แถลงการณ์ประชาชนเหนือ 'ค้านแผนจัดการน้ำ 3.5แสนล้านบ.'
แถลงการณ์ร่วมภาคประชาชนภาคเหนือ “ยุติการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท”
ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ โดยใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท และว่าจ้างบริษัทเอกชนโดยเฉพาะจากต่างประเทศมาออกแบบและจัดการน้ำของคนไทยทั้งประเทศ แผนงานดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อชาวบ้านผู้เป็นเจ้าของแม่น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำต่างๆ ดังรายชื่อที่แนบมาตอนท้ายเป็นอย่างมาก พวกเรามีความเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนว่าแผนงานดังกล่าวสร้างขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้าน พวกเราขอเรียกร้องให้มีการยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชนในแผนโครงการงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาทดังกล่าว
พวกเราไม่เห็นด้วยในหลายเรื่อง ดังนี้
ประการแรก การดำเนินโครงการของกบอ.ผิดขั้นตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตามรัฐธรรมนูญฉบับปีพ.ศ. 2550 การดำเนินงานตามโครงการของกบอ. มีความเร่งรีบ รวบรัดขั้นตอนไม่ได้ทำตามกระบวนการของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) โดยละเลยขั้นตอนการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น
ประการที่สอง ภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน บางโครงการขาดรายละเอียดของโครงการ และไม่มีกรอบเวลาดำเนินงานที่ชัดเจน
ประการที่สาม ความไม่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ องค์กรใดหรือองค์กรเอกชนผู้รับจ้าง(บริษัท) จะเป็นองค์กรหลักรับผิดชอบภายใต้แผนทั้ง 9 โมดูล ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน
ประการที่สี่ การละเลยกระบวนการมีส่วนร่วม และการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการละเลยที่จะรับฟังเสียงของทุกฝ่ายถึงข้อกังวล ข้อห่วงใยตามหลักวิชาการ และสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประการที่ห้า ภายใต้แผนงานทั้ง 9 โมดูล บางโมดูลไม่มีความจำเป็นและเร่งรีบดำเนินโครงการ นอกจากนี้โครงการยังใช้งบประมาณที่สูง ไม่มีความคุ้มทุน และมีความซ้ำซ้อนของการใช้งบประมาณในหลายหน่วยงาน ซึ่งมีแผนงานอยู่แล้ว และเห็นควรใช้งบประมาณประจำปีที่มีอยู่แทน
ประการที่หก ตามข้อเสนอและขอบเขตของงาน (TOR) ทั้ง 9 โมดูล ที่ได้มีการจ้างบริษัทจากต่างประเทศมาออกแบบก่อสร้างระบบบริหารการจัดการน้ำและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัย กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบการทำงานจากเดิมที่ให้หน่วยงานภาครัฐรับผิดชอบ มาเป็นให้บริษัทที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจนถึงการออกแบบ และก่อสร้าง รวมไปถึงให้บริษัทรับผิดชอบการเวนคืนที่ดิน การหาพื้นที่อพยพ ซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและวิถีชีวิตอย่างรุนแรงยากแก่การเยียวยา
พวกเราขอย้ำอย่างชัดเจนว่า ขอให้รัฐบาลยุติโครงการที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและชุมชน โดยแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท
หากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว เรามีมติร่วมกันอย่างชัดเจนว่า
- จะทำหนังสือคัดค้านอย่างเป็นทางการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- ไม่ให้ความร่วมมือในการดำเนินการของภาครัฐ
- จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆตามมติของเครือข่ายต่อไป
ภาคประชาชนภาคเหนือ
20 เมษายน 2556
ริมกว๊านพะเยา
ลงชื่อ
- กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
- กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
- กลุ่มรักบ้านแหง อ.งาว จ.ลำปาง
- เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนบน จ.พะเยา
- เครือข่ายลุ่มน้ำอิงตอนปลาย จ.เชียงราย
- คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
- เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