วิจัยเเนะปลูกข้าวนาโยน-นาดำลดเสี่ยงภัยพิบัติ
นักวิชาการเผยวิจัยข้าวนาโยน-นาดำ เลี่ยงเสียหายภัยพิบัติได้ หนุนชาวนาปลูกกล้าเองลดต้นทุนการผลิต
วันที่ 25 เม.ย. 56 ที่สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้าประจำประเทศไทย)จัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน 'โครงการจัดการผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมแบบมีส่วนร่วม
โดย Mr.Hideki Hiruta Farming System JICA กล่าวถึงกรอบการจัดการผลกระทบจากน้ำท่วมในภาคเกษตรและปศุสัตว์ว่า ในการจะสนับสนุนให้ชุมชนปรับตัวและฟื้นตัวได้ในสภาวะภัยพิบัติ ควรหลีกเลี่ยงด้วยการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนเกิดน้ำท่วม หรือปลูกข้าวหรือพืชผักพันธุ์ที่ทนต่อน้ำท่วม รวมถึงการเลี้ยงสัตว์แบบยกพื้นสูง และต้องลดความเสี่ยง ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพื่อให้สูญเสียพืชพันธุ์น้อยที่สุดจากน้ำท่วม หรือการปลูกพืชที่หลากหลายในที่ดอน ซึ่งถึงแม้น้ำท่วมข้าว แต่พืชผักชนิดอื่นยังรอดได้
นอกจากนี้การมีคลังเก็บเมล็ดพันธุ์กรณีฉุกเฉินก็เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงจัดเตรียมสิ่งของที่จำเป็นสำหรับอพยพสัตว์เลี้ยง เช่น การจัดเตรียมพลังงานทดแทน และอาหารสัตว์สำรอง ที่สำคัญต้องส่งเสริมพลังงานทางเลือก และส่งเสริมการปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ในช่วงน้ำท่วม อีกสิ่งหนึ่ง คือ การอพยพ โดยต้องนำเอาอาหารสัตว์ที่ได้เตรียมไว้มาใช้สำหรับการอพยพ ด้วยการใช้ศูนย์อพยพเป็นที่เก็บอาหารสัตว์ด้วย แต่อย่าลืมส่งเสริมวิธีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ระหว่างน้ำท่วม เช่น การจับปลา และการแปรรูปสัตว์น้ำเพื่อสร้างรายได้หรืออพยพย้ายถิ่น
สุดท้าย การฟื้นฟูเร่งด่วน ซึ่งต้องพร้อมที่จะเริ่มการผลิตได้อีกครั้งในทันทีที่น้ำลด รวมถึงการเก็บรวบรวมเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมการปลูกพืชระยะสั้นหรือพืชที่ให้ค่าตอบแทนสูงภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยพืชผักที่ปลูกต้องเจริญเติบโตภายใน 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างรวดเร็วและนำไปลงทุนในครั้งต่อไปได้
“มาตรการดังกล่าวไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหา แต่เป็นแนวทางที่จะช่วยยกระดับความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชนเกษตรและชุมชนชนบทเพื่อรับมืออุทกภัย ซึ่งทั้งหมดต้องขึ้นอยู่กับการประยุกต์ใช้ของแต่ละพื้นที่” ผู้แทนไจก้า กล่าว
ด้านนางนริศรา จำรูญวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท กล่าวถึงการศึกษาการพัฒนาระบบการเกษตรที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นที่ทั้งภาวะน้ำท่วมน้ำแล้ง ในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยนาท และพิษณุโลก พบว่า ระยะเวลาปลูกข้าวทั้งหมดพื้นที่ 3 จังหวัดในนาข้าวของนาโยนและนาดำน้อยกว่านาหว่านประมาณ 1 สัปดาห์ ดังนั้นหากเกษตรกรวางแผนการปลูกในนาโยนและนาดำสามารถหลีกเลี่ยงความเสียหายจากน้ำท่วมได้
ส่วนการลดต้นทุนการผลิตในพืชที่ปลูกข้าวที่มีปัญหาวัชพืช พบว่าผลผลิตในนาโยนและนาดำสูงกว่านาหว่าน เพราะนาหว่านไม่มีช่องว่างทำให้การกำจัดวัชพืชของเกษตรกรเข้าถึงยาก ดังนั้นวิธีการปลูกแบบโยนกล้าและการดำนาสามารถแก้ปัญหาข้าววัชพืชได้ ทั้งนี้รวมถึงการลดต้นทุนขนส่งต้นกล้า เกษตรกรควรใช้แรงงานและปลูกต้นกล้าใช้เอง และต้องมีความเข้าใจในการใช้สารควบคุมทางชีวภาพอย่างถูกต้องด้วย
นางศรีนวล ทิพาพงษ์พกาพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านม.2 ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กล่าวถึงการปลูกผักปลอดสารพิษและตลาดสีเขียว ทางเลือกเกษตรกรกับปัญหาน้ำท่วมว่า ภายหลังเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จ.ปทุมธานีนานกว่า 1 เดือน ทำให้พืชผักและต้นไม้ที่เคยสร้างรายได้เสียหาย แต่เมื่อมีการทดลองร่วมกับไจก้า โดยการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและตลาดสีเขียว ผ่านการดำเนินงานของชุมชนด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้การปลูกพืชระยะสั้นโดยวิธีรวมกลุ่ม แต่ต้องมีการวางแผนที่ดี ทั้งการทำแปลงเพาะ โรงเรือน เมล็ดพันธุ์ รวมถึงการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาหลายครัวเรือนสามารถลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพราะการปลูกผักไม่มีการใช้สารเคมีเลย แต่หันมาทำสารจำกัดศัตรูพืชจากสมุนไพรและปุ๋ยอินทรีย์ใช้แทน จนปัจจุบันประสบความสำเร็จกลายเป็นพื้นที่ตลาดสีเขียวและแหล่งอาหารหนึ่งของชุมชน
ขณะที่Mr.Keisuke Shimizu ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้/การแปรรูปสัตว์น้ำในช่วงน้ำท่วมและหลังน้ำท่วมว่า จากการดำเนินการศึกษาร่วมกับม.นเรศวรและขอนแก่นในพื้นที่ต.กบเจา จ.พระนครศรีอยุธยาและต.ชุมแสงสงครามและต.นครป่าหมาก จ.พิษณุโลก ภายใต้แนวความคิดจะต้องใช้ประโยชน์จากปลาที่มีมากในท้องถิ่นให้เกิดรายได้ เพื่อลดความเปราะบางของคนในครัวเรือนในรูปแบบกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เช่นเดียวในญี่ปุ่นที่มีการรวมกลุ่มต่าง ๆ ช่วยแก้ปัญหาได้ โดยเดิมนั้นชาวบ้านจับปลานำมาแปรรูปเพื่อบริโภคในครัวเรือน เช่น การตากแดด ทำเค็ม และหมัก แต่อนาคตควรตั้งเป็นกลุ่มอาชีพแปรรูปสินค้าส่งขายด้วย เช่น น้ำพริกปลาย่าง และยังต้องนำเทคนิคและการวิเคราะห์ปรับปรุงคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะด้านสุขอนามัย รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์และการตลาดมาใช้ด้วย.