หลากข้อเสนอทบทวนเจรจา กับ 4 คำถามของ "บีอาร์เอ็น" ที่รัฐไทยไม่เคยตอบ
กิจกรรมราชดำเนินเสวนาของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ "ถอดบทเรียนการพูดคุยสันติภาพ รัฐไทยกับบีอาร์เอ็น (BRN)" เมื่อวันพุธที่ 10 เม.ย.2556 วิทยากรหลายคนซึ่งมีประสบการณ์เรื่อง "พูดคุยสันติภาพ" ยืนยันตรงกันว่า กระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่เป็นหลักการที่ถูกต้อง แต่เสนอให้ทบทวนวิธีการ เพราะเชื่อว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ห้วงนี้เป็นผลจากการเปิดโต๊ะพูดคุยแบบเอิกเกริก
พร้อมกันนี้ได้มีการชี้แนะให้ดึงชาติอื่นในอาเซียนเข้ามามีบทบาทอำนวยความสะดวกในการพูดคุย เพื่อลดปัญหาการพึ่งพิงมาเลเซียมากเกินไป เพราะการเมืองมาเลเซียยังมีความไม่แน่นอนสูง
ถวิล : หลักการถูก แต่วิธีการผิด
นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับกระบวนการพูดคุย แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่ทำอยู่ สรุปคือหลักการถูก แต่วิธีการไม่ถูก และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ก็มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอย่างแน่นอน
"สมมติว่าคนที่เราไปพูดคุยด้วยเป็นแกนนำบีอาร์เอ็นตัวจริง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก็มีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ 1.คนที่เราไปคุยด้วยไม่มีอำนาจสั่งการที่แท้จริง กับ 2.มีกลุ่มอื่นหรือกลุ่มใหม่ที่แสดงตัวออกมา ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เกินความคาดหมายของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และไม่แปลกใจกับวิธีการของรัฐบาลที่มีการตลาดเข้ามาสร้างสีสัน เหมือนเกิดฟ้าร้อง ฟ้าแลบ แต่มีฝนตกลงมาเพียงหยดสองหยด ไม่ได้มีผลอย่างมีนัยสำคัญกับวิธีการที่ได้ทำไป"
"นอกจากนั้นสิ่งที่กำลังทำยังก่อให้เกิดความยุ่งยากตามมา โดยเฉพาะการไปสร้างความคาดหวังให้กับพี่น้องประชาชน พอมีความคาดหวัง คนก็จะรุมซักถาม เมื่อนำทุกอย่างมากองบนโต๊ะ ย่อมมีสิ่งแปลกปลอมแทรกเข้ามาและควบคุมไม่ได้ เกมนี้จึงนำไปสู่ความเสี่ยง และนำไปสู่อีกปัญหาหนึ่ง"
"5 ต้อง" กับ "3 ไม่"
นายถวิล กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ของคนทำงาน สามารถสรุปสิ่งที่ไม่ควรทำในการพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพได้ดังนี้
1.ต้องไม่มีการยกระดับหรือทำให้เป็นประเด็นสากล เรื่องนี้แม้รัฐบาลจะยืนยันว่าไม่ยกระดับ แต่ประเทศอื่นหรือมิตรประเทศมองเหมือนที่ไทยมองหรือไม่
"เปรียบเทียบง่ายๆ ถ้าผมไม่เดินออกจากบ้าน คนก็ไม่หมั่นไส้ เพราะเขาไม่เห็นผม ที่สำคัญการพูดคุยสันติภาพน่าจะนำไปสู่สัญญาณดีๆ หรือหากไม่ดีขึ้นก็ไม่ควรแย่ลงกว่าเดิม"
2.อย่าให้ความสำคัญหรือให้ราคากับกลุ่มขบวนการมากนัก ไม่ว่าจะเป็นบีอาร์เอ็นหรือพูโล เพราะไม่ได้เป็นตัวแทนของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 9 ข้อ รัฐต้องทำให้หมดทุกข้อ ไม่ใช่ทำแค่เรื่องเจรจา
3.อย่าให้มีมือที่มองไม่เห็นชี้นำ กดดันกระบวนการพูดคุย
