จับเข่าคุย "ผู้ว่าฯยะลา" ไขปริศนาบึ้มป่วนรับผู้นำมาเลย์ ชู "ฮูกมปาก๊ะ" ดับไฟความรุนแรง
นาซือเราะ เจะฮะ / อะหมัด รามันห์สิริวงศ์
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
เหตุการณ์ความไม่สงบนับสิบจุดในวันที่นายกรัฐมนตรีของไทย และผู้นำมาเลเซีย เยือนพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2552 สร้างความตึงเครียดให้กับฝ่ายความมั่นคงไม่น้อย โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ซึ่งเกิดระเบิดหลายจุด และมีความสูญเสียเกิดขึ้น ทำให้ล่าสุด นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เรียกประชุมทุกหน่วย รวมทั้งกองกำลังประชาชน เพื่อร่วมในแผนปฏิบัติ "ยะลาร่วมใจ รวมพลังไทย น้อมถวายพ่อแห่งแผ่นดิน" โดยใช้กฎ "ฮูกมปาก๊ะ" สร้างสันติสุข
"ฮูกมปาก๊ะ" คือกติกาประจำหมู่บ้าน โดยผู้ใหญ่บ้านจะร่วมกับโต๊ะอิหม่ามซึ่งมีอยู่แล้วทุกหมู่บ้าน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตลอดจนผู้อาวุโสประจำหมู่บ้าน นั่งตกลงกันเองว่าจะควบคุมพฤติกรรมคนในหมู่บ้านหรือชุมชนได้อย่างไรเพื่อให้เกิดสันติสุข ไม่มีความขัดแย้ง โดยนำหลักการของศาสนาอิสลามมาใช้ ยกตัวอย่างเช่น
1.การปฏิบัติศาสนกิจ ผู้ใดไม่ไปปฏิบัติศาสนากิจวันศุกร์ติดต่อกัน 3 ศุกร์ จะต้องมีการลงโทษ ส่วนโทษจะลงกันอย่างไรก็ให้ไปจัดการกันเอง
2.ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นในหมู่บ้าน ให้นำตัวมาให้โต๊ะอิหม่ามหรือผู้ใหญ่บ้านเป็นคนตัดสิน
3.ถ้าจับได้ว่าคนในหมู่บ้านลักขโมย ต้องให้ผู้ปกครองหรือผู้ที่กระทำมาเสียค่าปรับให้กับอีกฝ่ายหนึ่ง
4.เรื่องยาเสพติดที่มีระบาดมาก ให้ออกกฎกติกาว่าลูกหลานใครถ้าอายุยังไม่ถึง 15 ปีแล้วติดบุหรี่ พ่อแม่ต้องพาลูกไปเลิกให้เรียบร้อย และถ้าบ้านไหนต้มยาสี่คูณร้อย (ยาเสพติดประเภทหนึ่งที่วัยรุ่นในพื้นที่นิยมกันมาก) บ้านนั้นต้องถูกลงโทษ แต่ถ้าส่งตัวไปรักษาที่สถานีอนามัยหรือส่งไปดาวะห์เพื่อขัดเกลาจิตใจ ก็จะให้อภัย ไม่ถือโทษโกธรกัน
5. จัดเวรยามเพื่อดูแลโรงเรียนและเส้นทาง โดยให้ประชาชนกำหนดรูปแบบขึ้นเองเพื่อความเสมอภาค เป็นต้น
โอกาสนี้ "ทีมข่าวอิศรา" ได้สัมภาษณ์พิเศษผู้ว่าฯกฤษฎา ถึงเบื้องหลังของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และแนวทางที่นำมาใช้แก้ไขปัญหา
O วันที่ 9 ธ.ค.เกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นหลายจุดขนาดนั้น?
เหตุการณ์วันนั้นกลุ่มคนร้ายพยายามก่อเหตุหลายเหตุ มีทั้งตัดต้นไม้ขวางถนน โปรยตะปูเรือใบ พร้อมติดป้ายผ้าในหลายพื้นที่ ที่ผ่านมาจังหวัดยะลาทำโครงการฮูกมปาก๊ะอยู่แล้ว จึงมีอาสาสมัครรักษาดินแดนประจำหมู่บ้าน (อส.หมู่บ้าน) ออกมาช่วยเก็บตะปู ลากต้นไม้ออกจากถนน และบางพื้นที่ เช่น อ.บันนังสตา มีชาวบ้านออกมาให้ความร่วมมือกับกำลังของเจ้าหน้าที่ จนทำให้เหตุการณ์ที่จะเกิดผลกระทบส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้น จะเหลือเฉพาะเขตรอบเมือง ที่คนร้ายพยายามก่อเหตุได้บ้าง
O เหตุระเบิดที่ถนนเลียบแม่น้ำปัตตานีจนมีเจ้าหน้าที่สูญเสีย เหตุใดจึงเกิดขึ้นได้ ทั้งๆ ที่หน่วยกำลังที่เข้าไปตรวจสอบเป็นชุดอีโอดี (หน่วยเก็บกู้ทำลายล้างวัตถุระเบิด) ทำให้มีเสียงวิจารณ์เรื่องประสิทธิภาพของเครื่องตรวจหาวัตถุระเบิด จีที 200 ขึ้นมาอีกครั้ง?
