‘ผ้าขาวม้า’ อัตลักษณ์ท้องถิ่นไทย สู่ ‘สงกรานต์’ เทศกาลระดับโลก
นานแล้วที่ ‘ผ้าขาวม้า’ ขาดการกล่าวถึง และเลือนลางไปจากความนึกคิดของคนรุ่นใหม่ สงกรานต์นี้เรามารณรงค์ใช้ผ้าขาวม้าไทย เพื่อรำลึกอัตลักษณ์ และสร้างงานอาชีพให้ท้องถิ่นกัน
‘ผ้าขาวม้า’ ที่ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นอาภรณ์สารพัดประโยชน์ตั้งแต่ใช้นุ่งห่ม เช็ดตัว บังแดด ปูโต๊ะ หรือเป็นอุปกรณ์การละเล่นกำลังถูกกล่าวถึงในช่วงนี้ เนื่องด้วยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรม ‘สงกรานต์เมษาผ้าขาวม้ารวมใจ ม่วนสงกรานต์ล้านนา’ ขึ้น ณ สยามสแควร์ และบริเวณอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 13-15 เม.ย. 56 นับเป็นปีที่ 2 ที่นำ ‘ผ้าขาวม้า’ เป็นตัวเชื่อมความสนุกสนานของนักท่องเที่ยวกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของประเพณีพื้นบ้านไทยผ่านลายผ้าหลากสีสัน
‘ผ้าขาวม้า’ ได้ถูกอธิบายไว้ในงานวิจัย เรื่อง ‘ผ้าขาวม้า’ ของอาภรณ์พันธ์ จันทร์สว่าง ที่จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้คนรุ่นหลังได้ตระหนักถึงวิถีชีวิตผ่านวัฒนธรรมแห่งลายผ้าว่า เพี้ยนมาจากคำว่า ‘กามา’ ของภาษาอิหร่านที่ใช้สื่อสารกันในประเทศสเปน ซึ่งในอดีตได้นำภาษาอาหรับไปใช้กันอย่างแพร่หลาย
อย่างไรก็ตาม ‘ผ้าขาวม้า’ ยังมีที่มาจากชื่อต่าง ๆ นานา เช่น เดิมเป็นผ้าขาว ใช้ปูหลังม้ารองก้นคนขี่, เป็นผ้าขาว ซึ่งพระสิทธัตถะประทานแก่นายม้าชื่อว่า ฉันท์ เมื่อครั้นเสด็จออกพิเนสกรรม หรือกรณีที่เจ้านายออกตรวจเยี่ยมความทุกข์สุขของราษฎร เมื่อไปถึงเรือนใครเจ้าบ้านก็จะรับรองต้อนรับด้วยอาหารการกินที่ดี เสร็จแล้วก็จะเรียกให้เด็กในบ้านนำผ้าขาวออกมาให้แขกใช้
นอกจากนี้ ‘เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์’ ได้มีลายพระหัตถ์ว่าด้วยเรื่องผ้าต่าง ๆ ถึงพระยาอนุมานราชธน เมื่อ 29 ธ.ค. 2479 กล่าวถึง ‘ผ้าขาวม้า’ ตอนหนึ่งว่า “ ผ้าขาวม้า ฉันเคยสืบหาที่มาคราวหนึ่งแล้ว ฟังเสียงที่เรียกกันเป็นผ้าขาวม้าก็มี ผ้าขะม้าก็มี ฟังเอาแน่ไม่ได้ มีคนที่เขาไปเมืองญี่ปุ่น กลับมาเล่าคำเล่าที่ฟังเข้าทีมีอยู่คำหนึ่ง เขาว่าญี่ปุ่นแต่งตัวอย่างเก่านั้น นุ่งผ้าเตี่ยว เรียกว่า หักขะม้า แล้วจึงใส่เสื้อยาว (กิโมโน) นอก ทำให้สงสัยว่าผ้าขาวม้าจะมาแต่ภาษาญี่ปุ่นเสียดอกกระมัง”
แล้วคนไทยรู้จัก ‘ผ้าขาวม้า’ ตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
หลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยเริ่มใช้ ‘ผ้าขาวม้า’ ตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งตรงกับยุคเชียงแสน ปรากฏให้เห็นจากภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดภูมินทร์ จ.น่าน ที่ผู้หญิงมักนุ่งผ้าถุง ผู้ชายใช้ผ้าเคียนเอว (ผ้าขาวม้า) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของชนไทยใหญ่ ประกอบกับภาพเขียนในสมุดภาพไตรภูมิอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22 ก็ปรากฏภาพชาวอโยธยานิยมใช้ผ้าขาวม้าคาดสะเอว พาดบ่า หรือนุ่งโจงกระเบน ล่วงเลยมาจนถึงแผ่นดินรัตนโกสินทร์ก็ยังคงเห็นชาวบ้านในชนบทใช้ผ้าขาวม้าในชีวิตประจำวันจนถึงปัจจุบัน
