หมอนิรันดร์ : หยุดประวัติศาสตร์ถูกสาปที่ชายแดนใต้
ปรัชญา โต๊ะอิแต
แวลีเมาะ ปูซู
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้จะมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายถึงความบกพร่องหลายประการของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (ฉบับ พ.ศ.2550) แต่มิติหนึ่งที่ถือเป็นความก้าวหน้าอย่างชนิดน่าชื่มชม ก็คือบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการ “ติดดาบ-เพิ่มอำนาจ” ให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จของฝ่ายทหารในภารกิจดับไฟใต้ ทำให้ประเด็นการเคารพสิทธิมนุษยชนในพื้นที่กลายเป็น “ความท้าทาย” อย่างยิ่งของกรรมการสิทธิฯชุดใหม่ ซึ่งได้ตั้งคณะอนุกรรมการดูแลปัญหาในพื้นที่นี้เป็นการเฉพาะด้วย เพราะหลายกรณี "รัฐ" คือผู้กระทำละเมิดเสียเอง
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หรือ “หมอนิรันดร์” หนึ่งในกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ เล่าให้ฟังถึงแนวทางการทำงานเพื่อหยุดประวัติศาสตร์ที่ถูกสาปของดินแดนแห่งนี้...
O กรรมการสิทธิฯชุดใหม่ มีแนวทางอะไรใหม่ๆ เพื่อดูแลปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้บ้างหรือไม่?
มติของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดูแลปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นการเฉพาะ มีภารกิจโดยเอาพื้นที่สามจังหวัดเป็นตัวตั้ง ซึ่งมีด้วยกัน 3 ประการ
ประการแรก คือ เข้าไปตรวจสอบกรณีหรือประเด็นที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งพิจารณาในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจใหม่ที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มอบให้เรา
ประการที่สอง คือ การเข้าไปทำงานส่งเสริมและประสานงานกับเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ เพราะการทำงานของกรรมการสิทธิฯชุดเก่าก็ดี หรือความเป็นจริงในพื้นที่ก็ดี ได้มีความตื่นตัวของภาคประชาสังคมและนักวิชาการ หรือแม้กระทั่งสื่อมากขึ้น มีเครือข่ายเพิ่มขึ้นมากจากทุกภาคส่วน ฉะนั้นอนุกรรมการสิทธิฯที่ดูแลปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเข้าไปเชื่อมตรงนี้
ประการที่สาม คือ การทำงานในเชิงนโยบายสาธารณะ เนื่องจากสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย ดังนั้นจึงเป็นภารกิจของอนุกรรมการสิทธิฯ ที่จะต้องมองเรื่องของนโยบายสาธารณะหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหา
เช่น ในเรื่องของการใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) ซึ่งในอนาคตอาจจะยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก แล้วหันมาใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน (พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551) ประเด็นทางนโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องที่อนุกรรมการสิทธิฯจะต้องเข้ามาตรวจสอบดูว่ากฎหมายต่างๆ จะเป็นเครื่องมือในการสร้างสิทธิให้กับประชาชนและแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือกลายเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมากยิ่งขึ้น จนทำให้เกิดสถานการณ์รุนแรงตามมา
O สรุปว่าคณะอนุกรรมการสิทธิฯจะเข้ามาดูแล 3 เรื่องนี้ โดยเชื่อมต่อกับเครือข่ายในพื้นที่?
