4 พันชื่อในหมายจับป่วนใต้อาจเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ตาม ก.ม.ฟอกเงินฉบับใหม่!
กฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ที่ประเทศไทยเร่งตราขึ้นเพราะเจอแรงกดดันจากต่างประเทศ กำลังทำให้ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีโอกาสถูกขึ้นบัญชีเป็น "ผู้ก่อการร้าย"
กฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ที่ว่านี้คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 ที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมานี้เอง
ปีที่แล้ว ประเทศไทยถูกคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน (Financial Action Task Force หรือ FATF) ขึ้นบัญชีเป็นประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ด้านการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย
ผลของการถูกขึ้นบัญชีที่เรียกว่า Dark Gray List แม้จะยังไม่ถึงขั้น Black List หรือ Super Black List ซึ่งเป็นดีกรีสูงสุดที่องค์กรดังกล่าวจัดลำดับไว้ และต้องถูกนานาประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ช่วงนั้นก็เริ่มมีเสียงโวยจากนักธุรกิจไทยที่ไปลงทุนและทำการค้าในต่างประเทศแล้วว่า ทำธุรกรรมทางการเงินยากขึ้น โดยเฉพาะการขอกู้กับสถาบันการเงินในยุโรปและอเมริกา
และนั่นคือที่มาของการเร่งผลักดันกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2556 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556
ในส่วนของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ แม้จะมีการเพิ่มมูลฐานความผิดที่เป็นการฟอกเงินอีก 12 มูลฐานความผิด จากเดิมมีอยู่แล้ว 11 มูลฐานความผิด รวมเป็น 23 มูลฐานความผิดก็ตาม แต่นั่นก็เป็นผลที่จะเกิดเป็นการทั่วไปกับผู้ที่กระทำการเข้าข่ายมูลฐานความผิดดังกล่าวทั่วประเทศ
แต่สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯนั้น จะส่งผลโดยตรงต่อผู้คนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างแน่นอน เพราะน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา "ก่อการร้าย" (ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะความผิดเกี่ยวกับก่อการร้าย) มากที่สุดในประเทศไทย ในนามของ "คดีความมั่นคง" ที่สืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
4 พันหมายจับคดีความมั่นคงจ่อขึ้นลิสต์
พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.ซึ่งเพิ่งเชิญหน่วยงานรัฐ 135 หน่วยงานร่วมประชุมเพื่อประกาศยุทธศาสตร์บูรณาการกฎหมายฟอกเงินกับกฎหมายต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เล่าให้ฟังว่า เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว โดยเฉพาะพระราชบัญญัติต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายฯ ปปง.ก็จำเป็นต้องเร่งดำเนินการตามกฎหมาย คือ ประกาศรายชื่อ "บุคคลที่ถูกกำหนด" หรือ "แซงชั่นลิสต์" โดยจะมี 2 ลักษณะคือ
1.แซงชั่นลิสต์ตามที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศเอาไว้ ในส่วนนี้ ปปง.จะนำรายชื่อที่ยูเอ็นประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายไว้อยู่แล้ว เสนอให้ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนาม จากนั้นจะประกาศในเว็บไซต์ของ ปปง.พร้อมทั้งส่งข้อมูลทั้งหมดให้ภาคเอกชนได้รับทราบ
2.แซงชั่นลิสต์ที่เป็นของประเทศไทยเอง มี 2 ส่วน คือ
- รายชื่อผู้ก่อการร้ายต่างประเทศที่ไทยนำมาประกาศเป็นผู้ก่อการร้ายตามกฎหมายไทย
- รายชื่อผู้ก่อการร้ายที่เป็นคนไทย แยกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคนไทยที่มีรายชื่อในบัญชีก่อการร้ายของประเทศอื่น และกลุ่มคนไทยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
