กทม.ชวน “อ่านกันสนั่นเมือง” เตรียมจัดงานใหญ่ “เมืองหนังสือโลก”
กรุงเทพมหานครของเราได้รับการคัดเลือกจากยูเนสโกให้เป็นเมืองหนังสือโลก ปี 2556 (World Book Capital 2013) แม้จะมีผลสำรวจออกมาก่อนหน้านี้ว่า คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยไม่เกินคนละ 5 เล่มต่อปี โดยการคัดเลือกต้องแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ อีก 7 ประเทศ ซึ่งดูแล้วแต่ละเมืองของประเทศนั้น ๆ น่าจะมีวัฒนธรรมการอ่านที่มากกว่าเรา แต่ทางกทม.ก็คิดกลยุทธ์เข้าสู้ พร้อมแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำให้กรุงเทพฯเป็นมหานครแห่งการอ่าน ในที่สุดจึงได้รับการคัดเลือก
ซึ่งที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครก็ได้ดำเนินพันธกิจตามแผนงานที่ได้ยื่นเสนอไว้ต่อยูเนสโก ภายใต้โครงการรณรงค์ให้กรุเงทพฯเป็นมหานครแห่งการอ่าน โดยได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านมาโดยตลอด และในปีนี้ กรุงเทพมหานครจะจัดงานใหญ่ที่ใช้ชื่อว่า “กรุงเทพมหานครเมืองหนังสือโลก 2556” ระหว่างวันที่ 21-23 เมษายน
ช่วงนี้เราจึงเห็นแผ่นป้ายโฆษณาและข้อความประชาสัมพันธ์ตัวใหญ่ ๆ เห็นชัดเจนแต่ไกล ประดับอยู่ตามสะพานลอย ตอม่อของเสาต่าง ๆ หรือถนนลอยฟ้าของ กทม. แทบทุกสายทั่วกรุงเทพฯ ด้วยข้อความว่า “อ่านกันสนั่นเมือง” ชวนให้คนกรุงเทพฯเตรียมพร้อมรับวาระสำคัญด้านการอ่านที่กำลังจะมาถึง
ซึ่งหมายความว่า หลังเสร็จงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 41 ในวันที่ 8 เมษา นี้แล้ว จะมีงานนี้ต่อทันที
ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ที่มีนายวรพันธ์ โลกิตสถาพร เป็นประธาน ได้แถลงถึงกิจกรรมที่จะมีขึ้นในงานวันที่ 21 -23 เม.ย.นี้
ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อาทิ นิทรรศการ 35 ปี รางวัลซีไรต์ อาเซียนรวมใจเป็นหนึ่ง ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (21 เม.ย.–19 พ.ค. 56)
กิจกรรมร้อง เล่น เทศน์ ทอล์ค ณ รอยัลพารากอนฮอลล์ สยามพารากอน (21-23 เม.ย. 56)
กิจกรรมสนุกคิด(ส์) สนุกอ่าน (20-22 เม.ย.56) ที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 1 โซน Eden
ส่วนที่ทางเดินลอยฟ้าหรือสกายวอล์คเชื่อมระหว่างห้างสยามพารากอนกับเซ็นทรัลเวิร์ล ก็จะมีการตั้งบูธหนังสือให้เดินเลือกช็อปกันอย่างสนุก
ในวันอังคารที่ 23 เมษายน ที่ท้องสนามหลวง พบกับกิจกรรมใหญ่ คือกิจกรรมตักบาตรหนังสือ กิจกรรม “พี่ชวนน้องอ่านกันสนั่นเมือง” และพิธีรับมอบตำแหน่งเมืองหนังสือโลก 2556 ให้แก่ กทม.อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีกิจกรรมสานสัมพันธ์วัฒนธรรมเมืองหนังสือโลก จากกรุงเยเรวาน-เมืองหนังสือโลกปีล่าสุด สู่กรุงเทพมหานคร ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
กรุงเทพมหานครนับเป็นเมืองที่ 13 ตั้งแต่ยูเนสโกเริ่มโครงการนี้ขึ้น โดยกรุง มาดริดของสเปนได้รับเลือกเมืองแรก เมื่อปี 2001 และเมืองใหญ่ หลาย ๆ เมือง อาทิ นิวเดลี มอนทรีออล อัมสเตอร์ดัม บัวโนสไอเรส ต่างก็เคยได้รับเลือกมาแล้ว
และเพื่อรองรับการอ่านหนังสือของคนกรุงเทพฯ ประกอบกับทางกทม.จะย้ายอาคารที่ทำการจากศาลาว่าการที่เสาชิงช้าไปอยู่ที่ดินแดง ในอีก 2-3 ปี ข้างหน้านี้
กทม.จึงได้วางแผนที่จะพัฒนาอาคารศาลาว่าการหลังเดิมทั้งหลังให้เป็น “หอสมุดกรุงเทพฯ (City Library)” “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์หนังสือไทย (Thai Library Museum)” และศูนย์วิจัยหนังสือและการอ่านแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ศาลาว่าการ กทม. แห่งใหม่บริเวณย่านดินแดง ประกอบด้วยอาคาร 3 ชุด ขณะนี้อาคารชุดที่ 1 ได้แล้วเสร็จไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา คาดว่าจะเข้าใช้อาคารได้ในปลายปี 2556 โดยบุคคลากรชุดแรกที่จะย้ายมาคือ ผู้บริหาร กทม. สภา กทม. ฝ่ายบริหารทั้งหมด ส่วนอีกชุดใหญ่จะรอย้ายเมื่ออาคาร 2 และอาคาร 3 ซึ่งจะลงมือก่อสร้างในเร็ว ๆ นี้ แล้วเสร็จในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจึงจะย้ายได้ทั้งหมด
ซึ่งก็หมายความว่า ห้องสมุดหรือพิพิธภัณฑ์ที่เสาชิงช้าอาจจะต้องรออีก 2-3 ปี จึงจะสมบูรณ์ครบถ้วนตามที่ กทม.วางแผนไว้
สำหรับตอนนี้ก็ขอให้กำลังใจกทม.ให้จัดงานเมืองหนังสือโลกที่จะเกิดขึ้นอย่างสมศักดิ์ศรี รวมทั้งดำเนินมาตรการในระยะยาวที่จะทำให้กทม.เป็นเมืองที่เอื้อต่อการอ่านอย่างแท้จริง มากกว่าที่จะเป็นกิจกรรมหรืออีเว้นต์ที่ฉาบฉวยซ้ำแล้วซ้ำเล่า
และการส่งเสริมการอ่าน มีอะไรที่มากกว่าการผูกนิตยสารบันเทิงเข้ากับเก้าอี้รถเมล์.
(ที่มาภาพ: http://bit.ly/16zwPEo)