ป.ป.จ. จงระวังหลุมพรางกับดัก
บัดนี้ ป.ป.ช.ได้ออกระเบียบว่าด้วยกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประจำจังหวัด พ.ศ.๒๕๕๕ และกำลังดำเนินกระบวนการจัดตั้งและสรรหาบุคคลอย่างเร่งรีบตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ขั้นแรกการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ออกไปเป็นผู้อำนวยการ ป.ป.จ.ทุกจังหวัดจะเสร็จในราวกุมภาพันธ์ จากนั้นกระบวนการเลือกกรรมการสรรหา ๙ คนของแต่ละจังหวัดและคัดเลือกกรรมการ ป.ป.จ.๓-๕ คนคาดว่าคงเริ่มต้นในเดือนเมษายน
ป.ป.จ.ที่ว่านี้ มีอำนาจหน้าที่มากมายทีเดียว ทั้งส่งเสริมรณรงค์ ให้ความเห็นเสนอแนะ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องกล่าวหา ตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่ของทรัพย์สินและหนี้สิน และงานที่รับมอบอื่น เว้นแต่การไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๔๓ ที่สำคัญคือกรรมการป.ป.จ.จะเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ระยะเวลา ๔ ปีตามวาระ โดยมีเงินเดือน ๔๗,๒๔๐ - ๕๗,๖๕๐ บาทพร้อมสวัสดิการครบถ้วน ซึ่งคงใช้เงินเพิ่มไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาทต่อปีเพื่อการนี้
เท่าที่ศึกษาจากเอกสารและรับฟังข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผมยังไม่รู้สึกว่านี่เป็นนวัตกรรมอะไรที่ใหม่นักเพราะหน่วยงานรัฐส่วนกลางอื่นเขาก็ตั้งส่วนราชการระดับจังหวัดขึ้นมาช่วยทำงานทั้งนั้น แต่อย่างไรก็ตามสำหรับหน่วยงานอิสระตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องระวังให้มากว่าจะไม่เป็นการตั้งกลไกตรายางมารับรองการทุจริตเสียเอง แบบ ก.ก.ต.จังหวัด
@เรื่องแรก การได้ตัวบุคคล
กระบวนการและขั้นตอนตามที่ออกแบบไว้นี้ดูเหมือนดี แต่บทเรียนการสรรหาของสภาที่ปรึกษาฯ สภาพัฒนาการเมือง กรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และ ก.ก.ต.จังหวัดก็คล้ายกันนี้และตกหลุมพรางไปหมดแล้ว คือเจอบล็อกโหวตแบบไทยๆ เข้าก็เสร็จหมด การสรรหากรรมการ ป.ป.จ.จึงต้องระวังให้จงหนักและวางแผนแก้เกมให้ดี พึงตระหนักว่า ในความเป็นจริงพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆ นั้นได้ถูกครอบงำโดยอิทธิพลนักการเมืองและระบบอุปถัมภ์ที่แน่นหนาไปเกือบหมดสิ้นแล้ว ยิ่ง ป.ป.จ.มีเงินเดือน ผลประโยชน์และสถานะเชิงอำนาจที่ล่อตาล่อใจแบบนี้ นักการเมืองเขาจัดทัพเตรียมคนไว้รอท่ากันแล้ว มีเลือดโกงในตัวและมีสายสัมพันธ์โยงใยกันทั้งนั้น
วิธีแก้จึงต้องทำให้กระบวนการสรรหากลายเป็นเรื่องของสาธารณะในจังหวัด ที่เปิดเผย โปรงใสและครึกโครมให้มากที่สุด เรียกว่าใครสมัครก็ต้องพร้อมให้สังคมตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติผลงานอย่างล้อนจ้อนกันทีเดียว อย่าทำมุบมิบแบบขอไปที่เป็นอันขาด องค์กรภาคประชาสังคมระดับชาติทั้งหลายแหล่ที่มีศักยภาพในด้านเครือข่าย คงต้องขอแรงเข้าไปช่วยป.ป.ช. อย่าปล่อยให้ทำอย่างโดดเดี่ยวนะครับ
@เรื่องที่สอง สถานะของกรรมการ ป.ป.จ.
เมื่อได้ตัวบุคคลเข้ามาแล้วอย่าคิดว่าทุกคนจะเข้าใจและมีอุดมการณ์ จักต้องปฐมนิเทศกันให้ชัดว่ากรรมการมีสถานะเช่นไร มีกรอบภารกิจและอำนาจหน้าที่แค่ไหน ต้องไม่เข้ามาทำตัวเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ไปยุ่มย่ามการบริหารจัดการของสำนักงาน อย่างที่นักการเมืองเขาทำกัน
กรรมการ ป.ป.จ.ต้องเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุนคุ้มครองการปฏิบัติวิชาชีพของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้มีอิสระในงานตรวจสอบข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐาน บันทึกถ้อยคำเพิ่มเติมและการสรุปให้ความเห็น โดยไม่ให้อิทธิพลภายนอกแทรกแซงและต้องไม่ไปก้าวก่ายเสียเอง ส่วนในขั้นการพิจารณาเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช.ใหญ่นั้น กรรมการ ป.ป.จ.แต่ละท่านต้องใช้ดุลพินิจที่เป็นอิสระของตนอย่างซื่อสัตย์ซื่อตรงอีกครั้ง ก่อนที่จะสรุปเป็นมติขององค์คณะ นอกจากนั้นต้องย้ำกันให้หนักแน่นว่า ประเด็นคุณธรรมจริยธรรมในการทำงานนั้นสำคัญยิ่งยวดเพราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตายของ ป.ป.ช.โดยรวม
@เรื่องที่สาม ช่วยจัดการคดีพอกหางหมู
แม้บทบาท ป.ป.จ.จะไม่มีหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงตามมาตรา ๔๓ แต่ก็ต้องรับเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งคาดได้ว่าจะทำให้มีคดีเข้ามาเพิ่มอีกเยอะ ในขณะที่คดีเดิมคั่งค้างอยู่ ๗,๑๒๑ คดี และมีบัญชีทรัพย์สินฯที่รอการตรวจสอบอีก ๓๕,๗๕๗ ราย นับเป็นปัญหาที่ท้าทายต่อการจัดการอย่างยิ่ง
อย่างหลังนั้นคงไม่ยาก เพราะ ป.ป.จ.จะช่วยแบ่งเบาได้มากและยิ่งถ้าใช้มาตรการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินฯของบุคคลผู้จะมาใช้อำนาจรัฐและงบประมาณจากภาษี ให้ประชาชนในจังหวัดของเจ้าตัวได้ทราบ สังคมท้องถิ่นจะช่วยแบ่งเบาการตรวจสอบของ ป.ป.ช.ได้เป็นอย่างดี ขอเพียงให้ใส่ข้อมูลทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์ ป.ป.จ.และไม่ต้องใช้พาสเวิร์ดเท่านั้น และเมื่อภาระพื้นฐานเหล่านี้ผ่อนเบาลง ป.ป.ช.จะได้มีเวลาคิดสร้างสรรค์ต่อยอดไปสู่การตรวจสอบความสมเหตุสมผลในการเสียภาษีของนักการเมืองและเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง สร้างบรรทัดฐานการมีอาชีพสุจริตและเสียภาษีแก่รัฐ
ส่วนการจัดการคดีที่คั่งค้างนั้น คิดถูกแล้วที่ไม่ให้ ป.ป.จ.ทำ เพราะแบบนั้นจะเกิดการเคลียร์คดีและประทับตรายางได้ง่าย แต่หากใช้วิธีออกแบบให้มีหน่วยสอบสวนพิเศษประจำพื้นที่ในระดับกลุ่มจังหวัดหรือภูมิภาคแบบส.ต.ง.เขต โดยให้มาแบ่งเบาคดีเหล่านี้ก็น่าจะช่วยได้มาก
@เรื่องที่สี่ การผนึกกำลังภาคีต้านทุจริต
ในสถานการณ์ปัจจุบัน งานปราบปรามทุจริตยังคงมีความสำคัญยิ่งนัก จะเบื่อหน่ายท้อแท้ไม่ได้ การปราบปรามนั้นต้องใช้นักวิชาชีพและการทำงานแบบมืออาชีพ (ในด้านการสืบสวนสอบสวน) ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ภาคีที่เข้ามาช่วยจะเป็นได้ก็แค่อาสาสมัครเท่านั้น ตรงนี้ต้องไม่หลงประเด็นจนมั่วไปหมด ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ใหญ่ที่จะต้องพัฒนากำลังคนด้านนี้อย่างเอาใจใส่ เพื่อให้พวกเขาได้มีขีดความสามารถ มีศักดิ์ศรี มีเกียรติภูมิ ได้รับการกระจายอำนาจที่เหมาะสมและใช้อำนาจอย่างซื่อตรงมีคุณธรรม
สำหรับงานป้องกันนั้น เมื่อมีกลไก ป.ป.จ.ก็น่าจะทำบทบาทการผนึกกำลังภาคีในระดับพื้นที่ได้ดีขึ้น ทั้งเครือข่ายภาคประชาสังคม สื่อมวลชนสายพันธ์ปฏิรูป ภาคธุรกิจเชิงคุณธรรมและกลไกพื้นที่ขององค์กรอิสระอื่นๆ ขอเพียงแต่คิดนอกกรอบและก้าวให้พ้นความเป็นราชการของตนให้ได้เท่านั้น
ขอให้กำลังใจครับ
พลเดช ปิ่นประทีป (มกราคม ๒๕๕๖)