หนุน‘ปศุสัตว์สีเขียว’ 700ล. – เอกชนรับลูกปรับกระบวนผลิตเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม
กษ.หนุนงบ 700 ล้าน ดันฟาร์มปศุสัตว์สีเขียวรักษาสิ่งแวดล้อม-สร้างมูลค่าจากมูลสัตว์ เอกชนรับลูกธุรกิจรับผิดชอบสังคม แนะรบ.เลิกบิดเบือนกลไกตลาด
วันที่ 2 พ.ค.56 ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) กล่าวบรรยายพิเศษในการเปิดประชุมวิชาการงานมหกรรมปศุสัตว์แห่งชาติปี 2556 หัวข้อ ‘การเกษตรและปศุสัตว์ไทยในยุคเศรษฐกิจสีเขียว’ ว่า เรื่องสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารที่รัฐบาลให้ความสำคัญในขณะนี้ คือ ปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรโลกในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งจะมีจำนวนราว 9,000 ล้านคน นำไปสู่ปัญหาการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะอาหารประเภทโปรตีน และปัญหาการขาดแคลนพลังงาน เช่น แก๊สธรรมชาติ จึงเป็นภารกิจสำคัญของแต่ละประเทศที่จะจัดการให้ประเทศของตนมีอาหารและพลังงานเพียงพอต่อการบริโภค
นอกจากนี้ผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลก และภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปี ยังส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารประเภทพืชและสัตว์ ในแง่การผสมพันธุ์ และความอยู่รอดของผลิตผล ทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเตรียมการแก้ไข ซึ่งปัจจุบันการแก้ปัญหาผลิตผลทางการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยี ก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ป่า ดิน และน้ำเสื่อมโทรมด้วย
สำหรับประเทศไทยการเสริมสร้างความมั่นคงอาหารควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่เกษตรกรรม 150 ล้านไร่ ถือเป็นยุทธศาสตร์ประเทศที่สำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะในด้านปศุสัตว์ซึ่งไทยมีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการกระจายพันธุ์ปศุสัตว์ในภูมิภาคอาเซียน
รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)มีนโยบายในการผลักดันให้เกิดกระบวนการทางปศุสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้งบประมาณปี 2557 จำนวน 700 ล้านบาท โดยพัฒนาฟาร์มปศุสัตว์ให้ได้มาตรฐาน กล่าวคือ ส่งเสริมการจัดการกระบวนการผลิตให้มีของเสียเหลือทิ้งน้อยที่สุด และสร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะ เช่น การบำบัดน้ำเสียจากคอกสัตว์ การนำมูลสัตว์ไปแปรรูปทำปุ๋ยคอก หรือ ผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้เพิ่ม อย่างไรก็ดีกระบวนการทางปศุสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในการจัดการ เช่น เรื่องของการใช้ยา วัคซีน หรือการควบคุมโรค โดยหน่วยของของกษ.เช่นกรมปศุสัตว์จึงจะต้องมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมแนวทางดังกล่าวให้ชัดเจนและได้ผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นไป
“เวลานี้กระบวนการทำปศุสัตว์สีเขียวของไทยมีแนวโน้มที่ดี โดยเชื่อว่ากระบวนการดังกล่าวจะให้อาชีพปศุสัตว์อยู่ยืนยงได้ในสังคมโลกปัจจุบันที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและคุณภาพอาหารมากขึ้น” นายยุคลกล่าว
ด้านนายอเนก บุญหนุน รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพีเอฟ) กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาปศุสัตว์ในอนาคต”ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการส่งออกเนื้อสัตว์2.7ล้านตันต่อปี ซึ่งภาคปศุสัตว์เป็นภาคที่สร้างมลพิษ และทำให้โลกเกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด การประกอบธุรกิจด้านปศุสัตว์ในยุคปัจจุบันจึงต้องทำควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบต่อสังคมซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐในปัจจุบันที่ภาคเอกชนไทยพร้อมให้การสนับสนุน
“บริษัทส่งออกเนื้อสัตว์อันดับหนึ่งของโลกอย่างเจบีเอส(JBS)ในประเทศบลาซิลให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจโดยรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เป็นสำคัญ โดยธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นสามสิ่งที่ต้องควบคู่กันเพื่อทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน โดยแนวโน้มของบริษัทผลิตอาหารทั่วโลกขณะนี้ปรับตัวเข้าสู่บทบาทของการผลิตโดยการลดและกำจัดของเสียต่างๆและนำมาแปรรูปให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น”รองกรรมการผู้จัดการบริหารซีพีเอฟกล่าว
นายอเนก กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ดีสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมปศุสัตว์ คือ 1. ให้ราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกของเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว โดยไม่ต้องการให้นำปัจจัยทางการเมืองมามีส่วนในการควบคุมราคา 2. วางแผนจัดสรรพื้นที่ปศุสัตว์ และพืชวัตถุดิบของอาหารสัตว์ให้ชัดเจน 3. สนับสนุนการวิจัยพัฒนาและให้ข้อมูลความรู้แก่เกษตรกรทุกภาคส่วน4.จัดงบประมาณสนับสนุนช่วยเหลือผู้ผลิตรายย่อยในภาวะผันผวน และ5.ดำเนินการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้คนไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้