‘โรงแรมเกษตรสีเขียว’ สร้างมิตร สิ่งแวดล้อม-ชุมชน เพื่อธุรกิจยั่งยืน
“ความมุ่งมั่นประกอบธุรกิจให้ประสบความเร็จถือเป็นเป้าหมายที่ดี แต่ทำอย่างไรให้ธุรกิจเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความรับผิดชอบต่อชุมชนรอบข้างเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เป็นสิ่งสำคัญกว่า”
สถิติจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปีที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยกว่า15ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 450,000 ล้านบาท ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยเองก็ร่วม 360,000 ล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
แต่ธุรกิจการท่องเที่ยว ก็ไม่วายถูกวิจารณ์ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ แต่ไม่ใช่สำหรับ “โรงแรม ฟาวน์เท่น ทรี รีสอร์ท” (Fountain Tree Resort) อำเภอปากช่อง เมืองโคราช ของคุณเชิงชาย สวธนไพบูลย์ หรือ พี่เจ ซึ่งเคยเข้าร่วม “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กเพื่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” ของมูลนิธิซิตี้ ธนาคารซิติแบงก์ และสถาบันคีนัน
ดำเนินธุรกิจด้วยมิตรสิ่งแวดล้อม
พี่เจเล่าว่า เดิมที่โรงแรมก็มีการกำจัดขยะพวกเศษอาหารโดยเอาไปเป็นอาหารหมู แต่เจอปัญหาคือ วันไหนที่แขกเข้ามาพักมากหมูจะกินอาหารไม่หมด ต้องนำอาหารไปทิ้งอยู่ดี หรือแขกมาพักน้อยหมูก็มีอาหารน้อย ทำให้ต้องไปหาซื้ออาหารจากข้างนอกมาสำรองเสมอ พอได้รู้ข่าวโครงการของมูลนิธิซิตี้จากชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ปากช่อง จึงเข้าร่วมโครงการและสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหาร โดยการเลี้ยงไส้เดือนพันธุ์เอเอฟ
“น้องเดือนพันธุ์นี้กินเก่ง หมดปัญหาเรื่องเศษอาหาร ขี้น้องเดือนยังเอาไปเป็นปุ๋ยปลูกต้นไม้แทนการซื้อปุ๋ยสารเคมี เพิ่มรายได้ขายปุ๋ยไส้เดือนให้กับลูกค้าที่สนใจอีกด้วย” พี่เจเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
หลังจากได้เข้าอบรมก็นำความรู้มาเผยแพร่ และเริ่มปลูกฝังสร้างจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมแก่พนักงาน โดยให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม คิดโครงการช่วยลดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม และโครงการที่รีสอร์ททำต่อมาคือการคัดแยกขยะ ถังขยะภายในโรงแรมจะติดสติ๊กเกอร์แบ่งประเภทขยะเป็น ขยะรีไซเคิล ขยะทิ้ง ขยะปุ๋ยหมัก หลังจากนั้นพนักงานจะช่วยกันนำไปคัดแยกอีกทีที่ธนาคารขยะ และขายทุก 2เดือน เพื่อนำรายได้กลับสู่สวัสดิการพนักงาน
“พอพนักงานเห็นว่ากิจกรรมพวกนี้เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและได้ค่าสวัสดิการเพิ่ม ก็มีกำลังใจทำดี ช่วยกันคิดโครงการที่ต่อยอดจากความรู้ด้านเกษตรที่พวกเขามี โดยเราส่งเสริมด้วยการส่งเข้าอบรมตามค่ายต่างๆ” พี่เจกล่าว
โครงการเกษตรนำธุรกิจยั่งยืน
โครงการด้านการเกษตรของพนักงาน ทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายทางรีสอร์ทหลายแสนบาทต่อปี และพนักงานทุกคนก็มีจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม จนสามารถพัฒนาโรงแรมให้ประสบความสำเร็จภายใต้คอนเซ็ปต์โรงแรมสีเขียว
โครงการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้หลายเท่า ทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ที่ได้จากการเก็บกวาดสวนในบริเวณโรงแรม และเอาปุ๋ยนั้นไปใช้ปลูกต้นไม้แทนปุ๋ยเคมี รวมถึงปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพรปลอดสารพิษหลายชนิด เช่น โสม กระเจี๊ยบ สะระแหน่ ขมิ้น อัญชัน
“นอกจากเอาสมุนไพรไปทำอาหาร ยังได้ส่งพนักงานไปเรียนรู้วิธีทำสบู่แชมพูสมุนไพรจนได้สูตรกลับมาทำสบู่ขมิ้นและแชมพูดอกอัญชันใช้ภายในโรงแรม จนเลิกซื้อสบู่แชมพูเคมี ลดค่าใช้จ่ายได้ 3-4แสนบาทต่อปี และช่วยสิ่งแวดล้อม ลดบรรจุภัณฑ์ขวดพลาสติก โดยใช้ที่ใส่สบู่แบบกดเติมได้”
ส่วนน้ำหมักชีวภาพอีกว่า ทำด้วยเศษอาหารมีประโยชน์คือดับกลิ่นตามท่อระบายน้ำ หรือทำจากเปลือกมะนาวเปลือกสัปปะรดนำไปเช็ดทำความสะอาดครัว ลดการซื้อน้ำยาทำความสะอาดเคมี
อีกหนึ่งโครงการที่ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้โรงแรมคือการผลิตถ่าน โดยใช้เตาสุญญากาศในการเผาไม้ ซึ่งกิ่งไม้นั้นได้มาจากการตัดแต่งกิ่งภายในโรงแรมไม่ใช่การโค่นล้มต้นไม้ และนำถ่านที่ได้ไปใช้กับการย่างบาบีคิวของนักท่องเที่ยว หรือกิจกรรมแคมป์ไฟของค่ายลูกเสือ แทนการจัดซื้อถ่าน
สร้างโอกาส คืนกำไรสู่ชุมชน
คุณวรางคณา ผ่องเสรี หรือ พี่นา ภรรยาสุดน่ารักของพี่เจที่กำลังตั้งท้อง 7เดือน เล่าว่า รีสอร์ทยังมีการจัดฐานกิจกรรมเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การทำผลผลิตเกษตร และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง สำหรับลูกค้าและคนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้
“เราเปิดโอกาสให้ลงมือทำจริงๆจาก 8ฐานกิจกรรม คือแยกขยะที่ธนาคารขยะ เลี้ยงไส้เดือน ทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เผาถ่าน สบู่ แชมพู และเลี้ยงหมูหลุม ซึ่งหมูหลุมเป็นหลักการพระราชดำริด้วย โดยมีพนักงานค่อยสอนวิธีทำอยู่ตลอด”
พี่นาเล่าต่ออีกว่า อีกหนึ่งอย่างที่สามารถช่วยพัฒนาชุมชนคือการสนับสนุนพนักงานให้ฝึกฝนตนเองในการเป็นวิทยากรตามฐานการเรียนรู้ พร้อมกับเปิดโอกาสให้พนักงานได้ดูงานศึกษาตามนอกสถานที่ เพราะ 90เปอร์เซ็นต์ของพนักงานเป็นคนในชุมชน พอเขามีจิตสำนึกในการรักสิ่งแวดล้อมแล้ว หลายคนนำความรู้ไปปฏิบัติและบอกต่อแก่คนในชุมชน
พี่มานะศักดิ์ บุญแท้ พนักงานประจำรีสอร์ท บอกว่ารู้สึกรักสิ่งแวดล้อมและช่วยดูแลธรรมชาติมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งในการทำลายสิ่งแวดล้อม
“ผมเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้านที่สนใจ บางคนอยากรู้วิธีทำปุ๋ย ทำถ่าน แต่เน้นให้เขาใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น กิ่งไม้ที่เราตัดแต่งกิ่ง ไม่ใช่การไปโค่นต้นไม้ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โลกร้อน บอกความรู้ให้เขาพร้อมปลูกจิตสำนึกรักธรรมชาติให้เขาด้วย” พี่มานะศักดิ์ กล่าว
.......................................................................
การแสวงกำไรทางธุรกิจ มักสวนทางกับความรับผิดชอบต่อสังคมชุมชน จนกลายเป็นรูปธรรมความขัดแย้งมากมายที่เห็นปรากฏอยู่ แต่โรงแรมขนาดเล็กอย่าง “ฟาวน์เท่น ทรี รีสอร์ท”เป็นอีกบทพิสูจน์ว่าทั้งสองด้านไปด้วยกันได้และยั่งยืน
----------------------------------------------------------
ที่มาภาพ: http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=seatalay&group=66