สธ.เดินหน้าขจัดอุปสรรคความเหลื่อมล้ำด้านระบบสุขภาพ 3 กองทุน
(25 เม.ย.) ที่โรงแรมเซ็นทาราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ สถาบันวิจัยระบบสาธารสุข (สวรส.) เครือสถาบัน และภาคีเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ ร่วมจัดการประชุมวิชาการ การวิจัยระบบสุขภาพประจำปี 2556 เพื่อการแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความเป็นธรรมระบบหลักประกันสุขภาพไทย
นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวมอบนโยบายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อความเป็นธรรมด้านสุขภาพ ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมที่สุด ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น ลดการล้มละลายและยากจนจากการรักษาพยาบาลได้มากขึ้น โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่จากการศึกษาวิจัยของ สวรส. ยังพบปัญหาอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดอยู่ 3 ประการคือ
1.ความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ 3 กองทุน คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนประกันสังคม และกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ที่ประชาชนในแต่ละสิทธิได้รับริการแตกต่างกัน 2.ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ระหว่างจังหวัดและเขตต่าง ๆ ที่ไม่เท่าเทียมกัน เกิดความแตกต่างในการได้รับบริการ และ 3.การเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการจากการใช้ยาต้นแบบหรือยานอกบัญชีกระแสหลัก
“ยืนยันว่า รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบสุขภาพที่เป็นธรรมและทั่วถึง ขจัดการเลือกปฏิบัติและเหลื่อมล้ำ หวังให้ประชาชนไทยทุกคนได้รับบริการที่มีมาตรฐานเดียว และยั่งยืน โดยจะขยายความร่วมมือการให้บริการ 3 กองทุนร่วม แบบไร้รอยต่อ อย่างที่นำร่องไปแล้วเช่น การให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน เข้าได้ทุกที่ เข้าถึงทุกสิทธิ์ บูรณาการด้านไตวายเรื้อรัง และบูรณาการมะเร็งที่พบบ่อย” รมว.สธ.กล่าว
ต่อมา ในการประชุมย่อย หัวข้อ “กลไกและมาตรการในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบประกันสุขภาพ” ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่าระบบสุขภาพ 3 กองทุนมีความเหลื่อมล้ำอยู่จริง เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข โดยมีข้อเสนอมาตรการลดความเหลื่อมล้ำ อาทิ สร้างระบบฐานข้อมูลสุขภาพของชาติ (National Information Clearing House) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการข้อมูลแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านต่าง ๆ เช่น ผู้บริหารระดับประเทศที่จะเอาข้อมูลไปวางแผน โรงพยาบาลผู้ให้บริการ รวมถึงนักวิจัย รูปแบบการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ใช้ระบบคำนวณเหมาจ่ายต่อกลุ่มโรค เท่า ๆ กัน สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลุ่มเดียวกัน และกลไกการตรวจสอบบัญชีของกองทุนระบบประกันสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิดประโยชน์ของโรงพยาบาล
ศ.พิเศษ ดร.อัมมาร สยามวาลา จากทีดีอาร์ไอ ร่วมให้ข้อคิดเห็น โดยมองว่า ในทางปฏิบัติของการให้การบริการทางสุขภาพ ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุด ความเหลื่อมล้ำในระดับที่จับต้องได้ เช่น การปฏิบัติของบุคลากรทางการแพทย์ต่อคนไข้ จากประสบการณ์ส่วนตัว ในฐานะคนไข้เมื่อไปรักษาที่โรงพยาบาลใดก็ตาม อยากให้หมอไม่ทราบว่าตัวเองเป็นคนไข้กองทุนไหน เพื่อไม่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ให้หมอทำหน้าที่วินิจฉัยโรคและรักษาอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ไม่มีสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น