ส่วนสิ่งที่ต้องทำเพราะเป็นหลักประกันของความสำเร็จ ได้แก่
1.การพูดคุยเจรจาต้องมีช่องทางเดียว
2.มีพลังสนับสนุนทางการเมืองที่ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ทำได้ดี
3.วิธีการทำจากเล็กไปหาใหญ่ และทำเฉพาะกับกลุ่มที่สมัครใจ อาจจะช้าแต่มีความเสี่ยงน้อย
4.ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพ
5.รัฐบาลไทยควรเป็นหลักในกระบวนการพูดคุยเจรจา คือควรทำกระบวนการเอง แต่ไม่ปิดกั้นความช่วยเหลือจากมิตรประเทศในอาเซียน และไม่ควรจำกัดเฉพาะมาเลเซีย
ปณิธาน : ความรุนแรงบั่นทอนความเชื่อมั่น
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมาทำให้เกิดภาพ 2 ภาพซ้อนกัน คือ ประชาชนไม่มั่นใจในความปลอดภัย ซึ่งก็เป็นมาตลอดอยู่แล้ว แต่ภาพอีกภาพที่ซ้อนเข้ามาคือ เจ้าหน้าที่ก็คุ้มครองประชาชนไม่ได้ เพราะคุ้มครองตัวเองก็ยังยากขึ้น ทำให้ความหวังของประชาชนต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพลดน้อยลง
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า การพูดคุยเจรจามีหลักการหรือทฤษฎี 3 อย่างที่เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จ คือ
1.ต้องมีเจตจำนงทางการเมืองที่ชัดเจน การริเริ่มต้องมาจากฝ่ายการเมือง จากระดับนโยบาย แล้วมีภาคประชาสังคม ผู้นำศาสนา ผู้นำทางจิตวิญญาณสนับสนุน สำหรับปัจจัยนี้ ปัจจุบันถือว่ามีแล้ว เพราะรัฐบาลแสดงเจตจำนงชัดเจนในการพูดคุยสันติภาพโดยการทำอย่างเปิดเผย
2.ต้องมีการสนับสนุนของฝ่ายปฏิบัติการ หากกล่าวเฉพาะปัญหาภาคใต้ของไทย กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ต้องจัดระบบการทำงานใหม่ มีแผนรักษาความปลอดภัยใหม่หมด เพราะการที่รัฐบาลมีนโยบายพูดคุยเจรจา ย่อมหมายถึงการก้าวเข้าสู่พื้นที่ใหม่แล้ว คาดหมายได้ล่วงหน้าว่าสถานการณ์ในพื้นที่จะต้องร้อนแรงขึ้นจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย และเจ้าหน้าที่รัฐจะตกเป็นเป้าทันที
3.มีการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ)
"ความพร้อมของฝ่ายการเมือง ความเป็นเอกภาพของฝ่ายปฏิบัติต้องไปด้วยกัน ไม่ใช่มาให้สัมภาษณ์รายวัน หรือมานั่งถามกันว่าจะลงพื้นที่วันไหน เมื่อไหร่ อย่างนี้คงไม่ได้ หนำซ้ำยังมีกลไกจากนอกระบบเข้ามา และขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังของฝ่ายปฏิบัติ ทำให้เกิดความสับสน นี่คือสภาพที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน"
ต้องเดินหน้า ถอยไม่ได้
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า คำถามที่เกิดขึ้นในช่วงนี้คือ เมื่อเกิดปัญหาแล้วจะก้าวต่อไปอย่างไร คำตอบคือต้องพยายามรักษาแนวทางการพูดคุยเอาไว้ ถอยไม่ได้ มิฉะนั้นจะถูกมองว่าไม่มีความตั้งใจจริง
"สัญญาณนับจากนี้ต้องชัด คือเรายังยึดมั่นให้เกิด 3 ข้อ คือ 1.ผู้ก่อความไม่สงบต้องวางอาวุธ 2.ยุติอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน และ 3.ให้คนท้องถิ่นช่วยบริหารจัดการพื้นที่กันเอง ทั้ง 3 ข้อนี้ต้องเดินหน้าต่อ ไม่ว่าเราจะตัดสินใจพูดคุยเจรจาต่อไป หรือลดระดับการพูดคุยลง หรือเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลในกระบวนการพูดคุย หรือแม้แต่กำหนดวันนัดพูดคุยใหม่"