คนร้ายซุกซ่อนวัตถุระเบิดจนทำให้เครื่องมือของเราไม่สามารถตรวจพบ บริเวณถนนเลียบแม่น้ำปัตตานีนั้น ฝังระเบิดไว้ใต้ดินแล้วใช้อิฐวางทับข้างบน เจ้าหน้าที่จึงตรวจไม่เจอ แต่พื้นที่อื่นเราตรวจเจอ และสามารถเก็บกู้ทำลายได้ทุกจุด โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในพื้นที่ด้วย
O มีเสียงวิจารณ์อีกด้านหนึ่งว่า เป็นเพราะทุ่มกำลังไปคุ้มกันผู้นำทั้งสองประเทศที่ จ.นราธิวาส มากเกินไป ทำให้เกิดช่องโหว่ในพื้นที่ จ.ยะลา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร?
ข้อนี้ขอบอกเลยว่าไม่จริง เพราะที่นราธิวาสมีกำลังของจังหวัดดูแลอยู่แล้ว ส่วนกำลังของเราก็ดูแลพื้นที่ของเรา ถ้าเกิดยกกำลังไปตามที่พูดจริง ฝ่ายคนร้ายจะสามารถปฏิบัติการได้มากกว่านี้เหมือนที่เคยทำ แต่นี่เขาไม่สามารถทำได้ ที่สำคัญเราได้กำลังประชาชนเข้ามาช่วยอีกแรงหนึ่งด้วย
O กฎฮูกมปาก๊ะจะนำมาปรับใช้กับสถานการณ์ได้อย่างไร?
ฮูกมปาก๊ะคือกฎกติกาที่ใช้ในการป้องกัน โดยเริ่มต้นจากหมู่บ้าน เช่น การปฏิบัติศาสนกิจ การแก้ปัญหายาเสพติด การสร้างความสามัคคี และการแก้ข้อพิพาทระหว่างบุคคล เพื่อให้เกิดสันติสุขตั้งแต่ภายในหมู่บ้าน เมื่อหมู่บ้านเข้มแข็ง ก็จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบได้
ที่ผ่านมาทุกครั้งเมื่อเกิดเหตุในหมู่บ้าน ชาวบ้านจะบอกว่าคนในหมู่บ้านไม่ได้ทำ แต่เมื่อถามกลับไปอีกว่าคนนอกที่เข้ามาทำเป็นใคร ก็ไม่มีใครตอบได้อีก เพราะฉะนั้นถ้าเขาใช้กฎฮูกมปาก๊ะ คนนอกที่เข้ามาจะต้องมาลงลายมือชื่อกับกำนันและผู้ใหญ่บ้านก่อน ผู้นำหมู่บ้านจะสามารถเช็คคนหรือจำกัดคนนอกหมู่บ้านที่จะเข้ามาปะปนได้ ความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นก็ลดลง แต่ถ้าความรุ่นแรงไม่ได้มาจากกลุ่มขบวนการ แต่มาจากคนสองกลุ่มทะเลาะกัน ถ้ามีฮูกมปาก๊ะก็จะช่วยได้ เพราะจะกำหนดให้มีองค์กรระดับหมู่บ้านหรือผู้นำเป็นผู้ตัดสินหรือไกล่เกลี่ยเพื่อลดข้อขัดแย้งในชุมชนได้
O พื้นที่ที่ใช้ฮูกมปาก๊ะได้ดีมีที่ไหนบ้าง และเรื่องอะไรที่ได้ผลมากที่สุด?
