอยู่ตรงนี้ เขาจะมาอยู่ในแวดล้อมสังคมที่เขาสามารถป้องกันตัวเองได้
ที่นี่ก็เหมือนปอเนาะที่เกิดขึ้นซึ่งคนส่วนใหญ่ส่งลูกไปเรียนก็เพราะสิ่งแวดล้อม ‘ปัตตานี เพลส’ จะเป็นตัวตอบโจทย์ความไม่เข้าใจของรัฐ เพราะที่ผ่านมาถึงรัฐบาลจะจัดให้มีการติวในพื้นที่ ก็ทำได้แค่นั้น แต่ประชาชนในพื้นที่ก็ยังส่งลูกไปติวที่หาดใหญ่ ลองไปดูว่าเท่าไหร่ และเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ถ้ามาอยู่ที่ ‘ปัตตานี เพลส’ ความห่วงของผู้ปกครองก็จะหมดไป รวมไปถึงค่าใช้จ่ายก็จะลดลง และสิ่งที่รัฐจะได้เต็มๆ ก็คือสมองของเด็กในพื้นที่จะได้รับการพัฒนาไปด้วย
ผมว่าการมาของ ‘ปัตตานี เพลส’ เป็นการสนองตอบที่เหมาะเจาะกับความต้องการของคนในพื้นที่ ปัญหามันกำลังเกิดขึ้นมา และมันกำลังสร้างความปวดหัวให้กับครูโรงเรียนเอกชนทั้งหลาย เพราะสิ่งเหล่านี้คือเทรนด์ (แนวโน้ม / ทิศทาง) ในปัจจุบัน และเป็นเทรนด์สำหรับประเทศด้วยซ้ำ การที่เด็กจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศหรือต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศ เราก็ต้องเพิ่มความรู้ให้เขา เพราะฉะนั้น ‘ปัตตานี เพลส’ คือสิ่งที่สังคมในพื้นที่คาดหวังมานาน เป็นความจำเป็นแห่งยุคสมัย และผมยังมองว่าเรื่องธุรกิจก็คือธุรกิจ แต่ในเรื่องของการศึกษามันสนองตอบได้มากมาย”
วิกฤติโรงเรียนของรัฐ
“อย่างที่ผมบอก ในอนาคตโรงเรียนประถมจะถูกแทนที่ เพราะโรงเรียนปอเนาะในวันนี้อย่างโรงเรียนบำรุงอิสลาม ทำไมคนถึงส่งลูกไปเรียน ทั้งที่บอกกันว่าไม่มีสตางค์ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอนุบาล แต่ทำไมถึงส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนเหล่านี้ได้ อันนี้ถือเป็นสมมติฐาน ผมเคยไปตามตำบลต่างๆ รถสองแถว รถตู้ไปรับเด็กในชุมชนบ้านผมเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการหลักสูตรมากกว่า เขาต้องการคุณธรรมที่ลูกจะได้รับมากกว่า เขาต้องการการเป็นมุสลิมที่ดี ถึงแม้จะไม่ได้ตามที่คาดหวัง 100% แต่ว่าอย่างน้อยก็ละหมาด 5 เวลา อย่างน้อยเด็กเหล่านี้โตขึ้นมาก็ไม่เสพยาเสพติด มันยังมีเครื่องป้องกันอยู่บ้าง ถึงแม้จะเป็นความหวังอันน้อยนิด แต่ว่าเขาก็คาดหวัง เพราะสิ่งเหล่านี้คือคุณธรรม
คนส่วนใหญ่มองที่โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนของรัฐส่วนใหญ่จะแวดล้อมไปด้วยรถ ยกเว้นถ้าไปในโรงเรียนสาธิต เพราะเด็กโรงเรียนสาธิตนั้นฉลาด แต่ถามว่ากี่คนถึงจะไปได้ โรงเรียนต่างๆ ไม่มีหลักประกันว่าจะสามารถดูแลเด็กได้ แต่ในทางกลับกันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาวันนี้มาถึงระดับหนึ่ง คุณภาพการศึกษาอยู่ในระดับที่อยู่ข้างบน เราตัดมาและมีการพัฒนาตรงนี้
ถ้า ‘ปัตตานี เพลส’ ไม่เปิด เขาก็จะส่งลูกไปหาดใหญ่ ไปกรุงเทพฯ ฉะนั้น ‘ปัตตานี เพลส’ เป็นการเปิดโลกทางการศึกษาทั้งของคนที่ทำโรงเรียนอยู่ และรวมไปถึงเด็กๆ ให้ได้รับทราบว่ามีสิ่งนี้แล้วนะ จะได้ไม่ต้องไปที่ไกลๆ และเราสามารถเชื่อมต่อกับติวเตอร์ดังๆ ธุรกิจลักษณะนี้จะได้ผลบุญมากที่มาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่
ผมเคยพูดเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.บ.โรงเรียนสอนศาสนา ควรที่จะคิดกันได้แล้ว เพราะว่าในพื้นที่ตรงนี้มีโรงเรียนลักษณะนี้อยู่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับเฉพาะเพื่อที่จะพัฒนาโรงเรียนสอนศาสนา และครูที่จบส่วนใหญ่ส่วนหนึ่งจบจากต่างประเทศ ส่วนหนึ่งก็จบจากเมืองไทย เขาสามารถมองทิศทางการศึกษาของเขาได้ เขาสร้างโรงเรียนและเติบโตได้ เด็กก็จะสามารถเข้าสู่ระดับการศึกษาที่ดีได้
ผมเคยเสนอในส่วนกลางเรื่องของการประชุม OIC (Organization of the Islamic Conference: องค์การการประชุมอิสลาม) ให้เอาพื้นที่ปัตตานีเป็นสถานที่จัดการประชุม ให้จัดขึ้นรายปีหรือรายสองปี ภายใต้ชื่อ OPC (Organization of the Pattani Conference) ให้มาพูดเรื่องของปัตตานี ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องเป็นมุสลิมก็ได้ เพื่อมานั่งคุยกัน ซึ่งคนปัตตานีในกรุงเทพฯเขาก็เคยมาพูดกับผมว่าเขายินดีที่จะช่วย ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นมุสลิมทั้งหมด แต่กลับไม่มีใครมอง พอจะทำแบบนี้สิ่งแรกที่มองกลายเป็นเรื่องความมั่นคงก่อน มันก็เลยดูว่าพัฒนาไม่ได้เพราะติดเรื่องของความมั่นคง”