9 ปีกรือเซะ...ชีวิตหลังเยียวยาของครอบครัวเหยื่อความรุนแรง
บ้านครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้นปลูกติดกัน 4 หลังแห่งนี้คือบ้านของ คอลีเยาะ หะหลี และพี่น้องของเธอที่บ้านส้ม ต.ควนโนรี อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งได้สร้างต่อเติมบ้านเดิมจนมีสภาพที่เรียกได้ว่าใหญ่โตทีเดียว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกแต่ละครอบครัวดีขึ้น โดยเงินที่ใช้ในการต่อเติมบ้านมาจากเงินเยียวยากรณีกรือเซะที่รัฐบาลจ่ายให้รายละ 4 ล้านบาท ซึ่งบิดาของคอลีเยาะคือหนึ่งในผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 หรือที่เรียกกันติดปากว่า "เหตุการณ์กรือเซะ" เมื่อ 9 ปีที่แล้ว
เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547 แม้จะเรียกกันว่า "เหตุการณ์กรือเซะ" แต่แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ มัสยิดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองปัตตานีเพียงแห่งเดียว เพียงแต่ที่มัสยิดกรือเซะมีความสูญเสียมากที่สุด คือมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 ราย แต่ยังมีความสูญเสียในจุดอื่นๆ อีกนับสิบจุดใน จ.ปัตตานี ยะลา และสงขลา จากการบุกโจมตีป้อมจุดตรวจของกลุ่มวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนตั้งแต่เช้ามืดของวันนั้น
ป้อมจุดตรวจแห่งหนึ่งที่ถูกโจมตีคือ "จุดตรวจกรือเซะ" ต.ตันหยงลูโละ อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ด้านหน้ามัสยิดเก่าแก่ ผู้บุกรุกส่วนใหญ่มีเพียงมีด กริช และไม้ จึงมิอาจต้านทานการป้องกันและตอบโต้ของเจ้าหน้าที่ได้ กลุ่มผู้โจมตีส่วนหนึ่งวิ่งหนีเข้าไปในมัสยิดกรือเซะ หลายฝ่ายเชื่อว่ามีชาวบ้านมุสลิมที่ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์จำนวนหนึ่งประกอบศาสนกิจอยู่ก่อนแล้ว
เจ้าหน้าที่ปิดล้อมและเจรจาต่อรองให้กลุ่มผู้บุกรุกยอมวางอาวุธและมอบตัว ทว่าเจรจาตั้งแต่เช้าถึงบ่ายก็ไม่เป็นผล การข่าวของฝ่ายความมั่นคงแจ้งว่าหากปล่อยให้เย็นย่ำค่ำมืดอาจเกิดเหตุการณ์แทรกซ้อนขึ้นได้ จึงมีคำสั่งให้ยิงอาวุธหนักเข้าไปในมัสยิดจนมีผู้เสียชีวิตมากถึง 32 คนดังกล่าว
บิดาของคอลีเยาะอยู่ ณ ที่นั้น เธอเชื่อว่าบิดาไม่ใช่คนร้าย แต่เป็นคนที่เข้าไปปฏิบัติศาสนกิจอยู่ก่อน และน่าจะมีคนอย่างบิดาของเธออีกหลายคน...
ครอบครัวของคอลีเยาะมีพี่น้องท้องเดียวกัน 9 คน เมื่อพ่อตายก็ยังเหลือแม่คือ ปาตีเมาะ วัย 60 ปี เงินเยียวยาที่ได้รับ 4 ล้านบาทถูกแบ่งออกเป็น 10 ส่วนเท่าๆ กันโดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และจ่ายเป็นเช็คให้สมาชิกครอบครัวทั้ง 10 คน คนละ 4 แสนบาท ส่วนใครจะบริหารจัดการเงินอย่างไรเป็นสิทธิของคนนั้น ซึ่งคอลีเยาะบอกว่า เงินที่ได้มาส่วนใหญ่ พี่ น้อง แม่ และตัวเธอเองใช้ไปในการต่อเติมบ้าน ซื้อที่ดิน และจำนำสวนยางพารา รวมทั้งใช้สอยในสิ่งที่เป็นประโยชน์
"ด้วยความที่แต่ละครอบครัวมีลูกหลายคน อย่างของพี่ชายมี 7 คน ของฉันเองมี 4 คน รวมลูกของพี่น้องคนอื่นด้วยทั้งหมด 23 คน เมื่อก่อนอยู่กันแต่ละบ้านก็อึดอัด แต่ก็ต้องอยู่ เมื่อได้เงินมาก็แบ่งเท่ากันทุกคน เอามาต่อเติมบ้านกัน ตรงนี้มี 4 หลัง คือ บ้านฉัน บ้านน้องสาว บ้านแม่ และบ้านพี่ชาย ใช้เงินซื้อวัสดุอุปกรณ์ไม่มาก ส่วนค่าแรงไม่ต้อง เพราะพี่ๆ น้องๆ ช่วยกันทำทั้งหมด เงินส่วนหนึ่งเอาไปจำนำสวนยาง อย่างแม่ก็เอาไปจำนำไว้ส่วนหนึ่งเพื่อให้มียางได้กรีด ฉันเองก็ไปซื้อที่ดินที่ อ.หนองจิก (จ.ปัตตานี) เอาไว้ 3 ไร่ จะไปปลูกยางเหมือนกัน และดาวน์รถมือสองมาคันหนึ่งไว้ใช้งานกันในครอบครัว แม้สภาพจะเก่าแต่ไปไหนมาไหนก็ไม่ลำบาก ไปกันได้หมด มีเหลือเก็บไว้บ้างสำหรับใช้ในสิ่งจำเป็นอื่นๆ"
คอลีเยาะ บอกว่า เงินเยียวยาที่ได้รับมาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเธอและพี่น้องดีขึ้น เช่น พี่ชายที่มีลูกถึง 7 คน ก่อนหน้านี้ทำงานรับจ้างแบกไม้ยางพารา ออกจากบ้านตั้งแต่ลูกยังไม่ตื่น กลับมาลูกก็หลับ วันๆ ไม่ได้ละหมาด ทะเลาะกับภรรยาและแม่ ใช้ชีวิตเร่งรีบกับการทำงานหาเงิน บ้านก็คับแคบเหมือนไม่ใช่บ้าน
"แต่เมื่อแบ่งเงินกัน เขาก็ต่อเติมบ้านเพื่อให้ลูกเมียได้มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม แม่ก็ให้เขาไปกรีดยางที่แม่รับจำนำไว้ ไม่ต้องไปทำงานรับจ้าง ได้ละหมาดครบ 5 เวลา ไปละหมาดวันศุกร์ ออกดะวะห์ ได้ใกล้ชิดศาสนามากขึ้น แม่ดีใจจนร้องไห้ที่พี่ชายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี"
"ครอบครัวเราไม่มีปัญหาเรื่องการแบ่งเงิน คนที่มีครอบครัวก็ต่อเติมบ้าน ซื้อที่ดิน คนที่กำลังเรียนหนังสือก็เก็บไว้เป็นทุนการศึกษา ตอนนี้เหลือน้องที่กำลังเรียนอีก 1 คน เรียนจบไป 1 คน ถ้าถามว่าเงินที่ได้มาพอหรือไม่ ขอบอกว่าเรื่องของเงินทองไม่มีวันเพียงพอสำหรับมนุษย์ แต่การได้มาเท่านี้ก็พอใจแล้วกับความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับว่าใครใช้เงินเป็นแค่ไหนมากกว่า"
ปาตีเมาะ มารดาของคอลีเยาะในวันนี้ดูแข็งแรงแจ่มใสขึ้นกว่า 8-9 ปีที่ผ่านมา ด้วยภาระและความอัดอั้นของชีวิตถูกปลดปล่อยและได้รับการเยียวยา เธอบอกว่าพอใจและจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับการศึกษาศาสนาให้ลึกซึ้งมากขึ้น เพราะหมดห่วงเรื่องของลูกๆ แล้ว
สำหรับคอลีเยาะเองก็ดูผ่อนคลาย ใจเย็น และสุขุมขึ้นกว่าแต่ก่อน ด้วยเหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือการได้ไปทำฮัจญ์เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเธอได้รับโอกาสในฐานะเป็นอนุกรรมการเยียวยาเหตุการณ์กรือเซะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เธอไปพร้อมกับสามีในโควต้าของ ศอ.บต. ทำให้เธอได้ทบทวนเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมามากขึ้น
"การได้รับโอกาสไปทำฮัจญ์คือเรื่องสูงสุด ทำให้ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันของคนเป็นล้านๆ คนที่ต้องมีความอดทนสูง กล้าที่จะให้อภัยต่อกัน เพราะที่นั่นเป็นแผ่นดินของพระเจ้า ทรงทดสอบความอดทน ความเสียสละ การให้อภัย และการควบคุมตัวเองเป็นเวลา 40 วัน เมื่อกลับมาได้ทบทวนตัวเองจากคนเดิมเปลี่ยนเป็นคนใหม่ที่มีสติมากขึ้นทั้งการพูดจา การวางตัวให้เป็นมุสลิมะฮ์ที่ดี ไม่กล่าวหาใครลอยๆ ตั้งใจว่าสิ่งที่เป็นสนิมของตัวเองจะร่อนออกไปทีละนิดจนหมด"
"กว่าจะมาถึงจุดนี้มันยาก เมื่อมีโอกาสควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทดแทนประชาชนที่เสียภาษีให้ฉันได้ไปทำฮัจญ์ ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนดีให้ได้ จากที่มีคนด่า กลับมีคนให้กำลังใจมากขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันทำสิ่งที่ดีมากขึ้น จะไม่ปล่อยให้ปากเป็นนายเราอีกแล้ว ทุกวันจะหันมามองตัวเองทบทวนว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง ละหมาดฮายัตขอให้อัลลอฮ์คุ้มครอง ให้มีสติ เพื่อฉันจะเป็นคนใหม่"
เมื่อถามถึงบรรยากาศสันติภาพที่กำลังเป็นประเด็นพูดคุยกันอยู่ในพื้นที่ขณะนี้ จากการที่รัฐบาลเปิดโต๊ะพูดคุยกับแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน คอลีเยาะ บอกว่า สันติภาพเป็นสิ่งที่ดีและทุกคนควรทำให้บังเกิดให้ได้ในพื้นที่แห่งนี้
"รัฐบาลโอกาสเปิดวงพูดคุย ภาคประชาสังคมและประชาชนก็เห็นด้วย ก็ควรให้โอกาสเขาทำและติดตามผลดูว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ขณะนี้ต้องบอกว่ายังไม่ได้เริ่มทำอะไรกันเลย ภาคประชาสังคมในพื้นที่เองก็ยังไม่มีความเป็นเอกภาพ ต้องตัดผลประโยชน์ออกไปบ้างแล้วมาคุยกันอย่างจริงจังว่าต้องการอะไรแน่ อย่างเรื่อง 'นครปัตตานี' หรือ 'ปัตตานีมหานคร' ที่มีการทำเวทีรับฟังความเห็น 200 เวที ถ้าไปถามชาวบ้านจะมีคนรู้ข้อมูลจริงสักกี่คน หรือถ้าเปลี่ยนแล้วความสงบมาจริงก็เปลี่ยน สิ่งสำคัญที่เป็นกฎง่ายๆ ทำได้หรือยัง สิ่งที่ชาวบ้านต้องการอย่างแท้จริงคือความปลอดภัย การศึกษา อาชีพ และเรื่องปากท้อง"
"เวลานี้เป็นเวลาของทุกคนที่ต้องออกมาต่อสู้ ออกมาแสดงความคิดเห็น อย่ารอแต่ความหวังหรือการช่วยเหลือจากใคร ทุกคนต้องช่วยเหลือตัวเองก่อน" เป็นคำฝากทิ้งท้ายจากคอลีเยาะ
ถัดจากบ้านคอลีเยาะไปราว 20 เมตร เป็นบ้านปูนชั้นเดียวของ อาตีกะห์ กาลอ ที่สูญเสียสามีไปในเหตุการณ์กรือเซะเช่นเดียวกัน ตั้งแต่ตอนที่สามียังอยู่ ความเป็นอยู่ของทุกชีวิตในครอบครัวนี้ก็แร้นแค้นอยู่แล้ว บ้านหลังน้อยในอดีตมีสภาพดีกว่าขนำนิดหน่อย เมื่อถึงฤดูฝนน้ำก็ท่วมทุกปี กระทั่งเมื่อสามีจากไป เธอต้องรับภาระทั้งหมดคนเดียว
หลายปีที่ผ่านมา อาตีกะห์ ต้องเหนื่อยและอยู่อย่างระทมทุกข์ จนกระทั่งได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล บ้านหลังใหม่จึงถูกปลูกสร้างทดแทนบ้านหลังน้อยหลังเดิม
วันใหม่ของอาตีกะห์ เธอหน้าตาอิ่มเอิบขึ้น มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้สัมผัสมากกว่าเดิม แววตาที่เคยแห้งผากกลับมีความหวัง เธอบอกเล่าถึงการใช้เงินก้อนนี้ว่า ซ่อมแซมและต่อเติมบ้านไป 4 แสนบาท นอกจากนั้นก็นำไปซื้อสวนยางที่ อ.ยะหา จ.ยะลา 12 ไร่ 1.9 ล้านบาท แบ่งให้แม่สามี 5 แสน สวนยาง 3 ไร่ที่เคยกรีดแบ่งกับน้องก็ขอซื้อมาเป็นของตัวเอง และซื้อมอเตอร์ไซค์ 2 คัน ที่เหลือเก็บไว้ให้ลูกทุกคนใช้ในการเรียน
"ฉันก็ใช้ชีวิตตามปกติเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ฟุ้งเฟ้ออะไร" เธอบอก
อาตีกะห์มีลูก 5 คน คนโตอายุ 18 ปีเรียนปอเนาะ คนรองอายุ 15 ปีเรียนอยู่ปอเนาะเดียวกัน คนที่ 3 เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 คนที่สี่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และคนสุดท้องเรียนชั้นถัดลงมาอีกคน เธอตั้งใจส่งลูกเรียนให้สูงสุดตามความสามารถของแต่ละคน
"สิ่งที่ได้รับมารู้สึกพอใจแล้ว ดีกว่าคนอื่นที่เขาไม่ได้รับ อัลลอฮ์ตอบแทนในสิ่งที่สูญเสียไป แม้จะทดแทนไม่ได้ แต่ก็ทำให้ชีวิตครอบครัวดีขึ้น ลูกๆ ไม่เกเรให้ลำบากใจ อยากให้เขารับรู้ในสิ่งที่ดีๆ" อาตีกะห์ กล่าว
แม้เวลา 9 ปีที่ผันผ่านได้พัดหอบหลายสิ่งหลายอย่างให้ผ่านพ้นไป แต่ความรู้สึกของเธอที่มีต่อสามียังคงเดิม ทุกคืนวันศุกร์เธอจะอ่านยาซีนเพื่อระลึกถึงเขา และเขายังอยู่ในใจเสมอ...
ปีที่ 9 ของเหตุการณ์กรือเซะ แม้ความยุติธรรมทางกฎหมายยังไม่ได้รับการพิสูจน์ ทว่าครอบครัวผู้สูญเสียหลายคนก็สามารถก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งวิกฤติของชีวิตมาได้ เพื่อที่จะมีวันใหม่และต่อสู้ต่อไปบนโลกแห่งความจริงที่ต้องยอมรับมัน!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 บ้านที่ต่อเติมใหม่ของครอบครัวหะหลี
2 คอลีเยาะ
3 ปาติเมาะ (ภาพทั้งหมดโดย สมศักดิ์ หุ่นงาม)