ไขปริศนาบึ้มคาฐานดับ"อีโอดี"
เหตุระเบิดภายในฐานปฏิบัติการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส เมื่อเวลาประมาณ 13.15 น.ของวันจันทร์ที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) ต้องสังเวยชีวิตพร้อมกำลังพลรวม 3 นายนั้น ถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่ายว่าเป็นเหตุการณ์สุดวิสัยในลักษณะอุบัติเหตุระหว่างการตรวจสอบวัตถุระเบิดที่เก็บกู้มาได้ หรือเป็นแผนของคนร้ายที่ต่อ "วงจรซ้อน" ลวงเอาไว้
ที่เรียกว่า "วงจรซ้อน" ก็คือแผนของคนร้ายที่ต่อวงจรระเบิดซ้อน 2-3 ระบบเอาไว้ เมื่อเจ้าหน้าที่ถอดชนวนระบบหนึ่งได้ แต่ไม่ทราบว่ามีอีกชนวนหนึ่งซ่อนอยู่ จึงเกิดระเบิดขึ้นในภายหลัง
ข้อมูลดังกล่าวเมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับการที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 เป็นหน่วยบังคับบัญชาของฐานปฏิบัติการบ้านยือลอ ต.บาเระเหนือ อ.บาเจาะ ที่ถูกกลุ่มติดอาวุธนำโดย นายมะรอโซ จันทรวดี บุกเข้าโจมตีฐานเมื่อวันที่ 13 ก.พ.2556 แต่เจ้าหน้าที่ภายในฐานตอบโต้จนฝ่ายผู้บุกรุกเสียชีวิตถึง 16 ราย รวมทั้งนายมะรอโซด้วย ทำให้หลายฝ่ายให้น้ำหนักกับข้อมูลนี้ เพราะอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มก่อความไม่สงบวางแผนมาเพื่อแก้แค้นเจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 (ก่อนหน้ามีการอุ้มฆ่าพลทหารที่เคยปฏิบัติการที่ฐานบ้านยือลอไปแล้ว 1 นาย)
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ทั้งเจ้าหน้าที่อีโอดีเองและระดับ "ครูฝึก" ก็ยังมีทัศนะแบ่งเป็น 2 ฝ่าย คือเชื่อและไม่เชื่อว่ามีวงจรซ้อน
เริ่มจากฝ่ายที่ไม่เชื่อ เขาเป็นเจ้าหน้าที่อีโอดีที่มีประสบการณ์และทำงานสนามในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานหลายปี เขาบอกว่า การต่อวงจรซ้อนในกรณีของระเบิดถังแก๊สมีความเป็นไปได้น้อยมาก
"ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากการแกะหรือนำระเบิดมาถอดแล้วเกิดความร้อนจากการเสียดสีของวัสดุที่ทำเป็นภาชนะ กระทั่งเกิดประกายไฟและทำปฏิกิริยากับน้ำมันจนทำให้ระเบิดขึ้นมากกว่า เพราะระเบิดที่พบเป็นระเบิดแอนโฟ (แอมโมเนียมไนเตรทผสมน้ำมัน หรือ ammonium nitrate fuel oil) วงจรที่คนร้ายต่อคือจุดระเบิดด้วยวิทยุสื่อสาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้สามารถตัดวงจรนี้ได้แล้ว จากนั้นก็นำกลับฐาน เข้าใจว่าน่าจะมีการผ่าถังเพื่อเอาดินระเบิดข้างในถังแก๊สออกมาจนเกิดระเบิดขึ้น"
ส่วนข่าวที่ว่าอาจมีการต่อวงจรซ้อนในรูปแบบ "หัวล้านชนกัน" เพื่อลวงเจ้าหน้าที่นั้น อีโอดีรายนี้อธิบายว่า การต่อวงจรแบบหัวล้านชนกัน คือการต่อสายไฟ 2 เส้นไว้กับแบตเตอรี่ 9 โวลต์ แล้วผูกปมที่ปลายสายไฟแต่ละเส้นเอาไว้เพื่อไม่ให้ลวดทองแดงของสายไฟสัมผัสกัน เมื่อมีการยก ตะแคง หรือเคลื่อนย้ายภาชนะระเบิด (หลังจากตัดวงจรจุดระเบิดอื่นแล้ว) การเคลื่อนของภาชนะจะไปกระตุกให้ปมที่ผูกไว้ 2 ปมนั้นเคลื่อนมาชนกัน เมื่อทองแดงสัมผัสกันก็จะครบวงจร ทำให้เกิดระเบิดขึ้นได้
อย่างไรก็ดี วิธีการนี้โดยมากต้องต่อวงจรไว้ด้านนอกภาชนะ โดยเฉพาะระเบิดที่ประกอบในถังแก๊ส การต่อวงจรแบบหัวล้านชนกันไว้ด้านในเป็นเรื่องยากมาก เพราะไม่สามารถกำหนดทิศทางการเคลื่อนของภาชนะได้ โอกาสที่จะเกิดระเบิดทำร้ายตัวเองขณะต่อวงจรก็มีสูง
ขณะที่เจ้าหน้าที่อีโอดีอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นระดับ "หัวหน้าชุด" กล่าวว่า จากการวิเคราะห์น่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุในการเคลียร์วัตถุพยานมากกว่า เพราะสามารถตัดวงจรจุดระเบิดได้แล้วตั้งแต่ตอนเข้าไปเก็บกู้ที่จุดเกิดเหตุ (บ้านจำปากอ ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ) แต่ระหว่างการตรวจวัตถุพยานอาจมีการกระแทกจนเกิดระเบิดได้ ส่วนความเป็นไปได้ของการต่อ "วงจรซ้อน" ก็มีอยู่บ้าง แต่คนประกอบต้องเก่งมากๆ ถึงสามารถนำวงจรไปไว้ในถังแก๊สได้
ทัศนะของเจ้าหน้าที่อีโอดีทั้ง 2 ราย สอดรับกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวที่บอกว่า การต่อวงจรซ้อนในระเบิดถังแก๊สเป็นไปได้ยาก เพราะต้องต่อไว้ด้านนอก ซึ่งเมื่อต่อไว้ด้านนอก เจ้าหน้าที่ที่เข้าเก็บกู้ชุดแรกก็ต้องมองเห็น น่าจะตัดวงจรได้เรียบร้อยแล้ว นอกจากนั้นระเบิดยังถูกเคลื่อนย้ายจากจุดเกิดเหตุกลับไปยังฐานปฏิบัติการแล้ว หากมีการต่อวงจรแบบหัวล้านชนกัน หรือวงจรที่จะทำงานเมื่อเคลื่อนย้ายระเบิด เช่น ลวดสะดุด ก็น่าจะเกิดระเบิดตั้งแต่ตอนเคลื่อนย้ายเลย
ด้านฝ่ายที่เชื่อว่าอาจมีการต่อวงจรซ้อนในวัตถุระเบิด ได้แก่ อดีตเจ้าหน้าที่อีโอดีระดับ "ครูฝึก" ที่ให้ข้อมูลว่า ถังแก๊สบางรุ่นมีส่วนที่เป็นคล้ายๆ ฝาเปิดได้ หรือคนร้ายอาจจะเจาะทำเป็นฝาเอาไว้ ใส่สกรู 2 ตัว เพื่อลวงให้เจ้าหน้าที่เปิดฝา ซึ่งใต้ฝาได้ต่อวงจร "หัวล้านชนกัน" เอาไว้แล้ว เมื่อดึงฝาเปิดก็เกิดระเบิด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดเหตุรูปแบบนี้
สำหรับแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณเดียวกันซ้ำซ้อนขึ้นอีกนั้น อดีตอีโอดีระดับ "ครูฝึก" บอกว่า ต้องระเบิดทิ้งบริเวณจุดที่คนร้ายวาง ทุกอย่างก็จบ
"ที่ผ่านมามีการฝึกอบรมกัน ก็สอนกันว่าเจอระเบิดที่ไหนให้นำซีโฟร์ไปแปะแล้วจุดระเบิดทิ้งไปเลย แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่หน้างานมักห่วงเรื่องพยานหลักฐาน จึงพยายามเก็บกู้ ทั้งที่จริงๆ แล้วน่าจะเน้นเรื่องความปลอดภัยมากกว่า เพราะหลักฐานนั้น แม้ระเบิดจะทำงานไปแล้ว ก็สามารถหาหลักฐานได้อยู่ดี แม้จะยากหน่อยแต่ก็ดีกว่าเอาชีวิตไปเสี่ยง" อดีตอีโอดีระดับ "ครูฝึก" กล่าว
สอดรับกับเจ้าหน้าที่อีโอดีระดับหัวหน้าชุด ที่บอกว่า เท่าที่ได้คุยกับอีโอดีหน่วยต่างๆ ที่ไปร่วมงานศพผู้เสียชีวิต เห็นตรงกันว่าต่อไปถ้าไม่จำเป็นจริงๆ จะไม่มีการเก็บวัตถุระเบิดกลับไปยังฐานปฏิบัติการอีกแล้ว ต้องทำลายทิ้ง ณ จุดเกิดเหตุเลย
ส่วนเรื่องขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่นั้น เท่าที่สอบถามทุกคนไม่ได้เสียขวัญ แต่รู้สึกเสียใจและเจ็บใจที่คนร้ายทำให้อีโอดีเสียชีวิตได้
"เรื่องขวัญเสียไม่มีอยู่แล้ว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแรงพลังให้เราต่อสู้กับการวางระเบิดของคนร้ายต่อไป แต่จะทำด้วยความระมัดระวังมากที่สุด" เขากล่าว
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : จุดที่เจ้าหน้าที่พบและเก็บกู้วัตถุระเบิดที่บ้านจำปากอ ต.กาเยาะมาตี อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ก่อนที่จะนำกลับฐานกองบังคับการหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 และเกิดระเบิดขึ้น
ขอบคุณ : ภาพโดย จรูญ ทองนวล ช่างภาพมือรางวัลจากค่ายเนชั่น