พัฒนาการ "ระเบิด" ที่ชายแดนใต้ พร้อมสถิติบึ้มทุกรูปแบบ
เหตุการณ์สลดที่มีการบึ้มตูมตามจากวัตถุระเบิดที่เก็บกู้มาได้แล้ว ภายในฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2556 จนเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ต้องสังเวยชีวิตถึง 3 นายนั้น ได้ทำให้สถานการณ์ระเบิดที่ชายแดนใต้ถูกหยิบขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันอีกครั้ง
บ้างก็ว่าเป็นการต่อวงจร 2 ชั้นเพื่อลวงเจ้าหน้าที่ หรือที่เรียกว่า "วงจรหัวล้านชนกัน" บ้างก็ว่าคนร้ายมีพัฒนาการการประกอบระเบิดสูงขึ้นจนเจ้าหน้าที่ไล่ตามไม่ทัน ฯลฯ
อย่างไรก็ดี นั่นคือเสียงวิจารณ์ที่ต่างฝ่ายต่างพูดกันไป แต่ผู้ที่รับรู้รับทราบและมีข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุระเบิดมากที่สุด ย่อมหนีไม่พ้นเจ้าหน้าที่อีโอดีในพื้นที่นั่นเอง โดยในส่วนของกองทัพบกได้ตั้งหน่วยเฉพาะกิจรับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ชื่อว่า "หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย" หรือ หน่วยทำลายวัตถุระเบิด กรมสรรพาวุธทหารบก
ปัจจุบันผู้บังคับหน่วยทำลายวัตถุระเบิด ฉก.อโณทัย คือ พ.อ.กฤตภาส เครือเนตร เขาได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ระเบิดในพื้นที่ วิธีจุดระเบิดที่พบ (เท่าที่เปิดเผยได้) รูปแบบการประกอบและนำไปวาง ตลอดจนแนวโน้มของสถานการณ์ในระยะต่อไป
พ.อ.กฤตภาส กล่าวว่า ระเบิดที่คนร้ายใช้ส่วนใหญ่เป็นระเบิดแสวงเครื่อง (Improvised Explosive Device หรือ IED) ที่ถูกประกอบขึ้นจากวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ทั้งนี้ หากจำแนกตามประเภทของสารประกอบระเบิดที่ผู้ก่อเหตุใช้ พบว่าในช่วงปี 2547-2549 สารระเบิดที่พบบ่อยที่สุดคือ ปุ๋ยยูเรียผสมกับน้ำมันเบนซิน แต่ระเบิดที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาดังกล่าวยังไม่ค่อยสมบูรณ์ ทำให้ไม่รุนแรงมากนัก
ต่อมาในช่วงปลายปี 2549 หลังจากที่มีการควบคุมปุ๋ยยูเรีย ผู้ก่อความไม่สงบจึงจึงนำสาร "แอมโมเนียมไนเตรท" มาใช้แทนยูเรีย และปี 2550 มีการนำ "โซเดียมคลอเรต" หรือ "ยาฆ่าหญ้า" มาใช้ในการทำระเบิดด้วย นอกจากนั้นยังผสมสูตรสารประกอบระเบิดค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ระเบิดมีอานุภาพรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2550 มีระเบิดเกิดขึ้นเยอะมาก กระทั่งในปีหลังๆ มานี้ก็ยังพบการประกอบระเบิดประเภทนี้เป็นส่วนใหญ่ มีบ้างที่นำดินดำในประทัดมาเป็นดินระเบิด แต่ไม่มากนัก
ส่วนวิธีจุดระเบิด หรือ "วงจรจุดระเบิด" พบว่าในช่วงปี 2547-2549 คนร้ายใช้การจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก นอกจากนั้นก็มีการจุดระเบิดด้วยการลากสายไฟเข้าไปในป่ารกทึบข้างทางในลักษณะช็อตไฟฟ้า และยังมีการจุดระเบิดด้วยการตั้งเวลาจากนาฬิกาข้อมือ แต่ที่พบมากที่สุดคือการจุดระเบิดด้วยโทรศัพท์มือถือ
ต่อมาในปี 2550 เริ่มมีการนำวงจรจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลรถยนต์ (Car Alarm) มาใช้ เฉพาะปี 2550 มีการใช้วงจรจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลมากถึง 160 กรณี!