‘ผ้าขาวม้า’ เอกลักษณ์ชาติไทย อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต
‘ผ้าขาวม้า’ เชื่อว่าสามารถเป็นตัวแทนแห่งเอกลักษณ์ของไทยได้ เพราะคนไทยใช้ ‘ผ้าขาวม้า’ สืบทอดมาครั้นบรรพบุรุษ ตั้งแต่เป็นผ้าคลุมไหล่ คาดพุง นุ่ง เช็ด ปู และยังคงใช้ประโยชน์ไปอีกนาน แม้แต่ในอนาคตข้างหน้า ดังนั้น ‘เอกลักษณ์’ ไทยจึงปรากกฎในด้านนี้ ขณะที่ชาวต่างชาติทราบดีว่า ‘ผ้าขาวม้า’ ที่มักใช้คาดเอวนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่คนไทยใช้มาก โดยการฉายภาพผ่านเครื่องแต่งกายท้องถิ่นที่มีผ้าดังกล่าวเป็นส่วนประกอบ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยได้
โดยเฉพาะการนำมาเป็นส่วนหนึ่งในชุดไทยพระราชทานชุดคาดเอว ซึ่งในสายตาคนไทยเห็นควรเหมาะสมที่แสดงถึงวัฒนธรรม วิถีชีวิต อัตลักษณ์ไทยได้เด่นชัดที่สุด
สืบเนื่องถึงพ.ศ.นี้ แม้ ‘ผ้าขาวม้า’ จะถูกดีไซน์ให้แปลกใหม่ไปจากผ้าขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าลายหมากรุกสู่ผลิตภัณฑ์นานาชนิด เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้หันมาตระหนักและอนุรักษ์เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแล้ว การนำแนวคิด ‘ผ้าขาวม้า’ มาเป็นแกนหลักในการจัดงาน ‘ตรุษสงกรานต์’ ในไทยนั้น ถือเป็นการตอกย้ำคุณค่าสู่สายตาชาวโลกอีกทอดหนึ่ง
นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มองว่า ‘ผ้าขาวม้า’ กับ ‘น้ำ’ เป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยมานาน โดยเฉพาะการใช้ ‘ผ้าขาวม้า’ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย แม้ปัจจุบันจะถูกดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้เข้ายุคสมัย แต่ยังคงเห็นประโยชน์จากผ้าไทยชนิดนี้อยู่ สำคัญที่สุด การจัดสงกรานต์ที่สยามแควร์ ภายใต้แนวคิด ‘ผ้าขาวม้า’ นั้น นอกจากความสนุกสนานแล้ว วัยรุ่นและนักท่องเที่ยวยังจะได้เห็นถึงอัตลักษณ์ผ่านการแสดงพื้นบ้านต่าง ๆ ที่จัดขึ้นภายในงานครั้งนี้ด้วย
สอดคล้องกับ วนิดา พึ่งสุนทร ศิลปินแห่งชาติ สาขาสถาปัตยกรรมไทย ปี 2546 กล่าวว่า ‘ผ้าขาวม้า’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่สารพัดประโยชน์อยู่แล้ว ยิ่งถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ไทย นอกจากจะช่วยเช็ดน้ำ บังแดดได้ ยังทำให้วัยรุ่นไทยที่อาจหลงลืมความสวยงามของ ‘ผ้าขาวม้า’ เกิดความตระหนักและหันมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น แต่ในอนาคตจะต้องออกแบบลวดลายผ้าให้แปลกใหม่ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอาชีพทั้งระดับชุมชนจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ‘ผ้าขาวม้า’ จะไม่ตายไปจากสังคมไทยแน่นอน ตราบเท่าที่ยังมีประโยชน์อยู่
รู้ที่มาที่ไปเช่นนี้แล้ว หวังว่าสักวัน ‘ผ้าขาวม้า’ หลากสีหลายลวดลายคงจะได้อวดโฉมในเทศกาล ‘ตรุษสงกรานต์’ ไม่เฉพาะใจกลางสยามแควร์เท่านั้น แต่ต้องเย็นฉ่ำทั่วทุกภาคของไทยในปีต่อ ๆไป.
.........................................................
ตารางกิจกรรม เทศกาล ‘สงกรานต์เมษาผ้าขาวม้ารวมใจ ม่วนสงกรานต์ล้านนา’ วันที่ 13-15 เม.ย. 56 เวลา12.00-18.00 น. ณ ใจกลางสยามสแควร์