แกะรอย เครื่องมือ ปราบโกง ใหม่ ป.ป.ช. “กิมจิโมเดล” ใช้ได้กับสังคมจริงหรือ?
“โครงการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐ” (Integrity & Transparency Assessment) ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เพิ่งมีการจัดงานเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2556
กำลังถูกจับตามองว่า เป็น “เครื่องมือ” ปราบโกงชนิดใหม่ของ ป.ป.ช. ที่จะนำมาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ ที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนักอยู่ในขณะนี้
เนื่องจากรูปแบบการดำเนินงานโครงการฯ นี้ มีจุดเด่นอยู่ที่การเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกในการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งภายในและภายนอก
โดยรูปแบบการดำเนินงาน จะเน้นการสัมภาษณ์ข้อมูลแบบเจาะลึก ผ่านแบบฟอร์มคำถามต่างๆ ทั้งจากเจ้าหน้าที่บุคลากร ภายในหน่วยงาน และประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้บริการ
ก่อนจะมีการนำข้อมูลที่ได้รับมาวิเคราะห์ เพื่อประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงาน ในลักษณะการให้คะแนน อีกครั้ง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะที่ปรึกษาโครงการฯ นี้ อธิบายที่มาที่ไปโครงการฯ นี้ ว่า เกิดจากการบูรณาการกันระหว่าง โครงการดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index) โดยศูนย์วิจัยเพื่อการต่อต้านการทุจริต ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ของประเทศไทย กับ โครงการประเมินคุณธรรมการดำเนินงาน (Integrity Assessment) ของประเทศเกาหลีใต้
“โครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือที่ดีระหว่าง ป.ป.ช. กับเกาหลีใต้ เพราะในเวลานี้ต้องยอมรับกันว่า ระบบการตรวจสอบปัญหาการทุจริตของเกาหลีใต้ ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากกว่าไทยมาก ตัวเลขการทุจริตปัจจุบันลดลงไม่ถึง 1% จากเดิมที่อยู่ที่ 4-5% และในช่วงที่ผ่านมา เกาหลีใต้เข้ามีการนำตัวนักการเมือง อดีตประธานาธิบดี มาสอบสวน จนนำไปสู่การดำเนินคดีมาแล้วหลายคน”
นายธนวรรธน์ อธิบายต่อว่า หลังจาก ป.ป.ช. ได้ศึกษาแบบประเมินต้านทุจริตของประเทศเกาหลีใต้เรียบร้อยแล้ว และได้ทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับหน่วยงาน Anti-Corruption and Civil Right Commission หรือ ACRC ของเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกับ ป.ป.ช. ของไทยเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ Integrity Assessment และเริ่มพัฒนางานจนได้ หน้าตาโครงการประเมินคุณธรรมฯ ดังกล่าวออกมา ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินงานมีการนำเสนอแผนงานให้ทางเกาหลีพิจารณาด้วย ซึ่งเขาก็พอใจและเห็นด้วยกันแนวทางที่วางไว้
ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ขยายความว่า โครงการฯ นี้ เน้นการเก็บข้อมูลด้านเอกสารหลักฐานต่างๆ ของหน่วยงาน รวมถึงการสำรวจความคิดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กร และบุคคลจากภายนอก ถึงประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงาน ทั้งในเรื่องคุณธรรม และการปัญหาทุจริตคอรัปชั่น
ก่อนทำการประเมินผลในรูปแบบการให้คะแนนเพื่อเป็นตัวชี้วัดการทำงานว่าผ่านเกณฑ์การประเมินหรือไม่ หากหน่วยงานใด ที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ จะมีการแจ้งให้หน่วยงานนั้นไปปรับปรุง ขณะที่ ป.ป.ช. จะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางในการหาทางป้องกันและตรวจสอบปัญหาการคอรัปชั่นในหน่วยงานนั้นต่อไป
ทั้งนี้ รูปแบบวิธีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาจัดทำดัชนีความโปร่งใสของโครงการฯ นี้ มาจาก 3 ส่วนคือ
