เลือกตั้งมาเลย์เขย่าเก้าอี้ "นาจิบ" จับตาสะเทือนเจรจาบีอาร์เอ็น
การเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 ของมาเลเซียในที่ 5 พ.ค.2556 นอกจากจะเป็นการกำหนดอนาคตประเทศโดยประชาชนเหมือนการเลือกตั้งใหญ่ในประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ ทั่วโลกแล้ว ยังอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการเมืองมาเลเซียด้วย เพราะพรรคอัมโนที่ครองอำนาจการบริหารมาถึงครึ่งศตวรรษกำลังถูกท้าทายจากพรรคร่วมฝ่ายค้านที่นำโดย อันวาร์ อิบราฮิม
โพลล์เลือกตั้งล่าสุดโดยศูนย์วิจัยเมอร์เดกา ชี้ว่า คะแนนนิยมของฝ่ายค้านและรัฐบาลสูสีกันมาก แต่ตัวเลขผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจก็ยังมีสูง โดยผลสำรวจพบว่าฝ่ายค้านที่นำโดย นายอันวาร์ อิบราฮิม จะได้ที่นั่งในสภาอย่างน้อย 89 ที่นั่ง จากทั้งหมด 222 ที่นั่ง ส่วนรัฐบาลผสมแนวร่วมแห่งชาติของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ซึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันจะได้ 85 ที่นั่ง ขณะที่อีก 46 ที่นั่งที่เหลือนั้นยังไม่ชัดเจน โดยการจัดตั้งรัฐบาลจะต้องมีเสียงสนับสนุนในสภาอย่างน้อย 112 เสียง
ระบบการเลือกตั้งของมาเลเซียเป็นการเลือกตั้ง 2 ระดับ คือการเลือกตั้ง ส.ส.สำหรับรัฐสภาของรัฐบาลกลาง หรือ Federal Government และผู้แทนของสภาของรัฐต่างๆ เพื่อเป็นผู้บริหารระดับรัฐ หรือ State Government ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 รัฐ ทิศทางการเมืองของมาเลเซียจะถูกกำหนดด้วยการเลือกตั้ง 2 ระดับนี้ เพราะปกครองด้วยระบบสหพันธรัฐ ผลการเลือกตั้งที่ต้องติดตามคือ รัฐสภาของรัฐบาลกลาง มี ส.ส.ของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลกี่ที่นั่ง และของพรรคร่วมฝ่ายค้านกี่ที่นั่ง
นอกจากนั้นยังต้องดูว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านได้รับชัยชนะเป็นรัฐบาลของสภาท้องถิ่นกี่รัฐจากทั้งหมด 13 รัฐ เช่น รัฐกลันตันทางตอนเหนือที่อยู่ติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย เป็นของ "พรรคปาส" ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมฝ่ายค้านมาตลอด 20 ปี เป็นต้น
การเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2551 พรรคแนวร่วมฝ่ายค้านของนายอันวาร์แม้จะแพ้ในระดับรัฐบาลกลาง แต่กลับชนะได้ที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐ 5 รัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างกระแสฮือฮาจนวิจารณ์กันว่าเป็น "สึนามิการเมือง" ของมาเลเซีย
หลายฝ่ายกำลังจับตาว่า "สึนามิการเมือง" อาจเกิดขึ้นอีกครั้งในการเลือกตั้งใหญ่หนนี้ และน่าจะส่งผลรุนแรงมากกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน!
