จับกระแสเจรจา...มองผ่านหาดใหญ่โพลล์และผลสำรวจของ ศอ.บต.
กระบวนการสันติภาพที่ตัวแทนรัฐบาลไป "เปิดหน้าพูดคุย" กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างตัวว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็นนั้น ยังมีข้อถกเถียงว่าเดินถูกทางหรือไม่ และประชาชนเชื่อถือเชื่อมั่นจริงหรือเปล่า
เมื่อเร็วๆ นี้มีผลสำรวจของ "หาดใหญ่โพลล์" และข้อมูลการสอบถามความเห็นจากคนในพื้นที่ที่เผยแพร่โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่พอจะตอบคำถามข้างบนนั้นได้ ทว่า "เนื้อหา" และ "ทิศทาง" กลับแตกต่างกันพอสมควร
หาดใหญ่โพลล์ : ชาวบ้านเชื่อไฟใต้ไม่ดับหลังเจรจา
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้แถลงผลสำรวจ "หาดใหญ่โพลล์" ในหัวข้อ "ประชาชนคิดอย่างไรกับปัญหาความมั่นคงของรัฐ" ซึ่งมีบางส่วนเกี่ยวพันกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 48.2 มีความคิดว่าปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาต่อความมั่นคงของประเทศ นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 61.7 ยังเห็นว่าแนวโน้มของปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หลังการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็นจะเหมือนเดิม โดยมีร้อยละ 31.9 มองว่าแนวโน้มปัญหาน่าจะรุนแรงขึ้น ขณะที่มีเพียงร้อยละ 6.4 ที่เชื่อว่าแนวโน้มปัญหาจะคลี่คลาย
ทั้งนี้ ประชาชนร้อยละ 64.2 ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการตั้งเขตปกครองพิเศษในรูปแบบ "มหานครปัตตานี" หรือ "ปัตตานีมหานคร" ร้อยละ 57.9 ไม่เห็นด้วยกับการจัดรูปแบบการปกครองโดยใช้โมเดลของอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และร้อยละ 46.6 ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษไม่ว่ารูปแบบใด
ประชาชนร้อยละ 59.7 ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ ร้อยละ 57.2ไม่เห็นด้วยกับการถอนทหารออกจากพื้นที่ชายแดนใต้ และร้อยละ 40.5 ไม่เห็นด้วยกับการใช้กองกำลังท้องถิ่นในการดูแลพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าว มีกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จำนวน 1,005 คน ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 9-13 เม.ย.2556
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 59.8 มีอายุระหว่าง 21-30 ปี ร้อยละ 36.2 รองลงมา อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 30.8 และอายุ 18-20 ปี ร้อยละ 14.9 นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 29.7 รองลงมาประกอบกิจการส่วนตัว/ค้าขาย ร้อยละ 21.2 พนักงานบริษัท/รับจ้าง ร้อยละ 15.3 และรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 13.4
กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 69.8 และศาสนาอิสลาม ร้อยละ 27.6
ศอ.บต. : ผู้นำท้องถิ่นให้คะแนนผ่านเฉียดฉิว
ด้าน ศอ.บต.ได้เผยแพร่ผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน จัดทำโดยสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ระหว่างวันที่ 18-25 มี.ค.2556 กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนในระดับตำบลและระดับหมู่บ้านในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา จำนวนทั้งสิ้น 1,780 คน
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการสำรวจคือ ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการจะทำให้เกิดสันติภาพจริงๆ ได้มากน้อยเพียงใด?
ผลการสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 67.17 ให้คะแนนผ่านเกณฑ์ คือให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กับกลุ่มบีอาร์เอ็น ส่วนอีกร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ (คะแนนเต็ม 10)
เมื่อพิจารณาคะแนนเฉลี่ยจากการประเมิน พบว่าความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพ ได้ระดับคะแนน 5.16 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผ่านเกณฑ์ระดับปานกลาง
วิเคราะห์ว่าอาจเป็นเพราะครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสันติภาพที่ยังอยู่ในขั้นตอนการ "ริเริ่ม" จึงยังคงมีปัจจัยเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่บางส่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่ให้ประชาชนมีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แผนภูมิแสดงระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพที่ ศอ.บต.เผยแพร่