คมนาคมเร่งทำอีไอเอ21 จว. ดันรถไฟความเร็วสูง
สนข.เร่งทำอีไอเอ 21 จว.รถไฟความเร็วสูงผ่าน เผยมิ.ย.-ก.ค.นี้ นำสาย 'กรุงเทพฯ-พิษณุโลก' เสนอกรรมการสิ่งแวดล้อมพิจารณาใน 105 วัน เร็วเทียบเท่าโครงการเอกชน
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยถึงโครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง ประกอบด้วย สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ และกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ว่า จะใช้เงินลงทุนใน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท วงเงินลงทุน 783,229 ล้านบาท ทั้งการจ้างที่ปรึกษา เวนคืนที่ดิน ก่อสร้างและค่าจัดหาระบบรถไฟฟ้าเฟสแรก โดยจะก่อสร้าง 4 เส้นทางแรก คือ กรุงเทพฯ-พิษณุโลก, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-ระยอง ซึ่งจะสามารถเปิดให้บริการได้ใน 5 ปีนี้ ส่วนที่เหลือจะทยอยดำเนินการต่อไปตามกรอบเวลาการใช้เงินใน 7 ปี ตั้งแต่ปี 2556-2563"
โดยขณะนี้สนข. อยู่ระหว่างให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและรายละเอียดโครงการ ทั้งการคัดเลือกแนวเส้นทาง ระยะทาง เงินลงทุน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน พร้อมทั้งประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีแนวรถไฟความเร็วสูงพาดผ่านทั้ง 21 จังหวัด
ทั้งนี้ จาก 4 สายทางมี 3 สายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ สนข. คือ สายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หัวหิน ขณะที่สายต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ไปพัทยาและระยองเป็นความรับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ล่าสุดก็ได้เริ่มการศึกษาแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายจุฬากล่าวต่อไปว่า ประมาณเดือนพฤษภาคมนี้ผลการศึกษาความเหมาะสมโครงการทั้ง 3 สายทาง จะได้ข้อสรุปทั้งแนวเส้นทาง ระยะทาง ตำแหน่งสถานีและเงินลงทุน รวมถึงต้นทุนค่าโดยสาร จากนั้นประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ จะเสนอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา
ขณะที่นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สผ.จะนำโครงการลงทุนใน 2 ล้านล้านบาทที่ยังไม่ได้ทำ EIA เสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พิจารณาตามกรอบเวลาโครงการของเอกชน ใช้เวลาพิจารณา 2 รอบ ประมาณ 105 วัน ทั้งนี้ การพิจารณาจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับบริษัทที่ปรึกษาทำรายละเอียดโครงการมาครบตามที่กำหนดไว้หรือไม่ หากไม่มีการท้วงติงเพิ่มเติมการพิจารณาจะเร็วขึ้น แต่ส่วนใหญ่ที่ช้าหายไปเป็นปีเพราะนำไปปรับปรุงแก้ไขนาน
"รถไฟฟ้าในแผน 2 ล้านล้านบาทมีหลายสายที่ผ่าน EIA ไปแล้ว ส่วนรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง หากที่ปรึกษาทำข้อมูลมาดีก็ใช้เวลาไม่นาน เรามีการประชุมทุกอาทิตย์อยู่แล้ว เพราะอำนาจการอนุมัติโครงการขั้นสุดท้ายอยู่ที่คณะรัฐมนตรี ส่วนคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพียงแค่ตรวจสอบรายละเอียดให้ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้นว่า เข้าเกณฑ์ต้องทำ EIA หรือไม่" เลขาฯ สผ.ก กล่าว
ที่มาภาพ ::: http://www.dxplace.com