เปิดโผแนวร่วม "รัฐบาล-ฝ่ายค้าน"
ก่อนจะไปสู่บทวิเคราะห์การเลือกตั้งของมาเลเซีย ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพรรครัฐบาลกับพรรคฝ่ายค้านนั้น ไม่ได้เป็นพรรคเดี่ยวๆ แค่ 2 พรรคเหมือนการเมืองของสหรัฐอเมริกา แต่เป็น "พรรคร่วม" ที่ประกอบกันด้วยพรรคใหญ่น้อยหลายพรรคจับมือกัน ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ลองมาไล่ดูข้อมูลกันก่อนว่าพรรคใดอยู่ข้างไหนบ้าง
เริ่มจาก "พรรคร่วมรัฐบาล" เรียกว่า "กลุ่มแนวร่วมแห่งชาติ" หรือ Barisan Nasional (BN) ประกอบด้วยพรรคการเมืองสำคัญ ได้แก่ พรรคอัมโน (UMNO ; United Malays National Organization) พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย หรือ MCA (Malaysia Chinese Association) พรรคสภาอินเดียมาเลเซีย หรือ MIC (Malaysia Indian Congress) พรรค Gerakan พรรคเอกภาพภูมิบุตรอนุรักษ์นิยม หรือ PPBB (Parti Pesaka Bumiputera Bersatu) พรรคแห่งชาติซาราวัค หรือ SNP (Sarwak National Party) และพรรคเล็กพรรคน้อยระดับรัฐอีกจำนวนหนึ่ง
ขณะที่ "พรรคร่วมฝ่ายค้าน" เรียกว่า "กลุ่มพันธมิตรฝ่ายค้าน" หรือ Pakatan Rakyat (PKR) ประกอบด้วย พรรคปาส หรือ PAS (Pan-Islamic Malaysian Party หรือ Parti Islam Se-Malaysia) พรรคดีเอพี หรือ DAP (Democratic Action Party) ซึ่งเป็นพรรคตัวแทนของคนมาเลเซียเชื้อสายจีน และพรรคพีเคอาร์ หรือ PKR (Parti Keadilan Rakyat หรือ People's Justice Party) ซึ่งเป็นพรรคของ นายอันวาร์ อิบราฮิม
จับตากระทบเจรจา"ไทย-บีอาร์เอ็น"
การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียเที่ยวนี้ นอกจากจะมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับประเทศไทยในฐานเพื่อนบ้านใกล้ชิดและเป็นหุ้นส่วนสำคัญใน "ประชาคมอาเซียน" ที่จะเริ่มนับหนึ่งในอีก 2 ปีข้างหน้าแล้ว ยังน่าจะมีผลต่อการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน นำโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นด้วย
เพราะมาเลเซียคือ "ผู้อำนวยความสะดวก" ให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการและเปิดเผยเป็นครั้งแรกตั้งแต่ไทยเผชิญปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา
สถานะ "ผู้อำนวยความสะดวก" หรือ facilitator เป็นการสนับสนุนของ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรี และผู้นำพรรคร่วมรัฐบาล หรือกลุ่ม BN ที่กำลังช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.กับพรรคฝ่ายค้านอยู่ในขณะนี้ ฉะนั้นหากการเมืองเปลี่ยนขั้ว ย่อมส่งผลต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ได้ริเริ่มเอาไว้ไม่มากก็น้อย
โดยเฉพาะคำสั่งแต่งตั้ง ดาโต๊ะ สรี อาห์มัด ซัมซามิน ฮาซิม อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสำนักข่าวกรองมาเลเซียเป็น "ผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย" นั้น เป็นคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ลงนามโดย นายนาจิบ ราซัก ฉะนั้นหากการเมืองเปลี่ยนขั้ว ฝ่ายค้านชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลแทน หรือแม้แต่ขั้วเดิมแต่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี คำสั่งต่างๆ ของอดีตนายกฯนาจิบ ก็ต้องถูกรีวิวใหม่ทั้งหมด แม้จะไม่ยกเลิก แต่ก็ต้องรอขั้นตอนกระบวนการยืนยันคำสั่งระยะเวลาหนึ่ง กระบวนการพูดคุยสันติภาพก็อาจจะต้องสะดุดลงชั่วคราว (ในกรณีที่รัฐบาลไทยกับแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นไม่มีช่องทางติดต่อกันโดยตรง หรือใช้กลไกอื่นในการประสานงานกัน)
คาดรัฐบาลเสียแน่ๆ 4-7 ที่นั่ง
ตำรวจสันติบาลฝ่ายต่างประเทศของไทยซึ่งประจำอยู่ที่มาเลเซีย วิเคราะห์ให้ฟังว่า การเลือกตั้งมาเลเซียมี 2 ระดับ คือ การเลือกตั้ง ส.ส.ระดับชาติ (PERLIMEN) จำนวน 222 ที่นั่ง และการเลือกตั้งสภาแห่งรัฐ (DUN) จำนวน 505 ที่นั่ง เฉพาะรัฐกลันตันพรรคฝ่ายค้านชนะมา 20 ปี แต่ครั้งนี้เกือบทุกรัฐต่างฝ่ายต่างมีลุ้น 50 : 50
