ปรากฎการณ์ ‘ค้านอภิโปรเจคต์รุกชุมชน’ บนโลกออนไลน์
การคัดค้านโครงการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เปลี่ยนจากการประท้วงข้างถนนไปสู่การส่งเสียงผ่านสังคมออนไลน์มากขึ้น ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราพาไปจับกระแสความเคลื่อนไหวนี้บน ‘เฟสบุ๊ค’
‘ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น’ กับแคมเปญ ‘NO DAM’
‘ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น’ ( https://www.facebook.com/thaipoor ) คืออีกบัญชีผู้ใช้เฟสบุ๊คที่ได้รับความนิยมด้วยจำนวนเพื่อนเต็ม 5,000 คนจนต้องเปิดเพจ ‘ป่าสักทองหยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น2’ ( https://www.facebook.com/pages/ป่าสักทอง-หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น-2/246789528685623 ) ให้ผู้สนใจกด‘ถูกใจ’เพิ่มเพื่อติดตามสถานการณ์รณรงค์คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กั้นแม่น้ำยม จ.แพร่ ของกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ชาว ต.สะเอียบ ซึ่งต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนฯมานานกว่า 20 ปีโดย 3 ปีให้หลังมานี้ชาวบ้านได้ใช้พื้นที่บนเฟสบุ๊คเป็นสื่อกลางถ่ายทอดเรื่องราวและสร้างเครือข่ายในโลกออนไลน์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดความคิดที่จะดำเนินโครงการ ซึ่งจะทำลายพื้นที่ทำกินของชาวบ้านกว่า 4 หมื่นไร่ รวมทั้งป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศ และฟันธงว่าไม่ช่วยแก้ปัญหาอุทกภัยได้อย่างแท้จริง
หลายปีมานี้ความเคลื่อนไหวของชาวบ้านคัดค้านการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยม ในช่วงเวลาซึ่งรัฐบาลมีท่าทีจะสานต่อโครงการอยู่เป็นระยะๆ เริ่มต้นจากเฟสบุ๊ค ‘ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสื้อเต้น’ เช่น การออกประกาศคัดค้านคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย หรือ กบอ.ที่เห็นชอบให้สร้างเขื่อนยมบน ยมล่าง นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์กิจกรรมในพื้นที่ เช่น เวทีเสวนา กิจกรรมบวชป่า สร้างฝาย ที่แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารของเครือข่ายชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการพิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น เช่น การคัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบาราของชาวสตูล การคัดค้านการสร้างเขื่อนไซยะบุรี
ปลายปี 55 กิจกรรมเด่นของเฟสบุ๊คนี้ คือรณรงค์ให้ผู้ใช้เฟสบุ๊คถ่ายรูปกิจกรรมของตนติดด้วยข้อความ ‘No Dam’ (ไม่เอาเขื่อน) ‘หยุดแก่งเสือเต้น หยุดทำลายป่าสักทอง’ มาลงเผยแพร่ เป็นการปลุกกระแสคัดค้านซึ่งในเวลานั้นรัฐบาลมีแนวคิดผลักดันเขื่อนในลุ่มแม่น้ำยมต่อ กิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจมาก
10 เม.ย 55 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการให้ดำเนินโครงการเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ด้วยงบประมาณกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้น 3 วัน 13 เม.ย. 55 เพจ ‘หยุด!!! เขื่อนแม่วงก์ STOP DAM’ ( http://on.fb.me/Zw3syr )ถือกำเนิดขึ้นบนเฟสบุ๊ค โดยปัจจุบันมียอดผู้กดไลค์กว่า 2,600 ราย (เม.ย.56)
มีการให้ข้อมูลว่าการสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยอ้างป้องกันน้ำท่วม แม้จะทำลายพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพียง 18 ตารางกิโลเมตร แต่จะส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารสมบูรณ์ของสัตว์ใหญ่สำคัญหลายชนิดในผืนป่าตะวันตก เช่น เสือโครง ช้าง กระทิง สมเสร็จ วัวแดง
