ตามดูช่องทางด่วน“ 70ปี ไม่มีคิว” รวดเร็วถึงใจคนสูงวัย จริงหรือ ?
มีข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า ในปี พ.ศ. 2555 ประชากรโลกมีจำนวนกว่า 7,000 ล้านคน และในจำนวนดังกล่าว มีผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ ประมาณ 600 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 8.6
ขณะที่ประเทศไทยมีจำนวนประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 13 ถือเป็นประเทศในกลุ่มสมาชิกประชาคมอาเซียนที่มีประชากรสูงอายุในอัตราร้อยละที่สูงที่สุด รองจากประเทศสิงคโปร์ อีกทั้งมีการคาดการณ์ว่า ในระยะเวลา 15 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คือ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 20
จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อปีที่แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เล็งเห็นความสำคัญได้จัดหน่วยงานบริการประชาชนด้านสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุ ใช้ชื่อโครงการว่า “70 ปี ไม่มีคิว” เป็นบริการทางด่วนพิเศษสำหรับผู้สูงอายุในการเข้ารับบริการที่ไม่ต้องคอยนาน
เกือบปีผ่านไป...
ระบบบริการช่องทางด่วนผู้สูงอายุนี้เวิร์กหรือไม่ และบริการรวดเร็วดั่งใจคนสูงวัยมากน้อยแค่ไหน "สำนักข่่าวอิศรา" เดินสำรวจที่แรก “โรงพยาบาลราชวิถี” สถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเปิดช่องทางเฉพาะสำหรับผู้ป่วยสูงอายุให้ได้รับการบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น
เท่าที่สังเกตุ พบว่า โรงพยาบาลราชวิถีได้จัดประเภทผู้ป่วยเป็นกิจจะลักษณะอย่างชัดเจน ผู้ป่วยสูงวัยจะถูกจัดลำดับไว้เฉพาะในส่วนที่กำหนดไว้ คือ ลำดับที่ 601-699 โดยจะได้รับการตรวจรักษาก่อนผู้ป่วยประเภทอื่นๆ
เรามีโอกาสเข้าไปพูดคุยกับนายอิน คนกรุงเทพฯ อายุ 78 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคตับแข็งและเป็นโรคผิวหนังมากว่า 2 ปี เขาบอกถึงความประทับใจ เมื่อได้ใช้บริการช่องทางด่วนดังกล่าวว่า รู้สึกพอใจและประทับใจเป็นอย่างมากกับช่องทางพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ เพราะนโยบายดังกล่าวเป็นการให้บริการที่เอื้ออำนวยความสะดวกอย่างมาก ทำให้ไม่ต้องรอรับการบริการที่ต้องล่าช้าเหมือนอย่างโรงพยาบาลบางแห่ง ที่ต้องเสียเวลาไปเกือบทั้งวันกับการต่อคิวที่ยาวเหยียด
“บริการนี้เป็นการให้บริการกับผู้สูงอายุที่ดีมาก รวดเร็ว ไม่เสียเวลา ดูได้จากที่หมอนัดมาตรวจร่างกายตอนแปดโมงเช้า ทุกอย่างก็เสร็จสิ้นในช่วงเวลาเก้าโมงเช้า เป็นการบริการที่รวดเร็วกว่าเมื่อก่อนมาก”
ทว่า...การที่ทางโรงพยาบาลปรับเปลี่ยนการให้บริการ โดยแยกส่วนผู้ป่วยแต่ละประเภทออกอย่างชัดเจน พร้อมทั้งให้บริการกับผู้ป่วยสูงอายุก่อนนั้น
นางสาวธัญญลักษณ์ อายุ 50 ปี ลูกสาวของนายอิน แสดงความเห็นเสริมอีกว่า บริการดังกล่าวได้ช่วยผู้สูงอายุไม่ให้ต้องรอคิวนานเกินไป เนื่องจากผู้สูงอายุมักหงุดหงิดง่ายกับการนั่งรอบริการด้านสาธารณสุขที่ล่าช้า
โดยเธออธิบายขั้นตอนการใช้บริการช่องทางด่วนผู้สูงอายุให้ฟังว่า เริ่มต้นจากเขียนคำร้องเพื่อยืนยันสถานะผู้ป่วย อยู่ในประเภทผู้สูงอายุ จากนั้นโรงพยาบาลจะออกใบสำหรับใช้บริการให้กับผู้สูงอายุ หากเป็นผู้ป่วยใหม่ ก็จะต้องมีการซักประวัติก่อน หากประวัติผู้ป่วยผ่านตามเกณฑ์ของผู้ใช้สิทธิ ก็จะสามารถได้รับสิทธิสำหรับผู้สูงอายุเช่นเดียวกับผู้ใช้สิทธิรายอื่นๆ
ขณะที่สถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร อย่าง "วชิรพยาบาล" ที่แม้ไม่มีบริการช่องทางด่วนสำหรับผู้สูงอายุ ครบทุกจุดบริการ แต่จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายเวชระเบียน ก็พบว่า วชิรพยาบาลเองมีช่องบริการผู้สูงอายุ และคนพิการอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว สำหรับงานเวชระเบียน คนสองกลุ่มนี้ สามารถใช้บริการช่องติดต่อรับบัตรคิวที่รวดเร็ว โดยไม่ต้องรอคิวนาน
มุมมองผู้สูงอายุ อย่างนางพรวิมนต์ มนีเมฆ อายุ 83 ปี ซึ่งกำลังนั่งรอลูกสาวที่เดินไปต่อคิวรับยาความดันและเบาหวาน หรืออย่างนายจำเนียง หอมบุปผา อายุ 73 ปี ผู้ป่วยโรคไต เมื่อเราเดินเข้าไปถามเคยได้ยินบริการช่องทางด่วนพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ "70ปีไม่มีคิว” หรือไม่
ผู้สูงวัยทั้ง 2 ท่าน ตอบเป็นเสียงเดียวกัน "ไม่เคยรู้มาก่อน" แถมไม่เคยใช้ "บริการ 70 ปี ไม่มีคิว" ช่องดังกล่าวนี้เลย ก่อนจะบ่นทิ้งท้ายถึงการรับบริการที่ล่าช้าในช่วงเวลาที่คนสูงวัยต้องเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาล พวกเขาต้องเข้าคิวไม่ต่างจากคนกลุ่มอื่นๆ
นี่คือ บางเสียงสะท้อนของผู้สูงอายุ ที่กำลังวังชา นับวันแต่จะร่วงโรย อ่อนล้า เขาหวังเพียงแค่ได้ใช้บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีช่องทางด่วนขยายออกไปยังทุกจุดบริการ ไม่ว่าจะเป็นห้องบัตร ห้องตรวจ และห้องยา โดยไม่เลือกว่า สถานพยาบาลนั้นๆ สังกัดหน่วยงานไหน มีมาตรฐานการบริการที่เท่าเทียมกัน...