ขึ้นทะเบียนไหมพื้นบ้านอิสานโกอินเตอร์-หนุนวิสาหกิจชุมชน
กรมหม่อนไหม เดินหน้ายกระดับมาตรฐานไหมไทย สร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่น หนุนอาชีพชุมชน คุ้มครองแพรวากาฬสินธุ์-ยกดอกลำพูน-มัดหมี่ชนบท ขึ้นทะเบียนไหมพื้นบ้านอีสาน เม.ย.นี้
นายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การส่งเสริม และสนับสนุน การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าไหมไทยนับเป็นอีกหนึ่งในภารกิจสำคัญของกรมหม่อนไหม ซึ่งที่ผ่านมากรมหม่อนไหมได้ดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าไหมไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำกระบวนการรับรองมาตรฐานมาใช้ ไม่ว่าจะเป็นการรับรองคุณภาพผ้าไหมไทยผ่านตราสัญลักษณ์ตรานกยูงพระราชทาน ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ นกยูงพระราชทานสีทอง นกยูงพระราชทานสีเงิน นกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน และนกยูงพระราชทานสีเขียว เพื่อเป็นการรับรองวัตถุดิบและกระบวนการผลิตผ้าไหมไทย ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และสร้างแบรนด์ที่เป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมไทย โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี งบประมาณ 2556 กรมหม่อนไหมได้ดำเนินการรับรองผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานไปแล้ว จำนวน 42,117.93 เมตร โดยเป็นการรับรองผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง จำนวน 8,029.36 เมตร สีเงิน จำนวน 3,555.80 เมตร สีน้ำเงิน จำนวน 30,152.17 เมตร และสีเขียว จำนวน 260.60 เมตร
นอกจากนี้ยังดำเนินการปกป้องคุ้มครอง รับรองคุณภาพ เอกลักษณ์ และแหล่งกำเนินผ้าไหมไทย ผ่านระบบการรับรองของสหภาพยุโรปภายใต้เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อสร้างชื่อเสียงและการยอมรับผ้าไหมไทยในเวทีโลก รวมทั้งสามารถคุ้มครองวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ให้แก่ลูกหลานต่อไป โดยปัจจุบันได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนากระบวนการมาตรฐานการผลิตและระบบการควบคุมตรวจสอบ จนทำให้ผ้าไหมไทยได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมาย 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ผ้าไหมยกดอกลำพูน และผ้ามัดหมี่ชนบท และขณะนี้ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียน GI เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานเพื่อรับการปกป้องคุ้มครองภูมิปัญญา โดยคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในเดือนเมษายน 2556 นอกจากนี้ยังมีผ้าไหมไทยที่อยู่ระหว่างการจัดทำและพัฒนาข้อมูลและกระบวนการผลิตเพื่อขอรับความคุ้มครองอีก 2 ประเภท คือ ผ้าซิ่นตีนแดงบุรีรัมย์ และผ้าจกเมืองลอง ซึ่งการขึ้นทะเบียนภายใต้เครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ นอกจากจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไหมไทยแล้ว ยังสร้างความภาคภูมิใจในอาชีพแก่เกษตรและคนในชุมชน ทำให้เกิดการตื่นตัวในการอนุรักษ์และรักษาภูมิปัญญาการผลิตผ้าไหมไทยอีกด้วย
อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า กรมหม่อนไหมยังได้นำระบบสารสนเทศมาใช้ เพื่อสร้างคุณค่าและความเชื่อมั่นของสินค้าไหมไทย โดยการบูรณาการระบบการเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ผลิต และพัฒนาระบบตามสอบสินค้า เพื่อประชาสัมพันธ์รายละเอียดสินค้า ลวดลาย ความเป็นมา ราคา ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ก่อนการตัดสินใจซื้อ และการตามสอบสินค้าจากรหัสสินค้าที่ซื้อ ทำให้เกิดการรับรู้คุณค่า และสร้างความเชื่อมั่นในสินค้ามากยิ่งขึ้น ทำให้สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้า ซึ่งปัจจุบันมีการนำร่องใช้งานในกลุ่มผู้ผลิตผ้าไหมยกดอกลำพูนภายใต้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
สำหรับในส่วนของการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตนั้น กรมหม่อนไหมได้พัฒนา และควบคุมคุณภาพไหมไทยให้สอดคล้องหลักเกณฑ์สำหรับการรับรองมาตรฐานเส้นไหมและผ้าไหมอินทรีย์ภายใต้มาตรฐานของสหภาพยุโรป (GOT : Global Organic Textile) ให้แก่กลุ่มเกษตรกร และกลุ่ม SME จำนวน 5 กลุ่ม ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ซึ่งทำให้เส้นไหม และผ้าไหมไทยได้รับการรับรองภายใต้ GOT ส่งผลให้สนค้าไหมไทยมีความแตกต่าง และเป็นที่ต้องการของตลาดโลกสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ผู้ผลิตไม่น้อยกว่า ร้อยละ 20
ทั้งนี้ กรมหม่อนไหมจะมุ่งดำเนินงานด้านการส่งเสริมระบบการจัดทำมาตรฐานสินค้าหม่อนไหมอย่างต่อเนื่อง เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าไหมไทยแล้ว ยังช่วย สร้างงานและสร้างรายได้เพิ่มให้แก่กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่น ทำให้เกษตรกรมีความยั่งยืนในอาชีพและช่วยอนุรักษ์ให้ภูมิปัญญาด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมคงอยู่คู่ประเทศไทยต่อไป