พื้นที่เพจส่วนใหญ่นอกจากเผยแพร่ข่าวคัดค้านเขื่อนแม่วงก์และเขื่อนอื่นๆแล้ว ยังเป็นการรณรงค์ปลุกกระแสสังคมให้หันมาอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น รณรงค์ให้อนุรักษ์เสือโคร่งซึ่งเหลือเพียง 250 ตัวในผืนป่าตะวันตก ประกาศรับอาสาสมัครนักอนุรักษ์ธรรมชาติ การร่วมลงนามในแถลงการณ์คัดค้านเขื่อนแม่วงก์ ฯลฯ รวมทั้งประชาสัมพันธ์กิจกรรมในเวทีวิชาการต่างๆที่นำไปสู่การหาทางออกที่ดีกว่าการสร้างเขื่อน
‘หยุดเขื่อนไซยะบุรี’ ค้านไทยหนุนเขื่อนลาวทำลายวิถีริมโขง
เพจนี้ (http://www.facebook.com/Stopxayaburidam) อีกหนึ่งพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านเฟสบุ๊ค ปัจจุบันมีผู้กด‘ถูกใจ’ กว่า3,500 คน (เม.ย.56) เพจนี้จัดตั้งขึ้น 10 ก.ค. 55 เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และแสดงความคิดเห็นต่อการรณรงค์หยุดโครงการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว เนื่องจากโครงการสร้างเขื่อนนั้นส่งผลกระทบต่อชาวบ้านริมแม่น้ำโขง รวมถึงเพื่อปกป้องระบบนิเวศของแม่น้ำที่ถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ของโลก
พื้นที่เพจ ‘หยุดเขื่อนไซยะบุรี’ ส่วนใหญ่เป็นการเกาะติดเรื่องราวและรวบรวมข่าวสารความเคลื่อนไหวการสร้าง เขื่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งถ่ายทอดวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ของชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวกจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำไซยะบุรี
‘เครือข่ายรักษ์อ่าวไทย’ ดันฟื้นฟูทะเลไทย
‘เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน’ (http://www.facebook.com/rak.gulf ) หรือ อ่าวตัว ก. มีสมาชิก 4,459 คน มุ่งให้คนบนโลกออนไลน์ตระหนักถึงภัยเงียบจากปัญหากัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเล จนทำให้สูญเสียที่ดินและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติเรื่อยมา และหวังสร้างความตระหนักให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติจากการทำลายล้างของมนุษย์ เช่น แหล่งอุตสาหกรรมรุกล้ำพื้นที่เกษตร การปล่อยน้ำเสียลงทะเล การใช้อุปกรณ์จับสัตว์น้ำจากเรือประมงพาณิชย์ไม่ถูกกฎหมาย
ช่วงเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 54 เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน ยังได้ใช้ช่องทางเฟสบุ๊คช่วยเหลือผู้ประสบภัยร่วมกับเครือข่ายอื่นๆทั่วประเทศ ล่าสุด(26 มี.ค. 56) ได้รณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อแสดงประชามติเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีขอให้ยุติการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย รอบเกาะแห่งชีวิต ได้แก่ เกาะสมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งจัดเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญของไทย ซึ่งปัจจุบัน(1 เม.ย. 56) มีผู้ลงชื่อแล้ว จำนวน 1,457 คน(https://docs.google.com/spreadsheet/ccc?key=0AiOTFueb5ogLdDJydUYyRUJrQUFlTDg2S2F1S2lSWlE#gid=0 )
ด้วยยอดสมาชิกที่สูงแตะ 5,000 คน ทำให้ต้องเปิดหน้าเพจ ‘เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน’ ขึ้นมารองรับสังคมออนไลน์อีกแหล่งหนึ่งด้วย
‘คข.ปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด’ ผลักดันโฉนดชุมชน -กระจายถือครองที่ดิน
