สศก.เผยเงินบาทแข็งกระทบส่งออกข้าว-ประมงเสียหาย 7 พันล.
สศก. เผยค่าเงินบาทแข็งกระทบส่งออกสินค้าสำคัญ-ข้าว-ยาง-มันสำประหลัง-ประมง เสียหาย 7 พันล.บาท แนะรบ.ส่งเสริมปชช.บริโภคสินค้าเกษตรในประเทศ – หนุนเจาะตลาดใหม่ตะวันออกกลาง-อาเซียน
วันที่ 25 เม.ย. 56 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร(สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผู้อำนวยการศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร (KU - OAE Foresight Center : KOFC) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2555 และทวีความร้อนแรงมากขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 28.63 บาท/ดอลลาร์สหรัฐนั้น (ณ วันที่ 22 เม.ย 2556) ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าและบริการ รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทยด้วย ดังนั้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาทต่อภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ และปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าประมง ผลไม้ ไก่เนื้อ ข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังเพื่อประเมินมูลค่าความเสียหายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556
สำหรับผลการวิเคราะห์ พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ ได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาทคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 7,694.28 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.28 ของมูลค่าความเสียหายรวมในกลุ่มการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ โดยสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง (เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ช) และสินค้าประมง
ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลต่อปริมาณการส่งออก ผลไม้ ไก่เนื้อ และมันสำปะหลัง (หัวมันสำปะหลังสดและแห้ง หรือ มันสำปะหลังอัดเม็ด) อย่างมีนัยสำคัญอีกเช่นกัน และผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นร้อยละ 7.44 ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์มีอัตราลดลงร้อยละ 3.12 เมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าการส่งออกในช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2555
ผลกระทบจากการแข็งค่าเงินบาท เดือน ม.ค. – มี.ค. 2556
ช่วงเวลา |
ร้อยละ ผลกระทบที่เกิดขึ้น |
มูลค่าการส่งออก (ล้านบาท) |
ผลกระทบ (ล้านบาท) |
ไตรมาส 1 |
-4.28 |
179,772.92 |
7,694.28 |
สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อการส่งออกสินค้าเกษตรนั้น จากผลการวิเคราะห์เบื้องต้น ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายดังนี้
1. ภาครัฐ
1.1 ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตและการบริหารจัดการสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพมาตรฐานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม/การแปรรูปให้กับสินค้าเกษตร และลดต้นทุนการผลิต
1.2 เร่งรัดการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจที่เหมาะสมหรือจัดทำโซนนิ่งเกษตร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของดิน ชนิดพืชที่ปลูก และความพร้อมของระบบชลประทาน เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการผลิตกับการตลาด รวมถึงพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์การเกษตรของประเทศเชื่อมโยงกับภูมิภาค
1.3 ส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคสินค้าเกษตรภายในประเทศเพื่อทดแทนการส่งออก รวมไปถึงสร้างความตระหนักในการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและมีมาตรฐานรับรอง
2. ผู้ส่งออกควรพัฒนาคุณภาพสินค้า โดยสร้างแบรนด์สินค้า และความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Identity) ให้กับสินค้าเกษตรไทย รวมถึงยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาด
3. ภาครัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ควรมีบทบาทร่วมกันในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดระดับผลกระทบในปัจจุบันคือ การขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ จากเดิมที่ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐ ซึ่งมีปริมาณความต้องการสินค้าเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ควรส่งเสริมการทำตลาดใหม่ไปยังตลาดในกลุ่มภูมิภาคเดียวกันหรือในเขตตะวันออกกลาง เช่น สินค้าข้าว ควรเจาะตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียนหรือตะวันออกกลาง และสินค้ายางพารา ควรเน้นตลาดในเอเชีย.
ที่มาภาพ :: http://dekguide.com/