ดึงชาติอื่นในอาเซียนร่วมวง
นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาฯ ยังมองว่า ที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยสันติภาพของรัฐบาลไปยึดโยงกับการเมืองมาเลเซียมากเกินไป ขณะนี้มาเลเซียกำลังเข้าสู่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง จึงมีความไม่แน่นอนสูง ฉะนั้นน่าจะดึงบรูไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ หรือประเทศอื่นๆ ในอาเซียนเข้ามาร่วมในกระบวนการ
"การดึงมาเลเซียเข้ามามีบทบาท เข้าใจได้ว่าเพราะมาเลเซียเป็นปัจจัยที่สามารถทำให้กระบวนการดูเหมือนประสบความสำเร็จในเบื้องต้น ซึ่งเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว มาถึงตอนนี้มาเลเซียยังเหมาะอยู่หรือไม่เป็นเรื่องน่าคิด เพราะการเมืองมาเลเซียยังมีความแปรปรวนสูง และในระยะยาวอาจรักษาความเป็นกลางในกระบวนการพูดคุยไม่ได้ หากไปถึงจุดนั้นแล้วเราจะบอกเขาอย่างไร เพราะเขาช่วยให้กระบวนการพูดคุยเจรจาเกิดขึ้นแล้ว"
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปณิธาน เห็นว่า การริเริ่มกระบวนการสันติภาพของรัฐบาลชุดปัจจุบันถือเป็นการรุกทางการเมืองที่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่หลังจากนี้ต้องปรับระบบการพูดคุยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
"การก้าวมาถึงจุดนี้ถือว่าเราได้รุกทางการเมืองแล้ว เปลี่ยนจากรับมาเป็นรุก ข้อดีของกระบวนการที่ผ่านมาคือเป็นการสร้างพลวัตใหม่ ทำให้เรามองเห็นโอกาสใหม่ ฉะนั้นต้องเดินหน้าพูดคุยเจรจาต่อ แต่ต้องจัดการใหม่ให้ดีขึ้น ใช้เวลาช่วงนี้ปรับระบบ และนำปัญหาที่ผ่านมาเป็นบทเรียน ต้องทำให้เห็นว่าเวลาอยู่ข้างรัฐไทยแล้ว ขณะนี้เป็นเวลาของรัฐไทยที่จะพูดคุยเจรจา ที่จะสร้างสันติภาพ กลุ่มก่อความไม่สงบต้องวางอาวุธแล้วมาคุยกัน มิฉะนั้นคุณจะอยู่ไม่ได้ถ้าไม่เจรจา"
เอกชัย : กลวง! ไม่มีอะไรในมือก่อนพูดคุย
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ทั้งตัวเขาเองและสถาบันฯทำกระบวนการพูดคุยสันติภาพมาหลายปี โดยทำทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ ทั่วโลก จากประสบการณ์และบทเรียนที่ได้ศึกษามา การพูดคุยสันติภาพต้องมีกระบวนการที่ถูกต้อง มีโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน มีข้อมูลทางวิชาการและภาคประชาสังคมสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่กระบวนการที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่กลับไม่มีอะไรเลย
พล.อ.เอกชัย อธิบายว่า กระบวนการสันติภาพ หรือ peace process ของทั้งโลก ต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ
1.โครงสร้างคณะทำงานต้องครบถ้วน ทั้งสำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม และอื่นๆ ไม่ใช่ทำกันแค่ 4 คน