'คข.ปฏิรูปที่ดิน เทือกเขาบรรทัด’ ( https://www.facebook.com/foresttrang ) เป็นอีกหนึ่งบัญชีผู้ใช้เฟสบุ๊คที่มีเพื่อนมากกว่า 3,900 คน (เม.ย. 56) ภายใต้การทำงานขับเคลื่อนปฏิรูปที่ดินไทย โดยมีเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)คอยสนับสนุน ล่าสุดกำลังร่วมผลักดันกฎหมาย 3 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)โฉนดชุมชน พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และพ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้า เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและสร้างการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติ
เฟสบุ๊คดังกล่าวมิได้นำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดเท่านั้น แต่ยังนำเสนอข่าว บทความต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ปฏิบัติการเพชรเกษม 41 : ขบวนการปกป้องพื้นที่สีเขียวภาคใต้
กลุ่มสาธารณะ(Open Group) ‘แผนปฏิบัติการเพชรเกษม 41 (ปกป้องภาคใต้)’ ( https://www.facebook.com/groups/207193689297427 ) นำชื่อถนนเส้นหลักสู่ภาคใต้ มาเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนคนใต้ บนเฟสบุ๊คซึ่งมีสมาชิกกว่า 1,400 คน(เม.ย. 56) ที่มาจากการรวมตัวของนักวิชาการ ภาคประชาสังคมและชาวบ้านในภาคใต้ เพื่อคัดค้านทิศทางแผนพัฒนาภาคใต้ของรัฐ และโครงการพัฒนาต่างๆที่สร้างผลกระทบต่อท้องถิ่น เช่น อุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ กอบโกยทรัพยากรท้องถิ่น ทำลายสิ่งแวดล้อม และพยายามเสนอทางออกการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียว
พื้นที่ในกลุ่มมีเรื่องราวของเครือข่ายปกป้องเกาะแห่งชีวิตฯ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ที่คัดค้านโครงการขุดเจาะสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในบริเวณพื้นที่ ซึ่งนำไปสู่การฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อศาลปกครองเพื่อหวังให้เกิดการระงับโครงการ พร้อมๆกับมีการเผยแพร่แคมเปญรณรงค์ ‘ปกป้องเกาะแห่งชีวิต สมุย พะงัน เต่า และหมู่เกาะอ่างทอง’ ที่เชิญชวนให้สมาชิกร่วมลงชื่อเพื่อคัดค้านการสัมปทานน้ำมัน เช่นเดียวกับการรณรงค์ผ่านเฟสบุ๊คขอองเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน
นอกจากนี้ภายในกลุ่มยังมีการแลกเปลี่ยนข่าวสารความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในพื้นที่ต่างๆที่ต่อต้านโครงการพัฒนาต่างๆซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในภาคใต้ เช่น การต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมเหล็ก โรงงานไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ของชาวบ้านตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว หรือการต่อต้านการสร้างเขื่อนท่าแซะ ของชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำท่าแซะ จังหวัดชุมพร
…………………
การสร้างเครือข่ายบนสังคมออนไลน์เพื่อคัดค้านอภิโปรเจคต์ต่างๆที่ส่งผลกระทบต่อฐานทรัพยากรท้องถิ่นและชุมชน นับว่าเป็นการหยิบฉวยสื่อยุคใหม่มาใช้เป็นกระบอกเสียงของภาคประชาสังคมได้อย่างน่าสนใจ ท่ามกลางพื้นที่สื่อกระแสหลักที่ยังคงเปิดทางให้นำเสนอเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างจำกัด ส่วนจะส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไรคงต้องติดตามต่อไป แต่อย่างน้อยจำนวนกด ‘ไลค์’ หรือ ‘แชร์’ ก็หมายถึงการรับรู้ของสังคมต่อเรื่องราวเหล่านั้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ที่มาภาพ :::
https://www.facebook.com/thaipoor
http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150284409332311&set=oa.277707118912750&type=1&theater
http://www.oknation.net/blog/kanis/2012/05/18/entry-1