ชัดๆ อีกครั้งกับผู้นำมาเลเซีย...อะไรคือรูปแบบ “การปกครองพิเศษ” สำหรับชายแดนภาคใต้?
กัณหา แสงรายา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
แม้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง “นครปัตตานี” หรือ “เขตปกครองพิเศษ” เพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่หลายวัน จะวูบหายไปแทบจะทันที เมื่อมีข่าวใหม่ว่าด้วย “สัมพันธ์ร้าวไทย-เขมร”
แต่ก็เชื่อเถิดว่าประเด็นเกี่ยวกับ “นครปัตตานี” หรือที่บางคน (อาจจะ) หวังดีเพิ่มคำว่ารัฐเข้าไปว่า “นครรัฐปัตตานี” รวมถึงเรื่อง “เขตปกครองพิเศษ” จะยังไม่ปิดฉากไปอย่างถาวรในวงสนทนาของสังคมไทย ตราบเท่าที่สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังไม่สงบและสันติสุข
ที่น่าสนใจก็คือ การเปิดประเด็นเรื่องนี้ไม่ได้เริ่มมาจาก “คนกันเอง” อย่างอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เท่านั้น แต่ยังเป็นข้อเสนอผ่าน นายนาจิ๊บ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย และมีพรมแดนติดกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
มีความสับสนอยู่บ้างว่า สิ่งที่ นายนาจิ๊บ พูดนั้น จริงๆ หมายถึงอะไร และ “การปกครองแบบพิเศษ” ของเขา กินความหมายกว้างแค่ไหน
“ทีมข่าวอิศรา” แปลบทสัมภาษณ์ นายนาจิ๊บ ราซัก ที่สัมภาษณ์โดย นายสุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ฉบับวันที่ 29 ต.ค.2552 ชื่อเรื่องว่า What does Najib Razak mean by 'autonomy' for the South? เพื่อให้สังคมไทยได้พิจารณากันชัดๆ อีกครั้ง...
สุทธิชัย : ผมเข้าใจว่าท่านจะมาเยือนไทยอีกในเดือนธันวาคมนี้?
นาจิ๊บ : ผมจะมาร่วมในการประชุมประจำปี ท่านนายกฯอภิสิทธิ์แนะนำผมว่า ผมควรจะได้ไปภาคใต้ ผมตอบรับคำเชิญไปแล้ว เป็นอันว่าเราทั้งสองก็จะล่องใต้ไปด้วยกัน
O เป็นครั้งแรกที่สองนายกรัฐมนตรีจะไปเที่ยวชายแดนใต้ด้วยกัน...
อ้อ...อดีตนายกรัฐมนตรีของเรา (นายอับดุลเลาะ อาหมัด บาดาวี) ก็เคยไปกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อทำพิธีเปิดสะพาน (สะพานบูเก๊ะตา ที่ อ.แว้ง จ.นราธิวาส)
O ท่านกำลังคิดอะไรอยู่เกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้?
ผมคิดว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่ปัญหาที่ยากเย็นอะไรเลย มันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ เพราะคนภาคใต้น่ะ...ข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่ใช่เรื่องหนักหนาอะไร มันอยู่ในขอบเขตของ...คุณสามารถพิจารณาข้อเรียกร้องของพวกเขาได้ พวกเขาไม่ได้เรียกร้องเอกราชอะไร ประเด็นเรื่องเอกราชนั่นน่ะ มันหลุดพ้นจากสารบบปัญหาไปแล้ว
O จริงหรือครับ มันไม่เป็นประเด็นปัญหาอีกแล้วหรือ?
จบไปแล้วอย่างสมบูรณ์ สิ่งที่ผมและเรากำลังพูดกับพวกเขาคือการเป็นส่วนหนึ่งในการปกครองพิเศษบางลักษณะ คุณอาจไม่ต้องการเรียกมันว่า autonomy (การปกครองตนเอง หรือการปกครองพิเศษ) แต่อย่างน้อยที่สุด บางรูปลักษณะของมันเป็นอะไรที่มีสารัตถะและสำคัญสำหรับพวกเขา
ยกตัวอย่างเช่น ในเรื่องการศึกษา การเลือกสรรผู้นำท้องถิ่น การจัดจ้างแรงงาน รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาด้านศาสนา เหล่านี้คือสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา มันไม่ไปกระทบรัฐธรรมนูญอะไรเลย หรือแม้แต่ก้าวล่วงในเรื่องที่ว่าไทยปกครองประเทศกันอย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลสามารถขบคิดพิจารณาที่จะทำเพื่อประชาชนของตน
O ท่านคิดว่าไทยควรจะให้สิทธิปกครองตนเองแค่ไหน?
ไม่ใช่ผมที่จะตัดสินใจ ผมเองก็อยากให้มันชัดเจนในเรื่องนี้ คือมันเป็นเรื่องการพิจารณาของเจ้าบ้านเขา เป็นเรื่องภายใน (ของแต่ละรัฐ) เราเองต้องการช่วยเหลือกันเท่าที่เป็นไปได้ พวกคุณคนไทยควรจะรู้สึกสะดวกใจกับการปกครองพิเศษในบางระดับนะ
O มาเลเซียจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในแง่นี้?
ใช่ ผมหมายความว่าในส่วนของเราก็จะให้การช่วยสนับสนุนเท่านั้น เราจะไม่ไปเจ้ากี้เจ้าการในเรื่องการเจรจาในส่วนของไทย เราจะไม่ไปไกลเกินกว่าที่เพื่อนที่ดีควรทำ เราจำต้องเคารพในอำนาจอธิปไตยของไทย
O ยังมีข้อสงสัยว่า จริงหรือที่ว่ามีการเกื้อกูลพวกสุดโต่ง (พวกแบ่งแยกดินแดน) ในภาคใต้ข้ามมาจากอีกฟากฝั่งหนึ่งของชายแดน?
ไม่มีเลยอย่างเด็ดขาด
O ไม่ว่าทางการหรือไม่ทางการ...
ไม่เด็ดขาด
O บางทีการเกื้อหนุนไม่ได้มาจากภาครัฐบาล แต่มาจากบางกลุ่มที่แน่นอนอาจจะเป็นนักการเมืองบางกลุ่ม ซึ่งได้รับประโยชน์จากปัญหาชายแดน
ผมคิดว่านั่นไม่เกี่ยวกับกรณีนี้ ระดับของความสงสัยนั้นน่ะ ผมขอบอกว่ามันแทบจะเป็นเรื่องขี้ปะติ๋วไปเลย เรามีปัญหาที่ประชาชนข้ามพรมแดนไปมา ซึ่งเกิดจากที่เขาถือสองสัญชาติ เราก็กำลังแก้ไขปัญหานี้อยู่ มีบุคคลสองสัญชาติอยู่ราวๆ 20,000-25,000 คน เราควรจะขอให้เขาตัดสินใจว่าจะเลือกเป็นพลเมืองไทยหรือพลเมืองมาเลย์ดี
O แต่ประเด็นนี้เป็นเรื่องได้มีการหารือกันมานานแล้ว
ผมทราบ
O ทำไมถึงแก้ไม่ได้เสียที?
เป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องนั่งลงร่วมกันพิจารณาลักษณะทางเทคนิคของมัน
O พูโล (องค์กรแนวร่วมปลดปล่อยปัตตานี) รวมทั้งขบวนการอื่นๆ ที่เกี่ยวกันกล่าวว่า พวกเขาต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐปัตตานี แสดงว่าพวกเขาไม่ได้ต้องการแค่ปกครองตนเอง (ในเขตปกครองพิเศษ) มันคือเอกราชที่เขาต้องการ เป็นรัฐอิสระที่แยกตัวออกไปเลย มาเลเซียคิดจะได้สาธารณรัฐปัตตานีเป็นเพื่อนบ้านไหมครับ?
ไม่ละครับ ไม่เด็ดขาด เราจะบอกพวกเขาว่ามันไม่มีทางนั้น มันเป็นอะไรที่เป็นจริงไปไม่ได้ พวกเขาไม่ควรเรียกร้องอย่างนั้น พวกเขาควรเป็นมุสลิมที่ดี เป็นพลเมืองไทยซึ่งจะต้องจงรักภักดีต่อประเทศไทย ต่อพระมหากษัตริย์ และต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พวกเขาพึงเป็นมุสลิมที่ดี และพึงได้รับความยินยอมให้เป็นมุสลิมที่ดีด้วย นั่นคือ ‘ระบบ’ ของประเทศไทยเองก็จะต้องพร้อมยอมให้ในสิ่งเหล่านี้ มากเท่าๆ กับที่มาเลเซียให้แก่พลเมืองของตน (ทุกกลุ่มชนทั้งคนเชื้อสายไทย) ในมาเลเซีย
(อ่านต้นฉบับได้จาก
http://www.nationmultimedia.com/2009/10/29/opinion/opinion_30115422.php Retrieved: 20:41 4/11/2552)