2.โครงสร้างของการทำงานต้องมีทุกระดับอย่างกว้างขวาง ซึ่งได้เคยเสนอ “ทฤษฎีขนมชั้น” ต้องฟังความเห็นของคนในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน ไม่มีที่ไหนในโลกที่คุยกัน 4-5 คนแล้วจบ นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 9 ข้อ ตอนนี้ทำแต่ข้อ 8 คือพูดคุยกับกลุ่มที่เห็นต่างจากรัฐ ทางที่ถูกคือต้องทำข้ออื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย
3.ต้องมีกระบวนการทำงานที่ดี มีแผนชัดเจน เริ่มจากการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจก่อน อย่าเพิ่งไปตกลงอะไร ไม่ใช่แค่เวทีแรกก็พูดแล้วว่าให้ลดความรุนแรงลง ทั้งๆ ที่ยังไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจ ยังไม่มีข้อมูลพื้นฐานของกันและกันเลย
"ฝ่ายขบวนการ 4 คนที่มาพูดคุยและลงนามในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการสันติภาพนั้น มีอยู่ 2 คนที่ผมคุยด้วยมา 3 ปีแล้ว การมาร่วมลงนามของเขาเพราะถูกบังคับ ไม่ได้สมัครใจมา เริ่มต้นแค่นี้ก็ผิดแล้ว จะเห็นได้ว่าพอการพูดคุยครั้งที่ 2 (นัดพูดคุยอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อ 28 มี.ค.) สองคนนี้ไม่มาแล้ว สาเหตุที่มาเลเซียบังคับคนเหล่านี้ได้ เพราะถ้าไม่ยอมทำตามที่มาเลเซียต้องการก็อยู่ในประเทศมาเลเซียไม่ได้"
"กระบวนการพูดคุยที่ผมทำมาหลายปี ทำให้ทราบว่ากลุ่มขบวนการนั้นเดิมมี 9-12 กลุ่ม แต่ระยะหลังเขารวมกันเป็นสภา พอเราพูดอะไรไป เขากลับไปสู่สภา จากนั้นก็นำมติสภากลับมาคุยกับเราใหม่ ถามว่าข้อมูลเหล่านี้รัฐบาลทราบหรือเปล่าก่อนจะไปเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับเขา เท่าที่ผมได้ข้อมูลมาคือฝ่ายเรารู้ล่วงหน้าไม่ถึง 12 ชั่วโมงว่าจะได้พูดคุยกับใคร สรุปก็คือเรากลวงจริงๆ ไม่มีอะไรในมือเลย"
4 คำถามของบีอาร์เอ็น
พล.อ.เอกชัย ยังเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้คุยกันมากๆ เพราะต้องไม่ลืมว่าผู้ก่อการตัวจริงก็อยู่ในพื้นที่ ฉะนั้นต้องสร้างความเข้าใจ เช่นเดียวกับคนในสังคมใหญ่ 60 กว่าล้านคนนอกสามจังหวัดก็ต้องเข้าใจกระบวนการ และยึดมั่นในแนวทางสันติภาพด้วย
สำหรับข้อเรียกร้องเท่าที่เคยได้รับฟังมาจากการเปิดเวทีพูดคุยนั้น พล.อ.เอกชัย บอกว่า เรื่องความไม่เป็นธรรมมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่สังคมใหญ่ยังไม่เข้าใจ ยังไปคิดในมิติแค่ความยุติธรรมในรูปแบบของกฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วยังไม่เป็นธรรมในความรู้สึกของคนในพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้นความยุติธรรมทางกฎหมายที่ล่าช้า สุดท้ายก็คือความไม่เป็นธรรม
ส่วนคำถามจากกลุ่มบีอาร์เอ็นจากที่เคยทำกระบวนการพูดคุยสันติภาพมา มีอยู่ 4 ข้อ คือ
1.รัฐจะให้เสรีภาพกับคนในพื้นที่อย่างไร
2.รัฐจะให้ความยุติธรรมกับผู้หลงผิดหรือผู้กระทำผิดอย่างไร
3.รัฐจะนิรโทษกรรมผู้กระทำผิดที่ถูกลงโทษอยู่อย่างไร
4.รัฐจะให้สิทธิแก่คนมลายูและชาวมาตุภูมิอย่างไร
ขณะที่ประเด็นย่อยๆ ที่แตกออกจาก 4 ประเด็นนี้ก็เช่น การปกครองตนเองที่ไม่แบ่งแยกดินแดน รัฐคิดอย่างไร การใช้กฎหมายท้องถิ่นที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์และวิถีชีวิต รัฐคิดอย่างไร ซึ่งรัฐไทยไม่เคยมีคำตอบของคำถามเหล่านี้