"กลุ่มหลังที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในภาคใต้จะเป็นกลุ่มที่มีรายชื่อตามหมายจับทั้งหมด 4 พันกว่าคน โดยล็อตแรก ปปง.จะส่งรายชื่อให้อัยการพิจารณาในวันที่ 19 เม.ย.นี้ โดยอัยการจะยื่นรายชื่อต่อศาลแพ่งให้มีคำสั่งประกาศรายชื่อเป็นกลุ่มเกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย แต่หากบุคคลที่มีรายชื่อไม่ได้เกี่ยวข้อง ก็สามารถยื่นหลักฐานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ต่อศาลแพ่งได้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งปลดรายชื่อออกไป" เลขาธิการ ปปง.ระบุ
ห้ามทำธุรกรรมทุกประเภท-ฝ่าฝืนเจอคุก
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวต่อว่า จะค่อยๆ ทยอยยื่นรายชื่อให้ศาลพิจารณา โดยจะประกาศออกมาคราวละ 5-20 คน แต่ระลอกแรกที่ประกาศคือประมาณ 100 คน จะประกาศหลังสงกรานต์นี้
"มีบุคคลหลายกลุ่มที่เกี่ยวข้อง เช่น มาในคราบนักธรุกิจ พ่อค้า ส่วนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขั้นตอนการพิจารณาของศาล ขณะนี้มีหลายพันคนที่ ปปง.จะต้องประกาศให้ชัดเจน และผลคือบุคคลเหล่านี้จะต้องถูกแบนหรือต้องห้ามทำธุรกรรม โดยบัญชีทุกประเภทจะต้องถูกห้ามทั้งหมด ใครทำธุรกรรมหรือให้เงินสนับสนุนก็มีโทษจำคุกทั้งหมด"
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ฝ่าฝืนทำธุรกรรมทางการเงินกับผู้ที่มีรายชื่อตามประกาศ จะมีโทษปรับ 1 ล้านบาท และปรับอีก 1 หมื่นบาททุกวันจนกว่าจะมีการแก้ไข และบุคคลที่ทำธุรกรรมกับผู้ก่อการร้ายตามประกาศจะมีโทษจำคุก 3 ปี ตามมาตรา 16 ใครจะว่าก็คงไม่ได้เพราะทั่วโลกได้ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
เชื่อไม่โหมไฟใต้-ไม่กระทบพูดคุยสันติภาพ
สำหรับผู้ที่อยู่ในข่ายถูกประกาศรายชื่อเป็นผู้ก่อการร้ายในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น พ.ต.อ.สีหนาท บอกว่า ไม่ได้มีการแบ่งแยกหรือแบ่งกลุ่ม แต่จะรวมกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงหรือผู้สนับสนุนทางการเงิน
"ยืนยันว่าการประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายจะไม่ส่งผลกระทบกับการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับขบวนการบีอาร์เอ็น และการประกาศในครั้งนี้ไม่คิดว่าจะเพิ่มความรุนแรงหรือกระพือไฟใต้ เพราะถึงอย่างไรก็คงต้องมีการก่อเหตุร้ายอยู่แล้ว ขณะนี้เราไม่มีอะไรที่เลวร้ายมากไปกว่านี้ เราจะต้องดำเนินการตามกฎหมายให้ชัดเจน ถ้าไม่ทำจะถูกตอบโต้จากต่างประเทศ และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย"
พ.ต.อ.สีหนาท กล่าวด้วยว่า ในเดือน พ.ค.นี้ คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงินเกี่ยวกับการฟอกเงิน หรือ FATF จะประเมินความก้าวหน้าของไทยในการวางมาตรการทางกฎหมายป้องกันการฟอกเงินที่เป็นการสนับสนุนการก่อการร้าย ฉะนั้นถ้าไม่ประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้าย แล้วไทยไม่ถูกปลดจากบัญชีประเทศเสี่ยงก่อการร้าย ก็จะก่อผลกระทบอย่างมหาศาล
"เราจะเกรงใจผู้ก่อการร้ายที่สังหารเจ้าหน้าที่และประชาชนอยู่ทุกวันคงไม่ได้" เลขาธิการ ปปง.กล่าว
"ภราดร"บอกปลดชื่อง่าย – "ปณิธาน"เตือนพิสูจน์ให้ชัด
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า การประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายจากผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการพูดคุยสันติภาพกับขบวนการบีอาร์เอ็น เพราะ ปปง.ดำเนินการไปตามกฎหมาย เมื่อ ปปง.ประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายแล้ว หากมีอะไรขัดข้องก็ต้องไปชี้แจง ถ้าชี้แจงได้ก็สามารถถอดชื่อออกจากบัญได้ ไม่มีอะไรยุ่งยาก ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้ง่ายกว่าหมายจับด้วยซ้ำไป เพราะอำนาจอยู่ที่ ปปง.
ขณะที่ นายปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ประเทศไทยยังไม่เคยมีการประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้าย เพราะที่ผ่านมาไทยยังไม่ได้บังคับใช้กฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายอย่างจริงจัง ฉะนั้นการประกาศรายชื่อผู้ก่อการร้ายตามกฎหมายฟอกเงินฉบับใหม่ ทางหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต้องพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ให้ได้ความชัดก่อนว่าบุคคลดังกล่าวเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับก่อการร้ายจริงหรือไม่ แม้จะเป็นผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ตาม เพราะคดีในพื้นที่สามจังหวัดบางส่วนเป็นคดีอาญาธรรมดา และบางส่วนอาจมีความเกี่ยวข้องทางการเมือง
เปิดเนื้อหากฎหมายฟอกเงินหนุนก่อการร้าย
สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย พ.ศ.2556 มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
"การก่อการร้าย" หมายความว่า การกระทำที่เป็นความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำที่เป็นความผิดตามกฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้ขอบเขตของอนุสัญญาและพิธีสารระหว่างประเทศเกี่ยวกับการก่อการร้ายที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือรับรอง ทั้งนี้ ไม่ว่าการกระทำที่เป็นความผิดนั้นได้กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือนอกราชอาณาจักร
"บุคคลที่ถูกกำหนด" หมายความว่า บุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อ ซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย หรือบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรตามรายชื่อที่ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
มาตรา 4 ในกรณีที่มีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นผู้ที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้าย ให้สำนักงาน (ปปง.) เสนอรายชื่อดังกล่าวไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อมีคำสั่งประกาศรายชื่อเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
การเพิกถอนรายชื่อของบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้กระทำได้เมื่อมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอันเป็นผลให้ต้องเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดแล้ว
มาตรา 5 ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลนั้น ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด และถ้าปรากฏแก่ศาลว่ามีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ดังต่อไปนี้ ให้ศาลมีคำสั่งตามที่ขอ
(1) ผู้นั้นมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย หรือ
(2) ผู้นั้นดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลที่ถูกกำหนดตาม (1) หรือ ตามมาตรา 4
ทั้งนี้ พฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือการดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง ต้องมีอยู่ในวันที่ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนด
ให้สำนักงานทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามวรรคหนึ่ง ถ้าเห็นว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนรายชื่อผู้นั้นออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
มาตรา 6 ให้สำนักงานประกาศรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 4 และมาตรา 5 พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลที่ถูกกำหนดและผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลที่ครอบครองทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนดดำเนินการดังต่อไปนี้โดยไม่ชักช้า
(1) ระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกกำหนด หรือของผู้กระทำการแทนหรือตามคำสั่งของผู้นั้น หรือของกิจการภายใต้การควบคุมของผู้นั้น
(2) แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการให้สำนักงานทราบ
(3) แจ้งให้สำนักงานทราบเกี่ยวกับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นลูกค้าซึ่งอยู่ในรายชื่อ บุคคลที่ถูกกำหนดหรือผู้ที่มีหรือเคยมีการทำธุรกรรมกับผู้นั้น
มาตรา 9 บุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 หรือผู้ซึ่งถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สินตามมาตรา 6 อันเนื่องมาจากมีการกำหนดการเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดตามมาตรา 5 อาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้พิจารณาในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) ขอให้ดำเนินการเพิกถอนรายชื่อออกจากรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนด
(2) ขอให้เพิกถอนการระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
(3) ขอให้มีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินการใด ๆ กับทรัพย์สินที่ถูกระงับการดำเนินการกับทรัพย์สิน
กรณีมีคำสั่งอนุญาตตาม (3) ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่จำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีการนำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายด้วยก็ได้ และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่าการอนุญาตดังกล่าวอาจเป็นช่องทางให้นำทรัพย์สินไปใช้ในการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ศาลจะกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติมหรือจะเพิกถอนการอนุญาตนั้นเสียก็ได้
"ก่อการร้าย"ตาม ป.อาญา กับจำนวนหมายจับคดีมั่นคง
สำหรับการกระทำที่ถูกระบุว่าเป็นความผิดฐานก่อการร้าย บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 135/1 ถึง 135/4
มาตรา 135/1 ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้
(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต หรืออันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย หรือเสรีภาพของบุคคลใดๆ
(2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะ ระบบโทรคมนาคม หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ
(3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สามปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านบาท
การกระทำในการเดินขบวน ชุมนุม ประท้วง โต้แย้ง หรือเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐช่วยเหลือหรือให้ได้รับความเป็นธรรมอันเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย
มาตรา 135/2 ผู้ใด
(1) ขู่เข็ญว่าจะกระทำการก่อการร้าย โดยมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะกระทำการตามที่ขู่เข็ญจริง หรือ
(2) สะสมกำลังพลหรืออาวุธ จัดหาหรือรวบรวมทรัพย์สิน ให้หรือรับการฝึกการก่อการร้าย ตระเตรียมการอื่นใด หรือสมคบกัน เพื่อก่อการร้าย หรือกระทำความผิดใดๆ อันเป็นส่วนของแผนการเพื่อก่อการร้าย หรือยุยงประชาชนให้เข้ามีส่วนในการก่อการร้าย หรือรู้ว่ามีผู้จะก่อการร้ายแล้วกระทำการใดอันเป็นการช่วยปกปิดไว้
ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท
มาตรา 135/3 ผู้ใดเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดตามมาตรา 135/1 หรือมาตรา 135/2 ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้นๆ
มาตรา 135/4 ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งมีมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนดให้เป็นคณะบุคคลที่มีการกระทำอันเป็นการก่อการร้ายและรัฐบาลไทยได้ประกาศให้ความรับรองมติหรือประกาศดังกล่าวด้วยแล้ว ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีและปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท
สำหรับจำนวนหมายจับคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ออกตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ในคดีความมั่นคงซึ่งเกือบทั้งหมดระบุข้อหา "ก่อการร้าย" ด้วย มีทั้งสิ้น 4,253 หมาย (ข้อมูลถึงต้นปี 2556)
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : กราฟฟิกแสดงสถิติที่เกี่ยวกับสถานการณ์ไฟใต้ด้านต่างๆ รวม 9 ด้าน โดยหนึ่งในนั้นมีจำนวนหมายจับคดีความมั่นคง (โดยทีมกราฟฟิกหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ)