เปิดบทเรียนชุมชน หนุน‘คน’ เป็นศูนย์กลางรักษ์ป่า-สิ่งแวดล้อม
เวทีสิ่งแวดล้อมชาติครั้งที่ 4 จัดเสวนา ‘เรียนรู้เพื่อเท่าทัน บทเรียนจากชุมชนสู่สังคมไทย’ เสนอต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนร่วมปกป้องดูแล
‘ชาวปกาเกอะญอ’ สะท้อน วาทกรรมคนเมือง-กม.ป่าไม้ ทำลายรากเหง้าชุมชน
“คนบ้านผมในชุมชนมี 30 หลังคาเรือน แต่ดูแลป่าหมื่นกว่าไร่” ‘สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์’ หรืออาจารย์ชิ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ชาวปกาเกอะญอ เล่าถึงบทบาทของชาวไทยภูเขาชุมชนบ้านใหม่พัฒนา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ในการดูแลผืนป่า
อ.ชิกล่าวว่าวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวไทยภูเขาเผ่าปกาเกอะญอและชนเผ่าอื่นๆมักเกี่ยวโยงสิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งเป็นดั่งกลอุบายที่ทำให้ชุมชนรู้รักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สร้างความสมดุลให้ธรรมชาติอย่างมีนัยยะสำคัญ ตัวอย่างเช่น ในหมู่บ้านของอ.ชิ ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการเกิดและการตาย กล่าวคือ เมื่อชาวปกาเกอะญอให้กำเนิดบุตร พ่อแม่จะนำสายสะดือเด็กใส่กระบอกไม้ไผ่ อุดปากกระบอกไว้ด้วยเสื้อของผู้เป็นแม่ แล้วผูกไว้กับต้นไม้ต้นหนึ่งในป่าซึ่งเรียกว่า ’ป่าเกิด’ หรือ ‘ป่าสะดือ’ โดยเขียนชื่อเจ้าของสายสะดือและวันเดือนปีเกิดไว้ เมื่อเจ้าของสายสะดือเติบโตขึ้นก็จะต้องดูแลรักษาต้นไม้ของตนอย่าให้ใครมาตัดโค่นทำลาย ซึ่งเปรียบดั่งการรักษาชีวิตตนให้ยั่งยืน
เมื่อถึงแก่ความตาย ศพของชาวปกาเกอะญอจะถูกนำไปฝังที่ต้นไม้ใน‘ป่าตาย’ โดยญาติพี่น้องจะปลูกพืชผักที่คนตายชอบกินไว้บริเวณโดยรอบ เพื่อหวังว่าคนตายจะได้มีกิน ‘มีความมั่นคงอาหาร’ ทั้งในปรโลกและชาติภพหน้า ซึ่งหากคนเป็นๆเผลอไผลเข้าไปตัดต้นไม้อันเป็นที่ฝังศพของคนตายนั้น เชื่อกันว่าคนตายจะทำให้เจ็บป่วย
อย่างไรก็ดีความเชื่อที่เป็นคุณต่อธรรมชาติเหล่านี้ของชาวไทยภูเขา นับวันจะยิ่งถูกท้าทายและกดต่ำโดยความคิดและวาทกรรม ‘ความเจริญกว่า’ ตามหลักวิทยาศาสตร์ของคนเมือง ทำให้ชาวเขากลุ่มชาติพันธุ์รุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่ภูมิใจในรากเหง้าวัฒนธรรมตนเหมือนแต่ก่อน บางคนไม่กล้าพูดภาษาบ้านเกิดหรือใส่เสื้อของกะเหรี่ยงด้วยซ้ำ และนั่นนำไปสู่การย้ายถิ่นฐาน และไม่ช่วยกันรักษาดูแลป่า ขณะที่ภาครัฐก็หันมาเน้นใช้กฎหมายคุ้มครองป่าไม้เป็นหลัก เช่น การประกาศเขตอุทยานที่ผลักดันชาวเขาให้ออกจากพื้นที่ ป่าจึงถูกปกป้องรักษาเพียงกฎหมายที่พบเห็นการละเมิดได้บ่อยๆ สวนทางกับบทบาทของชุมชนที่ใช้วัฒนธรรมความเชื่อรักษาผืนป่าซึ่งลดน้อยลง
“ชุมชนเรากำลังหันกลับมาปลูกฝังเด็กรุ่นใหม่ให้รู้จักรากเหง้าตน รู้สิทธิ และรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก การที่สังคมไม่เข้าใจและยอมรับวัฒนธรรมความรู้ของชาวกะเหรี่ยง ทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภายนอก เดี๋ยวนี้เวลาเกิดปัญหาการตัดไม้ทำลายมักโทษว่าเป็นฝีมือชาวเขา แต่ไม่เคยได้ยินว่าธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ที่เข้ามาทำลายป่าอย่างเห็นได้ชัดจะโดนต่อว่าบ้าง” อาจารย์ชาวปกาเกอะญอทิ้งท้าย
ถอดบทเรียนเมืองต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม - เทศบาลตำบลเมืองแกลง
ภาพในอดีตของเทศบาลตำบลเมืองแกลง ต.ทางเกวียน อ.แกลง จ.ระยอง คือ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดตามนโยบายของรัฐบาลส่วนกลาง ที่ทำให้เกิดการขยายตัวของเมือง เปลี่ยนบทบาทจากเมืองแห่งการเกษตรไปเป็นเมืองแห่งการบริโภคและอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาแหล่งอาหารจากที่อื่น นำไปสู่ปัญหามลพิษ จากขยะจำนวนมาก ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อมชุมชน
กว่า 10 ปีที่เทศบาลฯพยายามเปลี่ยนแปลงเมืองแกลงที่เสื่อมโทรมไปสู่การเป็นเมืองสีเขียว คาร์บอนต่ำ และมีการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานตามมาตรฐาน ISO 14001 ‘สมชาย จริยเจริญ’ นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง กล่าวว่า เมืองแกลงเป็นตัวอย่างเมืองแห่งสิ่งแวดล้อม ที่เน้นการพัฒนาโดยประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามลภาวะ เช่น มีการจัดการขยะอย่างครบวงจร เริ่มจากการคัดแยกขยะ โดยไม่ใช้ถังขยะ แต่เน้นให้ชุมชนย่อยสลายขยะอินทรีย์ด้วยตนเอง ส่วนขยะอื่นๆเทศบาลฯมีสายพานคัดแยกขยะแบบต้นทุนต่ำซึ่งคิดค้นและพัฒนากันเอง จนสามารถนำวัสดุไปรีไซเคิล จำหน่าย นำกลับมาใช้ใหม่ได้
นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ประชาชนในเมืองลดการใช้พาหนะส่วนตัว หันมาใช้ ‘ขสมก. หรือ ขนส่งเมืองแกลง’ รถโดยสารสาธารณะระบบแก๊ส เพื่อลดการใช้พลังงานน้ำมันและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่ ‘โครงการเกษตรเมือง’ ซึ่งทำควบคู่กับการกำจัดมลพิษ คือหนทางในการสร้างความมั่นคงอาหาร ด้วยการส่งเสริมให้ชาวแกลงทำนาข้าวอินทรีย์ ปลูกผักปลอดสารพิษและปลูกผักลอยฟ้าที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ นำมาขายที่ตลาดเมืองแกลง โดยไม่ต้องพึ่งพาอาหารจากพื้นที่อื่น
“ปัจจุบันสังคมไทยเน้นเพียงการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมองข้ามการรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สำคัญของการพัฒนา ทำให้เกิดปัญหามลพิษ กระทบความมั่นคงทางอาหาร การสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ” นายกเทศมนตรีเมืองสีเขียวให้แง่คิด
ภาคธุรกิจโลกกับบทบาทรับผิดชอบต่อธรรมชาติ– แนะชุมชนร่วมพิทักษ์ทรัพยากร
ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจ ดูจะกลายเป็นจำเลยสำคัญที่ถูกพิพากษาว่ามีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม และสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้านชุมชนในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ‘สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ’ ระบุว่า ความเสียหายที่ภาคอุตสาหกรรมได้ก่อต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดิมเป็นผลกระทบซึ่งไม่เคยถูกนำมาตีเป็นมูลค่านั้น ได้เข้ามาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น
“ภาคธุรกิจเริ่มปรับตัวสู่การดำเนินกิจการควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เห็นได้ชัดจากองค์กรระดับใหญ่ในต่างประเทศ เช่น บริษัทโค้ก หรือ ธนาคารโลก ซึ่งหันมาให้ความสำคัญต่อวิกฤตเรื่องน้ำและภาวะโลกร้อน เพราะหลายบริษัทตระหนักว่า การที่สิ่งแวดล้อมเกิดวิกฤต ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการทำธุรกิจของเขาเองด้วย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งแวดล้อมกับเศรษฐกิจมีความเชื่อมโยงกันมาก”
โดยขณะนี้เริ่มมีปรากฏการณ์ซึ่งเป็นที่น่ายินดี โดยบริษัทต่างชาติเริ่มมีการประเมินผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อกิจการที่บริษัทดำเนินงานไป เช่น มีการวิจัยว่าธุรกิจปศุสัตว์ในอเมริกาใต้สร้างผลกระทบสูงสุดต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมคิดเป็นเงิน 7 เท่าของรายได้ที่ภาคธุรกิจได้รับ หรือ การกระบวนการได้มาซึ่งแฮมเบอร์เกอร์เพียง 1 ชิ้นในร้านฟาสฟูดส์ สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่าชิ้นละ 6,000 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ดีสำหรับภาคธุรกิจไทยยังไม่ปรับตัวไปสู่การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมถึงระดับนั้น ‘สฤณี’ กล่าวว่า สิ่งที่เราพอจะเริ่มทำได้เพื่อช่วยกันรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติไว้ ควรเริ่มจากคนในชุมชนที่ต้องร่วมกันขับเคลื่อนและปกป้องดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของตนเป็นสำคัญ
………………………
อาจกล่าวได้ว่า การส่งเสริมให้ ‘คน’ เป็นกลไกสำคัญในการอนุรักษ์ป่า เช่น ชาวปกาเกอะญอ และคอยสอดส่องบรรเทาผลกระทบที่ท้องถิ่นต้องแบกรับจากการดำเนินกิจการของภาคอุตสาหกรรม เช่น ชาวเมืองแกลงนั้น เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการรักษาสิ่งแวดล้อม ก็คงไม่ผิดนัก เพราะตราบใดที่ ‘คน’ ยังไม่มีใจพิทักษ์ทรัพยากรแผ่นดิน ต่อให้มีกฎหมายอนุรักษ์ดีเลิศสักเพียงใด ใครๆก็คงเห็นเป็นเพียง ‘กระดาษ’
ที่มาภาพ :::
http://www.rd1677.com/branch.php?id=89668
http://chm.forest.go.th/th/?p=602