มาร์ค : ลดความรุนแรงไม่ใช่ประเด็นหลัก
ดร.มาร์ค ตามไท ผู้อำนวยการสร้างสันติภาพต้นปันรัก จ.เชียงใหม่ ในฐานะที่เคยร่วมในกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ดำเนินการในรัฐบาลชุดก่อนๆ กล่าวว่า การพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเริ่มดำเนินการครั้งแรกในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากนั้นก็ทำมาเรื่อยทุกรัฐบาล ซึ่งเขาเองได้ร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย ตั้งแต่ในระดับไปพบปะพูดคุยกันเฉยๆ และในระดับที่เป็นคณะกรรมการซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล โดยฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐที่ไปร่วมพูดคุย ก็มีแกนนำนำกลุ่มจีเอ็มไอพี และกลุ่มบีอาร์เอ็นบางปีก
"สิ่งสำคัญของกระบวนการคือความต่อเนื่องและความไว้เนื้อเชื่อใจ การพูดคุยสันติภาพไม่ใช่ศาสตร์ ไม่มีทฤษฎีกำกับ จริงๆ มันเป็นแขนงความรู้หรือปัญญาในเชิงปฏิบัติ คือต้องลงมือทำแล้วไตร่ตรองดู"
ดร.มาร์ค กล่าวต่อว่า จากประสบการณ์ที่เคยทำงานมา เห็นว่าหากมองข้ามปัจจัย 3-4 ข้อนี้ จะทำให้กระบวนการเกิดยาก ได้แก่
1.ความสนใจของขบวนการปัตตานีไม่ได้คุยกันแค่เพียงลดความรุนแรง แม้แต่ประเด็นความไม่เป็นธรรมก็ไม่ใช่ประเด็นหลัก เพราะจริงๆ แล้วหัวข้อที่สำคัญของขบวนการปัตตานีคือปรับโครงสร้างเรื่องการเมืองการปกครองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
แต่ที่ผ่านมารัฐไทยสนใจเฉพาะประเด็นลดความรุนแรงเท่านั้น ทั้งๆ ที่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นความรุนแรงเพื่อเรียกร้องบางอย่าง เช่น รูปแบบการปกครอง ฉะนั้นประเด็นเหล่านี้ต้องสัมพันธ์กัน เช่น หากจะลดความรุนแรง ก็ต้องลดเพื่อคุยกันเรื่องปฏิรูปการปกครอง ถ้าบอกให้หยุดความรุนแรงเฉยๆ การพูดคุยจะไม่ก้าวหน้า
2.ต้องไม่นำการพูดคุยมาเป็นรางวัลในการลดความรุนแรง เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน ฉะนั้นยิ่งสถานการณ์รุนแรงยิ่งต้องพูดคุย เพราะประเด็นที่เป็นความต้องการจริงๆ เป็นเรื่องอื่น
3.การพูดคุยในแนวทางที่ถูกต้องจะส่งผลท้าทายมายังรัฐไทยทันที เพราะเรื่องรูปแบบการปกครองไม่สามารถตกลงกันได้ในระยะเวลาสั้นๆ และคนที่ตัดสินใจก็ไม่ใช่คนบนโต๊ะพูดคุย
4.การพูดคุยจะมองข้ามภาคประชาชนในพื้นที่ไม่ได้เลย ที่ผ่านมาเคยทดลองใช้ภาคประชาชนเป็นบทบาทนำมาแล้ว เพราะปัญหาชายแดนใต้นั้น ภาคประชาชนมีส่วนอย่างมาก คือมีทั้งภาคประชาชนที่เลือกใช้ความรุนแรงกับที่ไม่เลือกใช้ความรุนแรง
"กระบวนการพูดคุยสามารถทำให้เดินข้ามข้าราชการและการเมืองได้ไหม เมื่อเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลที่เป็นข้าราชการหรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนการพูดคุย ผมคิดว่านี่คือสิ่งสำคัญ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางจบ"
ปรับกระบวนการไม่ได้...ต้องเริ่มใหม่!