1.ข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่นเอกสารการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อมูลการดำเนินงานภายในหน่วยงาน
2.แบบสำรวจภายในองค์กรสำหรับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงาน
3.แบบสำรวจภายนอกองค์กร จากประชาชนและภาคเอกชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการติดต่อดำเนินงานกับภาครัฐ
ผลของการประเมินจะอยู่ในรูปแบบคะแนน 0 – 100 หากใกล้ 100 ก็เท่ากับหน่วยงานนั้นการทุกจริตอยู่ในเกณฑ์ดีคือมีไม่มาก หากเข้าใกล้ 0 เมื่อไหร่ก็ถือว่าการทุจริตเข้าขั้นวิกฤติ
ส่วนตัวอย่างคำถามที่น่าสนใจได้แก่
“ในปีที่ผ่านมาท่านมีการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดหาพัสดุอย่างไร”
“หน่วยงานของท่านมีการดำเนินการเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอย่างไร”
“ในระยะ1 ปีที่ผ่านมา ท่านเคยมีประสบการณ์ทางตรงหรือทางอ้อมเกี่ยวกับการจ่ายเงินของหน่วยงานเกินความจำเป็นหรือไม่”
ล่าสุดมีหน่วยงาน 8 แห่ง นำร่อง แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการฯ คือ กรมที่ดิน กรมทางหลวง ตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี การท่าเรือแห่งประเทศไทย และการเคหะแห่งชาติ ครอบคลุมรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานราชการในประเทศ เพราะมีทั้งหน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจ
และในระยะต่อไป ป.ป.ช. ตั้งเป้าว่าจะขยายขอบเขตการทำงานให้ครอบคลุมหน่วยงานราชการทุกแห่งทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม แม้โครงการฯ นี้ จะถูกออกแบบไว้รัดกุมอย่างดีในขั้นตอนการดำเนินงาน แต่ก็ยังมีคำถามตามมาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการให้ข้อมูลของผู้ที่ถูกสัมภาษณ์ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานนั้น
เพราะใครจะกล้ายอมรับความจริงว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในหน่วยงานของตนเอง
ดังนั้น ข้อมูลที่ได้รับมาจะมีความน่าเชื่อถือมากน้อยขนาดไหน
เบื้องต้น ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวยืนยันถึงความกังวลเรื่องนี้ ว่า “การแสดงความเห็นของหน่วยงานราชการ จะถูกตรวจสอบผ่านความเห็นของประชาชนที่เข้ามาใช้บริการอีกครั้ง เป็นการตรวจทานข้อมูลความเห็นซึ่งกันและกัน"
"ขณะที่การแสดงความเห็น เจ้าหน้าที่ที่เก็บข้อมูลจะเน้นสอบถามข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และพิสูจน์ได้เป็นหลัก หากหน่วยงานใดมีการทุจริต คะแนนจะถูกฟ้องในส่วนของการประเมินจากข้อมูลภายนอก นั่นคือประชาชนหรือภาคเอกชนที่ต้องติดต่อดำเนินงานกับภาครัฐแล้วถูกเรียกรับสินบนอยู่แล้ว"
ที่ปรึกษาโครงการฯ นี้ ยังยืนยันว่าโครงการนี้ ไม่ใช่การจับผิดการทำงานหน่วยงานไหน แต่เป็นความพยายามในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ และป.ป.ช. ในการหาทางป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือที่ดีจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาคอรัปชั่นให้หมดไปจากประเทศไทย
นี่คือมุมมองและความมั่นใจของ ผู้จัดทำโครงการ ที่แสดงออกต่อการดำเนินงานโครงการฯ นี้
แต่ในท้ายสุดแล้ว เครื่องมือปราบโกง ใหม่ของ ป.ป.ช. สไตล์ “กิมจิ” นี้ จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน กับสังคมไทย จะบรรลุผลสำเร็จเหมือนที่ “เกาหลี” ทำได้หรือไม่
คงต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือของหน่วยงานและคนในสังคมไทย ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหน
และคำถามสำคัญที่่ว่า พวกเราพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้ดีขึ้น ปราศจากปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นหรือยัง?