ครับ คือบทบาทหน้าที่ของอนุกรรมการสิทธิฯมีอยู่ด้วยกัน 3 ประการตามที่ผมเล่าให้ฟัง แต่ที่สำคัญคือกรณีที่เป็นการตรวจสอบการละเมิดสิทธิแล้วพิจารณาว่าต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือการฟ้องร้อง นี่เป็นอำนาจใหม่ที่กรรมการสิทธิฯสามารถดำเนินการได้ (ตามรัฐธรรมนูญปี 2550) ชี้ให้เห็นว่ากรรมการสิทธิฯสามารถใช้สิทธิในการเป็นองค์กรอิสระทำงานคู่ขนานกับตุลาการ และเป็นองค์กรกึ่งตุลาการที่สอดคล้องกับระดับสากล
ระบบตุลาการบ้านเรานั้น ก็ทราบกันดีว่าการพิจารณาคดีใช้ระบบกล่าวหา แต่ในส่วนของกรรมการสิทธิฯและคดีความเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะใช้ระบบการไต่สวน ซึ่งจะเปิดให้มีการลงพื้นที่และหาข้อมูลประกอบได้มากขึ้น และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภาพรวม
ในส่วนของการเชื่อมโยงเครือข่าย จะต้องทำให้มีความเชื่อมโยงทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อ และประชาชน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งของการละเมิดและการทำให้เกิดการใช้ความรุนแรง แต่ก็ต้องยอมรับว่าในพื้นที่เองก็มีกลุ่มก่อการอยู่ เพราะฉะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจึงต้องมีบทบาทในเรื่องของการจัดการ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนด้วย นี่คือคำตอบว่าทำไมเราต้องเชื่อมโยงเครือข่ายโดยไม่ละเลยภาครัฐ เพราะการทำงานต้องเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง
O แล้วในมิติของนโยบาย นอกจากเรื่องกฎหมายพิเศษแล้ว ยังมีส่วนไหนอีกที่อนุกรรมการสิทธิฯจะเข้าไปดูแล?
หากเรามองในภาพกว้าง การนึกถึงเรื่องของการจัดการทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ดี นี่คือสิ่งที่เราเรียกว่า ‘การเมืองนำการทหาร’ เพราะการทหารอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราต้องนำการทหารมาใช้กับผู้ก่อการ แต่ทุกภาคส่วนจะต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม และขจัดความอยุติธรรมให้หมดไป ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องคดีความหรือการละเมิดสิทธิต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมด้วย การนำกฎหมายพิเศษมาใช้ต้องทำให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่ทำให้เกิดการละเมิดหรือเกิดความไม่เป็นธรรมมากขึ้น
O จะทำงานตรงนี้ให้สำเร็จได้อย่างไร เพราะแม้แต่ระดับรัฐบาลก็ยังผลักดันอะไรไม่ได้มาก โดยมีเสียงวิจารณ์เรื่องเกรงใจทหาร?
เราเองไม่ได้มองว่าเราไปเกรงใจหรือไม่เกรงใจทหาร ตำรวจ เรารู้ดีว่าการทำงานในเรื่องของสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องทำงานประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทุกเครือข่าย เพราะถ้าเมื่อไหร่เป้าหมายการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตรงกัน นั่นจะช่วยแก้ปัญหาได้
ยกตัวอย่างเช่น ขณะนี้มีสัญญาณส่งมาจากกองทัพ ท่าน ผบ.ทบ. (พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก) พูดถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องเข้าไปทำให้เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เพราะอย่าลืมว่าขณะนี้ในพื้นที่เองก็ยังมีคดีซ้อมทรมานอยู่ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของกรรมการสิทธิฯ ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ แม้กระทั่งสถานที่บางแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลของทหาร
เพราะฉะนั้นการประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็น และต้องทำให้เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเปิดพื้นที่การทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่อย่างนั้นแล้วปัญหาเรื่องความรุนแรงก็ไม่ยุติ และที่สำคัญคือจะถูกยกให้เป็นปัญหาในระดับสากลด้วย
ปัจจุบันผมคิดว่าทั้งทหาร ตำรวจ นักการเมือง และฝ่ายปกครองก็เข้าใจตรงนี้อยู่ ดังนั้นการทำงานของกรรมการสิทธิฯจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาเกรงใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรทำให้เห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามของเจ้าหน้าที่ความมั่นคง เพราะการจะนำไปสู่ความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย โดยมีกรรมการสิทธิฯเป็นผู้เชื่อมประสาน
O วางเป้าหมายเอาไว้ถึงระดับไหน?