สำหรับ 4 รัฐทางตอนเหนือของมาเลเซียที่ติดกับไทย (ส่วนใหญ่เป็นเขตติดต่อสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสงขลา) ไม่ได้เป็นพื้นที่ของฝ่ายค้านหมด ตอนนี้มีแค่กลันตันกับเคดาห์ที่ฝ่ายค้านปกครอง ส่วนรัฐเปอร์ลิสเป็นของรัฐบาล ตอนนี้รัฐบาลต้องการได้ที่นั่ง 2 ใน 3 เพื่อจะได้ดึงรัฐเหล่านี้กลับคืนมา
การเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าคาดเดาผลค่อนข้างยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งเสริมคะแนนนิยมของรัฐบาล เช่น นโยบายประชานิยม และการเร่งพัฒนาประเทศในรัฐทางตอนเหนือซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย ฉะนั้นคิดว่าคะแนนเสียงในรัฐทางตอนเหนือไม่น่าจะเป็นรองพรรคร่วมฝ่ายค้านมากนัก นั่นคือจำนวน ส.ส.มีแนวโน้มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งความนิยมในพรรคร่วมฝ่ายค้านกลับสูงขึ้นในรัฐทางตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะพรรค PKR ของ นายอันวาร์ อิบราฮิม มีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น
"การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พรรคร่วมรัฐบาลได้ไป 137 ที่นั่งจาก 222 ที่นั่ง ซึ่งถือว่าไม่สูง และครั้งนี้หากรัฐบาลได้เสียงเพิ่มขึ้นจากรัฐทางตอนเหนือจริงประมาณ 3 ที่นั่ง และได้เพิ่มจากรัฐอื่นๆ อีก 5 ที่นั่ง ก็จะได้เพิ่มขึ้นรวม 8 ที่นั่ง แต่ก็ต้องระวังจะแพ้พรรคฝ่ายค้านในรัฐทางตอนกลางของประเทศ ซึ่งประเมินว่าน่าจะแพ้ประมาณ 12 ที่นั่ง ฉะนั้นจำนวนที่นั่งในสภาของพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะลดลง 4-7 ที่นั่ง"
2ปมชี้ขาด "เชื้อชาติ-ทุจริต"
สำหรับจุดชี้ขาดการเลือกตั้ง ตำรวจสันติบาลไทยที่ฝังตัวทำงานอยู่ในมาเลเซีย มองว่า น่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ ถือเป็นความเปราะบางทางการเมืองที่ไม่มีใครคาดเดาได้ โดยเฉพาะความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจในการเป็นพลเมืองชั้นสองของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนและอินเดียที่ซ่อนลึกมาอย่างยาวนานและพรรครัฐบาลเป็นคนก่อ เห็นได้ชัดจากการหันไปสนับสนุนฝ่ายค้านแบบเต็มตัว
อีกเรื่องคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในแวดวงการเมืองและราชการที่ขยายกว้างมากขึ้น ถือเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับมาในระยะเวลาอันสั้น รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม เพราะ นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกกระทำทางการเมืองอย่างชัดเจน กลายเป็นบาดแผลลึก ทั้งหมดนี้เป็นโจทย์ข้อยากของรัฐบาลที่จะหาทางออกและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
"ประเมินโดยทั่วไปแล้วรัฐบาลจะได้เสียงมากกว่า 2 ใน 3 คงยาก เว้นแต่ว่าพรรคฝ่ายค้านจะไปสะดุดขาตัวเอง เพราะตอนนี้ผู้นำฝ่ายค้านโดนคดีเยอะแยะ ทว่าตัวเขาเองก็ได้คะแนนนิยมมากขึ้น แต่ก็มีข้อสังเกตอีกเช่นกันว่า เดิมมีคนสงสารอันวาร์ว่าโดนกลั่นแกล้งทางคดี แต่ครั้งนี้คงไม่มีคะแนนสงสารแล้ว"
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนให้เกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น ตำรวจสันติบาลรายนี้ บอกว่า ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่เห็นด้วยและชื่นชมรัฐบาล แต่คงต้องแยกกับเรื่องการลงคะแนนเสียงให้ เพราะชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินใจลงคะแนนให้รัฐบาลเพราะเรื่องนี้
ชนะไม่เยอะสะเทือนเก้าอี้"นาจิบ"
ด้านเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงที่ทำหน้าที่ดูแลคนไทยในมาเลเซีย กล่าวว่า มีสถาบัน 2-3 แห่งที่ทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าส่วนใหญ่ชี้ว่าพรรครัฐบาลจะชนะ แต่จะชนะด้วยเสียงข้างมากหรือไม่ยังไม่แน่ใจ แต่ก็คิดว่ายาก
"ถ้าหากพรรครัฐบาลได้เสียงไม่ถึง 2 ใน 3 เหมือนในอดีต คือ 2 ใน 3 ของ 222 ที่นั่ง ซึ่งจะต้องได้ประมาณ 148 ที่นั่ง ผมคิดว่าสถานะนายกฯของท่านนาจิบก็คงลำบาก และอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคอัมโนในอนาคต"
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : 1 และ 2 การติดสัญลักษณ์เพื่อหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองมาเลเซีย โดยมากเน้นติดธงราวและป้ายผ้าเป็นหลัก