รู้หรือไม่ "กบว." ถูกเลิกไปตั้งแต่ปีมะโว้ แล้วใครมีอำนาจ "เซ็นเซอร์" รายการทีวี ?
มีเกร็ดความรู้ น่าสนใจ ที่ปรากฏในงานสัมมนาเรื่อง “จรรยาบรรณสื่อในมุมมองของสื่อและองค์กรกำกับดูแลในต่างประเทศ” ที่สำนักงาน กสทช.ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์จัดขึ้น ระหว่างวันที่ 22-23 เม.ย.ที่ผ่านมา
เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมาเป็นไปของ “คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์” หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “กบว.” (อ่านว่า กอ-บอ-วอ)
เพราะจะมีสักกี่คนรู้บ้างว่า กบว.ถูกยกเลิกไปกว่า 20 ปีแล้ว !!! ...ว่าแต่ว่า ทำไมเวลามีรายการทีวี การ์ตูน ละคร หรือโฆษณาถูกเบลอ... ถูกบัง... ถูกหั่น... ถูกแบน... คนไทยบางส่วนถึงยังโทษ กบว.อยู่ล่ะ ???
“นิวัต วงศ์พรมปรีดา” เลขาธิการสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ให้ที่มาที่ไปของการยกเลิก กบว.ว่า เราเริ่มต้นโดยการถูกควบคุมโดยรัฐ ยุคนั้นยังมีสิ่งที่เรียกว่า กบว. เซ็นเซอร์โฆษณาอย่างไม่ลืมหูลืมตา กระทั่งราวปี 2535 มีการยกเลิก กบว. และยกอำนาจในการตรวจพิจารณาเนื้อหารายการทีวีและโฆษณาไปให้กับทางช่อง ทำให้เกิดการร่วมมือระหว่างช่องกับสมาคมโฆษณาฯ แม้ช่วงแรกกรรมการที่มาตรวจสอบจะมีประสบการณ์จาก กบว.มาก่อน ทำให้เกิดปัญหาบ้าง แต่ช่วงหลังก็ดีขึ้น
(ข้อมูลเสริม - กบว.เกิดขึ้นจาก ระเบียบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2518 มีหน้าที่หลักในการควบคุมดูแลทีวีวิทยุของไทย รวมถึงการเซ็นเซอร์เนื้อหาต่างๆ โดย กบว.ทุกคนมาจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ
แต่ กบว.ถูกยกเลิกไปในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยมีการออกระเบียบวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2535 ให้ตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ขึ้นมาแทน พร้อมยกเลิกอำนาจในการตรวจพิจารณาเนื้อหารายการ และให้แต่ละสถานีดำเนินการกันเอง)
“นิวัต” อธิบายการตรวจพิจารณาเนื้อหารายการในทีวี โดยเฉพาะ “โฆษณา” ในปัจจุบัน มีข้อตกลงกันว่าสปอตโฆษณาใดที่จะออกอากาศได้ จะต้องผ่านการพิจารณาจากกรรมการร่วมระหว่างสถานีกับสมาคมโฆษณาฯ เสียก่อน
“ซึ่งโดยเฉลี่ยแต่ละปี จะมีสปอตโฆษณาส่งมาให้ตรวจพิจารณาราว 1.4 หมื่นสปอต แต่ละสปอตเราต้องตรวจทั้งก่อนผลิตและหลังผลิต หากสปอตใดเป็นไปตามระเบียบ เราถึงจะให้ออกอากาศ”
เลขาธิการสมาคมโฆษณาฯ ยังกล่าวว่า สปอตโฆษณา 80-90% จะออกจากสมาชิกสมาคมโฆษณาฯ ดังนั้นรับรองได้ว่าผ่านการตรวจสอบเนื้อหาแล้ว แต่ก็มีบ้าง บางช่อง บางรายการ ที่ใช้วิธีลักไก่ นำสปอตที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาไปออก เราก็ต้องยกหูไปคุยกับเจ้าของสถานีนั้นๆ ให้ไปไล่เบี้ยลูกน้อง เพราะการทำเช่นนั้น อาจสร้างปัญหาในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เขามองว่า ด้วยสถานการณ์สื่อในเมืองไทยที่เปลี่ยนไป ทำให้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการในการกำกับดูแลกันเอง โดยอุตสาหกรรมทีวี ที่เวลานี้ มีทีวีดาวเทียม-เคเบิลทีวี ราว 200 ช่อง และกำลังจะมีทีวีดิจิทัลอีก 48 ช่อง ขนาดฟรีทีวีแค่ 5 ช่อง (ไม่รวมไทยพีบีเอส) ยังมีสปอตโฆษณา 1.4 หมื่นสปอต ถ้ารวมทีวีประเภทอื่นๆ ไปด้วยต้องมากกว่านี้แน่
“จึงควรหากระบวนการที่มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพราะวิธีจัดการเก่าไม่น่าจะทำได้ มันต้องเปลี่ยนไปสู่กระบวนการจัดการใหม่ ซึ่งเรื่องนี้คนในอุตสาหกรรมทีวีจะต้องมาหารือกัน” นิวัตทิ้งโจทย์ใหญ่ไว้ให้ผู้เกี่ยวข้องได้คิด.