เราตระหนักดีว่าการเคารพสิทธิมนุษยชนเท่านั้นที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความรุนแรงในวันนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนบางส่วนไปร่วมกับผู้ก่อการ วันนี้เราจึงต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนและทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในการทำงานของทุกฝ่ายให้ได้
แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องเข้าใจก็คือ ปัญหาที่นี่เป็นปัญหาที่เกิดมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งเกิด การจะแก้ไขให้ยุติลงได้อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องของการจัดการต่อรัฐชาติที่ยังรวมศูนย์ ไม่ยอมรับความเป็นรัฐประชาชาติที่มีความหลากหลาย และทำให้ขาดการสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดวิถีชีวิต วัฒนธรรมของตนเอง
ลึกๆ แล้วเรื่องการรวมศูนย์อำนาจต่างหากที่เป็นต้นตอของปัญหาความแตกแยก ความรุนแรงในหลายพื้นที่ และคงต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาต้องใช้เวลา อยู่ที่ว่าเราจะทำให้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก และทำให้คนสูญเสียชีวิต สูญเสียโอกาส ยุติลงได้หรือยัง ถ้าเราสรุปบทเรียนจากประวัติศาสตร์แล้วฝ่าฟันวิกฤติไปได้ มันก็จะไม่เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกสาป และไม่ทำให้สามจังหวัดขยายความรุนแรงต่อไป
O แต่ 2 คดีสำคัญคือกรือเซะกับตากใบ ก็ยังยากที่จะคืนความเป็นธรรม?
กรือเซะ (เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงกับผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 108 คน เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) เป็นการปฏิบัติการตามอุดมการณ์ทางการเมือง ที่เน้นเรื่องของการใช้อาวุธและความรุนแรง แสดงให้เห็นว่าคนเหล่านั้นไม่เห็นทางออกในการปลดปล่อย เมื่อรัฐใช้อำนาจไม่เป็นธรรม ชาวบ้านจึงไปฝากความหวังกับแนวทางความรุนแรง เพราะฉะนั้นรัฐต้องเข้าใจสาเหตุปัญหานี้
ส่วนกรณีตากใบนั้นตรงกันข้าม (เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 มีผู้เสียชีวิตจากการสลายม็อบและการขนย้าย 85 คน) เพราะเหตุการณ์ตากใบเป็นสิทธิในการชุมนุมที่ต้องการให้รัฐประกันตัวหรือปล่อยตัว ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีฐานปล่อยให้ปืนตกไปเป็นของผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นการชุมนุมที่บริสุทธิ์
จาก 2 กรณีที่รัฐแสดงให้เห็นถึงการใช้แนวทางความรุนแรง ไม่มองนัยแห่งการเจริญเติบโตของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่กลับใช้อำนาจรัฐที่เด็ดขาดปราบปราม ผลก็คือนอกจากจะไม่แก้ไขปัญหาแล้ว ยังกลับเป็นแนวร่วมมุมกลับของผู้ก่อการร้ายอีกด้วย เพราะความรู้สึกปฏิปักษ์ต่ออำนาจรัฐขยายตัวมากขึ้น ผลพวงจากการใช้อำนารัฐทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์สูญเสียหรือถูกทำร้าย สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันฝังอยู่ในใจ และทำให้เกิดความเจ็บแค้นขยายตัว ทำให้ฝ่ายก่อการร้ายเข้มแข็งมากขึ้น
ผมคิดว่าแนวทางในการจัดการปัญหาภาคใต้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้หลักสิทธิมนุษยชนในการมอง สร้างกระบวนการ และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของรัฐ พัฒนาพื้นที่ ตลอดจนการร่วมกำหนดนโยบายต่างๆ
เหตุการณ์กรือเซะและตากใบ วันนี้ผ่านมาครบ 5 ปีแล้ว เราจึงไม่ควรทำให้เป็นประวัติศาสตร์ที่มันถูกสาป เป็นดินแดนแห่งความแตกแยก หรือความรุนแรง แต่ควรเป็นประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราได้ทบทวน พบเห็นแนวทางที่จะคลี่คลายปัญหาความรุนแรงร่วมกัน และก้าวไปสู่การสร้างสันติภาพและการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
O แต่การจะไปถึงจุดนั้นดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย...
