จัดเต็มตามแบบแผน “เครื่องรดน้ำขอพร 4 ภาค”
เครื่องรดน้ำดำหัว...ภาคกลาง
ประเพณีสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทยมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี สาระสำคัญของวันสงกรานต์สำหรับปัจจุบันดูจะไม่ใช่อยู่ที่การขึ้นปีใหม่ แต่อยู่ที่การเป็นโอกาสได้กลับไปรวมญาติกันครั้งสำคัญในรอบปี และกิจกรรมหนึ่งที่ชาวไทยถือปฏิบัติสืบเนื่องมาเป็นเวลาช้านานในช่วงสงกรานต์ก็คือการ “รดน้ำดำหัว” ผู้ใหญ่และผู้ที่เคารพนับถือ
11 เมษายน ที่ผ่านมาถือปฐมฤกษ์ก่อนวันสงกรานต์ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมจัดพิธี “รดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ” ขึ้นที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บรรยากาศคึกคักชื่นมื่น ศิลปินแห่งชาติชื่อดังมาร่วมพิธีคับคั่ง ให้ลูกศิษย์ลูกหาและผู้ที่ชื่นชมในผลงานได้มารดน้ำขอพร
ขณะเดียวกันด้านหน้าหอประชุมก็มีการจัดนิทรรศการ “เครื่องรดน้ำดำหัว 4 ภาค” เป็นความรู้ให้แก่ผู้มาร่วมงาน ซึ่งแต่ละภูมิภาคก็มีการจัดเครื่องรดน้ำดำหัวแตกต่างกันเหมือนกัน มองผาด ๆ จากนิทรรศการที่จัดไว้จะเห็นเครื่องรดน้ำดำหัวของภาคเหนือมีเครื่องเคราดูมากกว่าภาคอื่น ๆ ส่วนสิ่งที่มีเหมือนกันสำหรับทุกภาคก็คือ พวกหมากพลู ผ้านุ่ง
ทว่า...หัวใจสำคัญของการรดน้ำดำหัวก็คือ “น้ำ” ที่ใช้รดนั่นเอง
แม้ว่าน้ำจะ “หอม” เหมือนกัน แต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียด
"รวีวัฒน์ ต๋าน้อย" วิทยากรพิเศษ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย อธิบายว่า น้ำที่ใช้สำหรับรดดำหัวของแต่ละภาคเป็นน้ำที่ทำมาจากเครื่องหอมต่าง ๆ อย่างภาคกลาง น้ำที่หอมเพราะใช้น้ำอบน้ำปรุง
เครื่องรดน้ำดำหัวภาคเหนือ
ภาคเหนือ ใช้ดอกคำฝอย ฝักส้มป่อย และน้ำมะกรูดผสมลงไป ภาคใต้ เป็นน้ำที่ได้มาจากกลิ่นของดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมหลาย ๆ ชนิดมารวมกันในขันน้ำ ไม่จำกัดว่าจะมีกี่ชนิด เพราะภาคใต้ไม่มีเทคนิคในการทำเครื่องหอม และด้วยภาพอากาศที่ร้อนชื้นของภาคใต้ ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมจะขึ้นได้เยอะ
ส่วนภาคอีสาน เนื่องจากหน้าแล้ง ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมจะไม่มี จึงใช้ความหอมจากพืชตระกูลหัว เช่น ว่านหอม ว่านนางคำ ฝนรวมกัน ได้น้ำออกขุ่น ๆ มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ของว่านหอม
ชุดรดน้ำดำหัวแบบครบเครื่องอย่างที่เห็นนี้ ปัจจุบันคงยากที่จะพบเห็นได้ทั่วไป ยกเว้นแต่ในงานสำคัญ เช่น งานรดน้ำดำหัวเจ้าอาวาสหรือผู้นำชุมชนทางภาคเหนือ ส่วนชาวบ้านร้านตลาดทั่วไปจะจัดแค่ชุดรดน้ำเล็ก ๆ เท่านั้นเอง เพราะคงจะยุ่งยากหากต้องจัดครบเครื่องตามแบบแผน
โดยสาระสำคัญของการรดน้ำดำหัวคือ การขอขมาผู้ใหญ่ หรือการขอขมาพระพุทธเจ้า เพราะคนไทยถือว่าวันสงกรานต์เป็นวันเถลิงศกใหม่หรือการขึ้นปีใหม่ของไทย จึงใช้วาระของการครบปี นำเครื่องรดน้ำดำหัวเหล่านี้ไปขอขมาหรือขออโหสิกรรมจากผู้ใหญ่และขอรับพรเพื่อความเป็นสิริมคลแก่ตัวเอง
หนังสือประเพณีสงกรานต์บอกเล่าไว้ว่า วิธีการการรดน้ำขอพรผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพ ให้รดที่ฝ่ามือทั้งสองของท่านโดยผู้ใหญ่แบมือ เมื่อลูกหลานรดน้ำ ผู้ใหญ่จะให้ศีลให้พรหรืออาจนำน้ำที่รดลูบศีรษะผู้มารดน้ำ หรือบางครั้งอาจอาบน้ำจริงคือรดแบบทั้งตัวซึ่งลูกหลานจะนำผ้าผืนใหม่มอบให้ผู้ใหญ่เปลี่ยน
อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ ผู้เป็นปูชนียบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชาวล้านนาได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการดำหัวสมัยโบราณ ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีล้านนาไว้ว่า
“สำหรับการดำหัวนั้น นิยมเอาน้ำใส่ขัน คือ ใส่สะหลุงเอาน้ำขมิ้น ส้มป่อย ใส่ เวลาดำหัว เขาจะเอาไปประเคนคือเอาไปมอบให้ท่านผู้เฒ่าผู้แก่ ที่เราจะไปดำหัว นั้น เขาจะเอามือจุ่มลงในสะหลุง ที่มีน้ำขมิ้นส้มป่อยอยู่แล้วก็เอามาลูบหัวตัวเอง 3 ครั้ง
จากนั้นก็เอามือจุ่มน้ำส้มป่อย สลัดเข้าใส่ลูกหลานที่มาดำหัวพร้อมกับอวยพรให้อยู่ดีมีสุข ให้อยู่ดีกินดี เราไม่นิยมเอาน้ำรดมืออย่างของภาคอื่น ซึ่งถือว่าการทำอย่างนั้นเป็นการรดศพ มากกว่าการรดน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ ล้านนาเราถือกันมาอย่างนี้”
ทั้งนี้ เพราะ “การดำหัว” ในความหมายทั่วไปของชาวล้านนาไทยนั้นหมายถึงการ "สระผม" ซึ่งมักจะเอาใบหมี่เอามะกรูดมาต้มแล้วก็เอามาสระผม มันจะหอม ไล่ขี้รังแคออกหมด ใบหมี่นี้หอม เป็นสมุน ไพรโบราณ การสระผมของคนโบราณเรียกว่าดำหัวเมื่อดำหัวไล่สิ่งที่โสโครกทั้งหลายออกไปจากผมจากตัว
แต่ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ของทุก ๆ ปี หมายถึง การชำระสะสางสิ่งอันเป็นอัปมงคลในชีวิตให้หมดไป ด้วยการใช้น้ำส้มป่อยเป็นเครื่องชำระ
จึงใช้คำว่า ดำหัว มาต่อท้ายคำว่า รดน้ำ ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน กลายเป็นคำซ้อน คำว่า "รดน้ำดำหัว"
เป็นประเพณีที่ประชาชนชาวไทยถือปฏิบัติสืบทอดกันมา จนถึงทุกวันนี้.
เครื่องรดน้ำดำหัวภาคใต้
เครื่องรดน้ำดำหัวภาคอีสาน