‘ไจก้า’เผยผลฟื้นฟูพื้นที่เกษตรน้ำท่วม-หนุนชุมชนทำแผนภัยพิบัติ
'ไจก้า’-กษ. เผยผลฟื้นฟูพื้นที่เกษตรน้ำท่วมบางกระทุ่ม-บางบาล-บางระกำ เร่งทำคู่มือหนุนชาวบ้านตั้งรับอุทกภัย แนะชุมชนทำแผนภัยพิบัติเอง
วันที่ 24 เม.ย. 56 ที่สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ปทุมธานี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ ไจก้าประจำประเทศไทย จัดประชุมเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ‘โครงการจัดการผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมแบบมีส่วนร่วม’ โดยความร่วมมือของไจก้าและรัฐบาลไทย
นายเททซูโระ โอดะ รองหัวหน้าโครงการฯ องค์กรไจก้า กล่าวว่า โครงการจัดการผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่เกษตรกรรมแบบมีส่วนร่วม โดยความร่วมมือของไจก้า หน่วยงานส่วนกลางและระดับจังหวัดของกษ. สถาบันการศึกษาและส่วนท้องถิ่นของชุมชน ดำเนินงานตั้งแต่เดือนมี.ค.55 – พ.ค. 56 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความสูญเสียจากมหาอุทกภัยน้ำท่วมประเทศไทยปลายปี 54 และฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพร้อมวางแผนรับมือกับภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โครงการฯได้ศึกษาและพัฒนาชุมชนซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งเป็นประจำในพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง 4 จังหวัด ได้แก่ 1.จังหวัดพิษณุโลก ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม และ ต.ชุมแสงสงคราม อ.บางระกำ 2.จ.ชัยนาท ต.เขาแก้ว อ.สรรพยา และต.วังหมัน อ.วัดสิงห์ 3. จ.พระนครศรีอยุธยา ต.กบเจา อ.บางบาล และ ต.สิงหนาท อ.ลาดบัวหลวง และ 4. จ.ปทุมธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง
โดย ขณะนี้โครงการฯอยู่ระหว่างการนำความรู้ได้จากการศึกษาวิจัยมาสรุปเป็นคู่มือเพื่อแจกจ่ายแก่ชุมชนที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยทุกจังหวัดทั่วประเทศ ให้สามารถอยู่กับภาวะน้ำท่วม-น้ำแล้งได้ และลดความสูญเสียต่อภาคการเกษตรลง โดยเน้นการแก้ไขปัญหาตามภูมิปัญญาของคนไทย ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อทำให้ชุมชนพึ่งพาตนและรับมือกับภัยพิบัติได้
“โครงการฯเน้นให้ความรู้และส่งเสริมการจัดการภัยพิบัติโดยตัวชุมชนเอง ซึ่งเชื่องโยงไปถึงกับการจัดการแหล่งน้ำชุมชน การจัดการการผลิตทางการเกษตร ในการทำคู่มือฯเพื่อแจกจ่ายให้ชุมชนต่างๆ จะแบ่งเป็นระยะของภัยพิบัติตั้งแต่การป้องกัน การเตรียมความพร้อม กิจกรรมที่ทำระหว่างเกิดภัยพิบัติและการฟื้นฟูหลังเกิดภัยพิบัติ ” นายเททซูโระกล่าว
นายนคร นาจรูญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการสำรวจความเสียหายจากอุทกภัย กล่าวถึงการส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรเพื่อรับมือภัยพิบัติว่า สิ่งที่โครงการฯศึกษาและส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินการนั้น เป็นการส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตรและการพัฒนาระบบชลประทาน ปรับปรุง คู คลองในพื้น ซึ่งสามารถใช้รับมือกับภัยพิบัติในหลากหลายรูปแบบทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง
เช่น ส่งเสริมให้มีการสำรวจทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อหาทางใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำโดยวิธีแปรรูป การทำกะปิ ปลาร้า ส่งเสริมให้พืชอาหารสัตว์หมักเก็บไว้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารของคนและสัตว์เลี้ยง และสร้างรายได้แก่ชุมชนในช่วงวิกฤตน้ำ , ปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตของครัวเรือนเกษตรกรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการปลูกพืชอายุสั้นหลากหลายชนิด ที่สามารถีเก็บเกี่ยวผลผลิตและนำไปขายสร้างรายได้ภายหลังน้ำท่วมได้ในระยะเวลาอันสั้น , ส่งเสริมการวางแผนการทำนาให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่น้ำท่วม-พื้นที่น้ำแล้ง ,การส่งเสริมให้ปลูกผักปลอดสารพิษ ,การทำปุ๋ยชีวภาพจากมูลสัตว์ ฯลฯ
ด้านนายทาเคฮีโร อิวากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโครงการฯ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนมีความพร้อมรับมือกับภาวะน้ำท่วมได้ คือ การทำแผนชุมชนด้านการจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวคิดการจากการรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นการหนุนให้ชุมชนตั้งรับกับภาวะน้ำท่วมด้วยตนเองทั้งการวางแผนการสัญจร การจัดหาสิ่งของและบริการจำเป็น การป้องกันและกู้ภัย รวมทั้งกิจกรรมคลายเครียด โครงการฯได้ทดลองดำเนินการจัดทำแผนฯในพื้นที่ 3 ตำบลของจ.พระนครศรีอยุธยาและจ.ปทุมธานีร่วมกับคณะทำงานซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องสภาพปัญหาพื้นที่จริง
โดยมีการจัดทำแผนที่เสี่ยงภัยชุมชน แผนที่อพยพ และแผนที่โอกาสเกิดน้ำท่วม ซึ่งมีข้อมูลที่ป้อนเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ของตำบล เช่น สภาพพื้นที่ ประวัติการท่วมของน้ำ สถานที่สำคัญที่สามารถใช้เป็นศูนย์อพยพ เส้นทางการอพยพของคน สัตว์ และสิ่งของ เช่น รถยนต์และเครื่องมือการเกษตร เพื่อให้ชุมชนมีแนวทางรับมือกับภาวะน้ำท่วมได้อย่างมีระบบ
“เราหวังว่าการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติของชุมชน จะสามารถนำไปขยายผลสู่ชุมชนอื่นๆทั่วประเทศในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ โดยทุกชุมชนควรมีการสำรวจข้อมูลพื้นที่ จัดทำแผนฯรับมือ นำไปปฏิบัติ และทบทวนแก้ไขแผนให้เข้ากับสถานการณ์เสมอ เพื่อรับมือกับอุทกภัยได้อย่างเข้มแข็งด้วยตนเอง” ผู้แทนองค์กรไจก้ากล่าว
ทั้งนี้คู่มือการปรับตัวด้านการเกษตรเพื่อเตรียมรับภัยพิบัติของชุมชน โดยการสังเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาของโครงการฯนำร่องในชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วมนั้น จะจัดทำแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.56 และจะแจกจ่ายทั้งสิ้น 500 ชุด ให้แก่ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัยทั่วประเทศต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://www.insureok.co.th/News-detail.php?id=28