เปิดโรดแมพพูดคุยดับไฟใต้ฉบับพระปกเกล้า
กระบวนการพูดคุยสันติภาพดับไฟใต้ที่ดำเนินการโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นำโดย พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.นั้น แม้จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากบางฝ่าย แต่ก็ถูกทักท้วง วิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะประเด็นที่ความรุนแรงในพื้นที่ยังไม่ลดระดับลง แต่กลายเป็นว่ายิ่งพูดคุยยิ่งรุนแรง จนมีหลายเสียงเรียกร้องให้ทบทวนวิธีการ เพราะวิธีการที่ทำมามีจุดอ่อนหลายอย่าง ที่สำคัญไม่พบว่ามี "แผนยุทธศาสตร์" หรือ "แผนปฏิบัติการ" ที่ชัดเจนแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ได้เสนอ "แผนที่เดินทางสู่สันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" หรือ Peace Roadmap For The Deep South Of Thailand ต่อ สมช. แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับตอบรับหรือปฏิบัติตามเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่สถาบันพระปกเกล้าก็เป็นหนึ่งในกลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง ซึ่งเป็นกลุ่มงานหนึ่งใน สมช.ตามที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
ขับเคลื่อน 3 ช่องทาง
จากการพิจารณาเอกสาร "แผนที่เดินทางสู่สันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้" ทำให้ทราบว่ากระบวนการสันติภาพ หรือ peace process ที่ สมช.กำลังเดินหน้า ยังขาดการดำเนินการตามหลักทฤษฎีที่ถูกต้องอยู่หลายขั้นตอน กล่าวคือ
การจัดโครงสร้างกระบวนการพูดคุยสันติภาพในระดับต่างๆ ต้องทำหลายๆ ช่องทางพร้อมกัน โดยแบ่งเป็นช่องทางหลักๆ ได้แก่
1.ระดับผู้มีอำนาจตัดสินใจ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีเลขาธิการ สมช.เป็นผู้ประสานการแปรนโยบายสู่ภาคปฏิบัติ
2.ระดับภาควิชาการและองค์กรเอกชน
3.ระดับชุมชนฐานราก
การขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยสันติภาพต้องเชื่อมร้อยไปพร้อมๆ กันทั้ง 3 ระดับ กล่าวคือ มีกลุ่มงานสนับสนุนการสร้างสภาวะที่เกื้อกูลต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้ง มีผู้แทน สมช. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วม
นอกจากนั้น ต้องมี "คณะพูดคุยหลัก" ของรัฐบาลที่ทำหน้าที่พูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ
เชื่อมโยงประชาสังคม
ทั้งนี้ คณะพูดคุยหลักของรัฐบาลต้องมีการทำงานเชื่อมโยงกับภาคประชาสังคม ซึ่งทำหน้าที่เป็นภาคีเครือข่ายสนับสนุนกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น สถาบันวิชาการด้านสันติศึกษา ผู้นำศาสนา เครือข่ายสตรี เครือข่ายเยาวชน นักศึกษา สื่อมวลชน องค์กรระหว่างประเทศ เป็นต้น (ช่องทางที่ 2 และ 3)
ขณะที่คณะพูดคุยจากกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มีการทำงานเชื่อมโยงกับสภาองค์กรนำ และมีช่องทางสื่อสารกับกลุ่มขบวนการกลุ่มต่างๆ
จุดสำคัญก็คือ ควรมีช่องทางหารือกันอย่างไม่เป็นทางการด้วย!
2 ปีสู่สันติภาพ
นอกจากนั้น สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ยังได้เสนอ "แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ" เอาไว้คร่าวๆ โดยกระบวนการนี้จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี เริ่มจาก
- ลงนามในฉันทามติทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (ดำเนินการไปแล้วระหว่าง พล.ท.ภราดร กับ นายฮัสซัน ตอยิบ ที่อ้างว่าเป็นแกนนำขบวนการบีอาร์เอ็น)
- แต่งตั้งคณะผู้แทนระดับสูงซึ่งต้องครอบคลุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วย
- พิจารณาวาระการพูดคุยที่ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันสำหรับการพบกันครั้งแรกอย่างเป็นทางการ
- พูดคุยครั้งแรกอย่างเป็นทางการ เน้นทำความเข้าใจกระบวนการพูดคุย เช่น ความถี่ในการพูดคุย การพิจารณาบทบาทของสื่อมวลชน แต่งตั้งผู้สื่อสารกับสาธารณะ การรักษาความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมพูดคุย เป็นต้น
นอกจากนั้น ควรมีการตั้งคณะพูดคุยหลัก และพิจารณามาตรการเบื้องต้นในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน
- ดำเนินการตามมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่นระหว่างกัน ทั้งมาตรการหลักและมาตรการเสริม เช่น การเริ่มลดความรุนแรง การส่งเสริมการใช้ภาษามลายู การยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษ การส่งอาวุธคืนบางส่วน และการปล่อยตัวนักโทษ เป็นต้น
- พูดคุย หารือ และติดตามผลการดำเนินการ
ทั้งนี้ ขั้นตอนการสร้างมาตรการเสริมสร้างความเชื่อมั่น ใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน ผลคือระดับความไว้วางใจกันเพิ่มมากขึ้น และความรุนแรงเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อผ่านขั้นตอนดังกล่าวทั้งหมดแล้ว และได้ผลอย่างเป็นที่น่าพอใจ จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการกำหนดประเด็นการพูดคุยเพื่อนำไปสู่ "ข้อตกลงสันติภาพ" ซึ่งแต่ละฝ่ายไปจัดทำมา แล้วนำมาเสนอเพื่อหาฉันทามติร่วมกัน ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
กรอบประเด็นการพูดคุยเพื่อนำไปสู่ "ข้อตกลงสันติภาพ" ควรครอบคลุมเรื่องเหล่านี้ อาทิ ความมั่นคง การบริหารการปกครอง การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ การพัฒนา การปฏิรูปกฎหมาย การยอมรับอัตลักษณ์ ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน การเคารพสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
หลังจากผ่านขั้นตอนกำหนดประเด็นพูดคุยเพื่อนำไปสู่ "ข้อตกลงสันติภาพ" แล้ว จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อร่วมกันพิจารณา "ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว" พร้อมตั้งคณะทำงานพูดคุยในรายละเอียดของแต่ละประเด็นเพื่อนำไปสู่ "ข้อตกลงสันติภาพ"
จากนั้นจึงดำเนินการตาม "ข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว" และพูดคุยในประเด็นต่างๆ ทั้งหมด ขั้นตอนช่วงนี้ใช้เวลาอีก 9 เดือน จึงจะเข้าสู่กระบวนการพูดคุยเพื่อหา "ข้อตกลงสันติภาพ" และบรรลุ "ข้อตกลงสันติภาพ" ในที่สุด
โดยหลังจากนั้นก็ต้องมีกลไกติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามข้อตกลงสันติภาพด้วย
------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : แบนเนอร์จากหน้าเว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า