จากนั้นในปี 2552 จึงเริ่มมีการนำวงจรจุดระเบิดด้วยระบบ DTMF (Dual Tone Multi Frequency) ที่ใช้ในวิทยุสื่อสารมาเป็นวงจรจุดระเบิด โดยกรณีแรกคือเหตุการณ์ลอบวางระเบิดรถยนต์ของหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 ทำให้ พ.ต.พันธ์ศักดิ์ ทองสุข รองผู้บังคับการหน่วยเฉพาะกิจยะลา 14 และ จ.ส.อ.วิชัย สาหลี เสียชีวิต (เหตุเกิดเมื่อ 17 ก.ค.2552 ในเขตเทศบาลตำบลยะหา อ.ยะหา จ.ยะลา) หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็พบวงจรจุดระเบิดลักษณะนี้ในอีกหลายกรณีจนถึงปัจจุบัน
"การใช้ระเบิดแสวงเครื่องของผู้ก่อเหตุมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยเพื่อหลีกหนีการป้องกันของเจ้าหน้าที่ อย่างในช่วงแรกๆ ที่ใช้โทรศัพท์มือถือจุดระเบิดบ่อยๆ เมื่อเจ้าหน้าที่มีเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เขาก็หันไปใช้การจุดระเบิดด้วยรีโมทคอนโทรลรถยนต์แทน แต่เมื่อทางเจ้าหน้าที่มีเครื่องตัดสัญญาณรีโมท เขาก็เปลี่ยนไปใช้วงจร DTMF ในการจุดระเบิด เรียกว่าปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หากเจ้าหน้าที่ป้องกันหรือแก้ไขได้ เขาก็จะหันไปใช้วิธีอื่น ซึ่งในช่วงหลังๆ มีการใช้วงจรจุดระเบิดมากกว่า 1 วงจรในระเบิดลูกเดียว"
พ.อ.กฤตภาส กล่าวอีกว่า จากการเก็บข้อมูลและสังเกตการณ์พบว่า ปริมาณระเบิดที่คนร้ายใช้ได้เพิ่มปริมาณมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีลอบวางระเบิดยานพาหนะของเจ้าหน้าที่ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่มียานพาหนะที่สามารถป้องกันแรงอัดระเบิดได้ โดยเฉพาะรถหุ้มเกราะอย่าง "รถรีว่า" ซึ่งมีเกราะแข็งแรง ทำให้ระเบิดถังดับเพลิงที่คนร้ายเคยใช้กับยานพาหนะเริ่มไม่ค่อยประสบผล เพราะปริมาณที่อัดใส่ถังดับเพลิงไม่สามารถทำให้เกิดความสูญเสียแก่กำลังพลได้ ระยะหลังจึงมีการใช้ปริมาณระเบิดมากขึ้น
อย่างกรณีล่าสุดที่ระเบิดรถรีว่าในพื้นที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี (10 ก.ย.2556) คนร้ายใช้ระเบิดถังแก๊ส 2 ถัง น้ำหนักรวมถึง 90 กิโลกรัม!
"ทุกวันนี้กลุ่มผู้ก่อเหตุก็พยายามหาช่องหลีกเลี่ยงการป้องกันของเจ้าหน้าที่ตลอด แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่พบวงจรระเบิดรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมา ส่วนใหญ่ระเบิดที่พบก็จะใช้วงจรจุดระเบิดวนเวียนอยู่ประมาณนี้ เพราะคนที่ประกอบระเบิดถือว่าเสี่ยงมาก หากผิดพลาดโอกาสระเบิดตัวเองก็เป็นไปได้สูง อย่างที่ผ่านมาก็พบว่ามีเหตุการณ์ที่คนร้ายพลาดระเบิดตัวเองก็หลายครั้ง ทำให้การใช้วงจรแบบใหม่ยังไม่ค่อยเจอ" พ.อ.กฤตภาส กล่าวทิ้งท้าย
สถิติบึ้มทุกรูปแบบตั้งแต่ 47 ถึงปัจจุบัน
O จำนวนเหตุระเบิด
ปี 2547 เกิดเหตุระเบิด 103 ครั้ง
ปี 2548 เกิดเหตุระเบิด 242 ครั้ง
ปี 2549 เกิดเหตุระเบิด 344 ครั้ง
ปี 2550 เกิดเหตุระเบิด 471 ครั้ง
ปี 2551 เกิดเหตุระเบิด 250 ครั้ง
ปี 2552 เกิดเหตุระเบิด 284 ครั้ง
ปี 2553 เกิดเหตุระเบิด 266 ครั้ง
ปี 2554 เกิดเหตุระเบิด 333 ครั้ง
ปี 2555 เกิดเหตุระเบิด 276 ครั้ง
ปี 2556 (นับถึง 22 เม.ย.) เกิดเหตุระเบิด 88 ครั้ง
O ระบบจุดระเบิดที่พบ
- แบบลากสายไฟ 534 ครั้ง
- โทรศัพท์มือถือ 501 ครั้ง
- ตั้งเวลาจากนาฬิกา 446 ครั้ง
- รีโมทคอนโทรลรถยนต์ 251 ครั้ง
- วิทยุสื่อสาร 67 ครั้ง
- DTMF 183 ครั้ง
- กับระเบิด 228 ครั้ง
- ระบบอื่นๆ 112 ครั้ง
- ไม่ทราบระบบจุดระเบิด 337 ครั้ง
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 และ 3 เจ้าหน้าที่อีโอดีกำลังสวมชุดบอมบ์สูทระหว่างฝึกทบทวนการตรวจสอบวัตถุต้องสงสัย
2 พ.อ.กฤตภาส
4 อาร์มของอีโอดี กองทัพบก
หมายเหตุ : ภาพโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากศูนย์ภาพเนชั่น