จริงๆ เรื่องนี้ผมคิดทำมาตั้งแต่สมัยเป็นรองผู้ว่าฯ โดยให้ประชาชนกำหนดกฎเกณฑ์กติกาเพื่อจัดระเบียบสังคมในหมู่บ้านเอง และได้ทดลองทำไปแล้วจำนวน 88 หมู่บ้าน เมื่อมาเป็นผู้ว่าฯ ทางหน่วยเฉพาะกิจยะลาและตำรวจก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้ จึงเร่งผลักดันให้เป็นรูปธรรมขึ้น และขยายพื้นที่ให้มากขึ้นกว่าเดิม
ความสำเร็จที่เห็นชัดที่สุดเรื่องพืชยาเสพติด ที่นำไปทำสี่คูณร้อย และปัญหาลักเล็กขโมยน้อยในชุมชน ปัญหาเหล่านี้หายไปเลย อย่างหมู่ 8 หมู่ 5 ต.บุดี อ.เมืองยะลา และอีกหลายพื้นที่ในอำเภอบันนังสตา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ส่วนเรื่องความมั่นคงโดยตรงนั้นตอนแรกเรายังไม่ได้คิด เพราะยังไม่แน่ใจกับสถานการณ์ แต่ปีนี้สถานการณ์ความไม่สงบเริ่มลดลง ก็จะขยับมาทำบ้าง เริ่มจากการตรวจสอบคนเข้าออกพื้นที่ก่อน ใครมาอยู่หรือใครที่ออกไปก็ต้องมารายงานให้ผู้ใหญ่บ้านรับทราบ หรือมีเรื่องที่บางครอบครัวไม่ได้รับความเป็นธรรม และผู้นำทั้ง 4 ฝ่ายในหมู่บ้านรับรองว่าไม่รับความเป็นธรรมจริง ตรงนั้นก็จะเข้าไปพิจารณา ถ้าคนที่อยู่ในช่วงควบคุมตัวก็จะให้ประกันตัว ถ้าอยู่ระหว่างซักถาม ก็จะถอนหมายตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ภายใต้การรับรองของผู้นำศาสนา
O แต่สถานการณ์ก็ยังขึ้นๆ ลงๆ เป็นเพราะอะไร?
สาเหตุคือคนร้ายยังต้องการแสดงขีดความสามารถว่าเขายังก่อเหตุได้ แต่ถ้านำสถิติไปเทียบกับปี 2549-2550 จะพบว่าเหตุรุนแรงลดลงมาก และหลายครั้งชาวบ้านก็ออกมาป้องกันด้วยตัวเองเลย อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ อ.บันนังสตา อ.กรงปินัง จะมี อส.หมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ดีกว่าในอดีต ซึ่งถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีว่าการทำงานระหว่างภาคประชาชนกับฝ่ายกองกำลังดีขึ้น
อีกประการหนึ่งที่ผมเฝ้าติดตามก็คือ จำนวนกลุ่มก่อความไม่สงบไม่น่าจะมีมากขึ้น และน่าจะลดลงด้วยซ้ำ ผมมั่นใจว่าชาวบ้านที่จะเห็นด้วยแล้วเข้าไปเป็นแนวร่วมเหมือนในอดีต ปัจจุบันไม่มีแล้ว ในส่วนของยะลาน่าจะเป็นกลุ่มกองกำลังเก่าๆ ที่ยังซ่อนตัวอยู่มากกว่า ส่วนผู้ที่จะเข้าไปร่วมขบวนการใหม่มั่นใจว่าไม่มี
O 88 หมู่บ้านที่นำร่องไป ประสบความสำเร็จทุกหมู่บ้านหรือไม่?
ยอมรับว่าใช้ได้ไม่ครบทุกหมู่บ้าน เพราะบางหมู่บ้านยังห่างไกล และฝ่ายตรงข้ามก็ยังมีอิทธิพลอยู่ ขณะที่บางหมู่บ้าน ทางผู้นำก็มีข้อขัดแย้งกันเอง
O ตัวชี้วัดความสำเร็จคืออะไร?
ง่ายๆ คือเหตุการณ์ความไม่สงบแต่เดิมเป้นอย่างไร หลังจากใช้ฮูกมปาก๊ะแล้วเป็นอย่างไร แนวปฏิบัติหลังจากประกาศใช้ก็คือ นายอำเภอ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ จะเข้าไปดูแลพื้นที่ เพื่อพิจารณาว่าหมู่บ้านที่มีจุดอ่อนอย่างที่ผมบอกมีกี่หมู่บ้าน และมีหมู่บ้านไหนบ้างที่มีความพร้อม จากนั้นก็ประเมินว่าจำนวนเหตุการณ์ลดลงหรือไม่ ถ้าลดลง สถานการณ์โดยรวมดีขึ้น ก็จะมีการหารือของกองกำลังทั้งสามฝ่ายแล้วถอนกำลังออกไปอยู่พื้นที่อื่นที่ยังเห็นว่าเสี่ยงอยู่ มันเป็นการลดการปฏิบัติการทางทหารและส่งมอบภารกิจให้ชาวบ้านดูแลตนเอง