การคลี่คลายต้องขึ้นอยู่กับ 2 อย่าง คือ รัฐทำความจริงให้ปรากฏ และมุ่งให้เกิดความเป็นธรรม
การทำความจริงให้ปรากฏ หมายความว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปีของกรือเซะและตากใบ หรือแม้กระทั่งคดี ทนายสมชาย (นายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม) ต้องให้ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ เช่น ในคดีตากใบซึ่งมีถึงพันกว่าคน ต้องถูกจับ ถูกตราหน้าว่าเป็นโจร หรือเป็นพลเมืองชั้นสอง
นอกจากนั้นรัฐต้องดูแลคนพิการ และครอบครัวที่สูญเสีย หรือแม้กระทั่งให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในครอบครัวเหล่านี้ ซึ่งที่ผ่านมารัฐก็ทำบ้าง แต่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ถูกมองว่าทำแค่เอาหน้าอย่างเดียว
กระบวนการต่างๆ ที่กล่าวมาจะต้องทำให้เกิดความจริงในสังคม ทำให้เห็นว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ เมื่อคนของรัฐเป็นฝ่ายกระทำผิด ก็ต้องมีการลงโทษผู้ที่กระทำด้วย แต่ตรงนี้ยังไม่ได้ดำเนินการ เมื่อยังไม่ได้ดำเนินการแล้ว สิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์กรือเซะกับตากใบก็ยิ่งตอกย้ำในเรื่องของความไม่ชอบธรรมของรัฐ
จุดนี้จึงเชื่อมโยงถึงประการที่ 2 คือต้องทำให้เกิดความเป็นธรรม แต่เรายังไม่พบความเป็นธรรมในพื้นที่ มีการใช้กฎหมายละเมิดความเป็นธรรมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการใช้กฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และต่อไปจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง
เรื่องความเป็นธรรมนั้น ยังหมายรวมไปถึงการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยกระบวนการตุลาการ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่าคำแถลงของศาลในคดีตากใบ (คำสั่งในคำร้องไต่สวนการตาย) กลับตรงกันข้ามกับความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะที่บอกว่าผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ แต่ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าทำไมเราไม่ดูที่ตัวต้นเหตุ การขาดอากาศหายใจนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของใคร และเกิดจากอะไร สิ่งนี้ต่างหากเป็นสาระสำคัญที่คนในพื้นที่เขาต้องการรับฟัง
เหล่านี้ผมจึงไม่แปลกใจที่พบว่าทำไมเหตุการณ์ความรุนแรงยังคงมีอยู่ เหตุการณ์ยิงที่มัสยิดอัลฟุรกอน (บ้านไอร์ปาแย ต.จวบ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส) การสร้างความเป็นธรรมไม่ได้อยู่ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร หรือฝ่ายปกครองอย่างเดียว แต่หมายถึงความเป็นธรรมในระบบตุลาการด้วย ซึ่งจะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเชื่อมั่นถ้าทุกอย่างเข้าสู่ระบบแล้ว รัฐจะต้องคืนความเป็นธรรมให้กับเขา ให้เขามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และดำรงอัตลักษณ์ของตัวเอง
อย่าลืมว่าความยุติธรรมที่เดินช้า ก็คือความอยุติธรรม เพราะฉะนั้นเราไม่ควรจะไปหลอกว่าจะมีนักการเมือง รัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีคนไหนมาช่วยแก้ไข้ปัญหา เอาความเป็นธรรมกลับคืนมา แต่ผมคิดว่าต้องเริ่มตั้งแต่บัดนี้ เดี๋ยวนี้ เพราะเรื่องของสิทธิเป็นเรื่องของทุกคน ทุกองค์กร ทุกพื้นที่ที่จะต้องทำ ผมคิดว่าการเมืองของภาคพลเมืองจะต้องทำงาน