ดร.มาร์ค ยังกล่าวถึงปัญหาของกระบวนการพูดคุยที่ดำเนินการโดยรัฐบาลชุดปัจจุบันและแนวทางแก้ไขว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในห้วงที่ผ่านมาเกี่ยวเนื่องกับกระบวนการพูดคุยแน่นอน แต่ไม่ใช่ไม่พอใจการพูดคุย ทว่าไม่พอใจกระบวนการที่เริ่มการพูดคุยว่าเริ่มมาได้อย่างไร ทั้งนี้ ถ้าเริ่มผิด การจะปรับก็อาจทำไม่ได้ ฉะนั้นอาจจะต้องเริ่มใหม่ทั้งหมด
อีกประเด็นที่ต้องตระหนักก็คือ บางกลุ่มในขบวนการปัตตานีต้องการหาวิธีอื่นในการแก้ปัญหาที่ไม่ใช่การแบ่งแยกหรือแยกดินแดน แต่สถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้มีคนตายไปแล้วหลายรุ่น รุ่นปัจจุบันอาจจะเป็นรุ่นที่ 3 ถ้าบางกลุ่มในขบวนการยอมลดระดับสิ่งที่เรียกร้องลง จะเท่ากับลดระดับการต่อสู้หรือเปล่า และเท่ากับไม่รักษาหรือเคารพการเสียสละของคนที่สู้มาก่อนหรือเปล่า
"รัฐไทยต้องเข้าใจจิตวิทยาตรงนี้ และฝ่ายไทยเองก็เสียบุคลากรไปเยอะ คนที่ร่วมโต๊ะพูดคุยมีอะไรอยู่ในใจมากมาย จึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมให้มาก การจะให้นักรบไปเขียนโครงสร้างการแก้ไขปัญหาคงเป็นเรื่องยาก ต้องมีทีมวิชาการช่วย ฝ่ายขบวนการเองก็มีนักวิชาการ แต่เขาต้องการการมีส่วนร่วม ไม่ใช่เราคิดให้หรือคิดแทน"
ดร.มาร์ค กล่าวด้วยว่า อยากให้ทุกฝ่ายหลีกเลี่ยงคำว่า "ล้มเหลว" เพราะความขลุกขลักที่เกิดขึ้นในกระบวนการพูดคุยสันติภาพไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นอุปสรรคที่ต้องหาทางข้าม เราต้องคิดบวก คิดอย่างสร้างสรรค์เพื่อเดินข้ามอุปสรรค ไม่ใช่มองว่าล้มเหลวแล้วก็เปลี่ยนวิธี
"สมมติว่าผู้อำนวยความสะดวกให้ความมั่นใจไม่ได้ ก็อาจปรับให้มีผู้อำนวยความสะดวกเพิ่มเป็น 2 กลุ่มหรือ 2 ฝ่ายแทน เราต้องคิดนอกกรอบเพื่อเดินหน้าแก้ไขปัญหา"
ปิยะ : คนชายแดนใต้เกินครึ่งหนุนเจรจา
ผศ.ปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวว่า อยากให้มองปัญหาชายแดนใต้ให้ลึกกว่าความรุนแรง นั่นคือมองไปที่ความขัดแย้งซึ่งเป็นรากเหง้า การแก้ปัญหาความรุนแรงไม่ใช่จับโจรให้หมด แต่ต้องแก้ความขัดแย้ง ฉะนั้นอย่าไปติดกับดักความรุนแรง
ทั้งนี้ กระบวนการพูดคุยสันติภาพที่รัฐบาลทำมา ไม่ว่าจะถูกหรือผิดอย่างไร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ "มีการหันหัวเรือแล้ว" ฉะนั้นต้องประคับประคองให้เดินต่อไปให้ได้ อย่ามองปัญหานี้แค่รัฐกับบีอาร์เอ็น จนลืมมองคนในพื้นที่
รองเลขาธิการ ศอ.บต. บอกอีกว่า จากผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจัดทำโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) โดยสุ่มตัวอย่างจากผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และประชาชนในระดับตำบลหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ4 อำเภอของ จ.สงขลา รวม 37 อำเภอ จำนวน 1,870 คน ระหว่างวันที่ 18-25 มี.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ประชาชนร้อยละ 67.17 ให้การยอมรับและเชื่อมั่นต่อกระบวนการสันติภาพ คือให้คะแนนผ่านเกณฑ์ ส่วนอีกร้อยละ 32.83 ให้คะแนนไม่ผ่านเกณฑ์
ทั้งนี้ เมื่อดูคะแนนเฉลี่ยการประเมิน ได้รับคะแนน 5.16 ซึ่งสะท้อนว่า "ผ่านเกณฑ์" ในระดับปานกลาง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีปัจจัยความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนอยู่บางส่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพื่อที่จะให้ประชาชนมีความมั่นใจในกระบวนการพูดคุยสันติภาพมากขึ้น
"ศอ.บต.เปิดวงพูดคุยทุกวัน เราคุยเพื่อฟัง เมื่อฟังแล้วมีโจทย์ที่ยากคือ ทำอย่างไรจะนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาที่ได้รับฟังมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบล็คลิสต์ ย้ายนักโทษกลับเรือนจำบ้านเกิด และอื่นๆ ส่วนเรื่องการเจรจาก็ว่ากันไป แต่ ศอ.บต.เน้นคุยกับคนในพื้นที่แล้วนำมาแก้ไขปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรมให้ได้" ผศ.ปิยะ กล่าว
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : บรรยากาศราชดำเนินเสวนาเรื่องถอดบทเรียนพูดคุยสันติภาพฯ ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย