ทีดีอาร์ไอชี้ร่างประกันสังคมฉบับ รบ.ไม่เอื้อแรงงานนอกระบบ
ทีดีอาร์ไอชี้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมรัฐบาลไม่ได้ปฏิรูปจริงจัง-ไม่เอื้อแรงงานนอกระบบ ภาค ปชช.จี้รื้อระบบ สปส.เป็นองค์กรอิสระ ลดการเมืองแทรกแซง
วันที่ 5 เม.ย. 56 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า จัดเสวนา ‘ติดตามร่างกฎหมายประกันสังคม’ โดยดร.วีระพงษ์ ประภา นำเสนอบทวิเคราะห์ร่างกฎหมายประกันสังคมของโครงการวิเคราะห์และติดตามร่างกฎหมาย (ThaiLawWatch) ของทีดีอาร์ไอว่า ร่างกฎหมายของรัฐบาลยังไม่จูงใจพอที่จะดึงดูดแรงงานนอกระบบให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม รวมถึงนำไปสู่การปฏิรูปที่จำเป็น เพื่อให้ได้ตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนและฝ่ายนายจ้างที่แท้จริง และเสริมสร้างธรรมาภิบาลของระบบประกันสังคม อีกทั้งเห็นว่าการที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับบูรณาการแรงงาน ซึ่งภาคประชาชนร่วมเข้าชื่อเสนอต่อรัฐสภา ถือเป็นการเสียโอกาสให้การปฏิรูประบบดังกล่าว
ทั้งนี้ จึงเสนอเพื่อแก้ไขปรับปรุงร่างกฎหมายประกันสังคม ดังนี้ 1.รัฐบาลควรจ่ายเงินสมทบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิขั้นพื้นฐาน 2.ผู้ประกันตนควรมีสิทธิเลือกตัวแทนฝ่ายผู้ประกันตนโดยตรง 3.ควรมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปรับลดการจัดสรรเงินกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงาน เช่น จากไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินสมทบในแต่ละปี ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 5 และ 4.ควรมีการออกแบบระบบตรวจสอบที่มีธรรมาภิบาล ได้แก่ การจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระ และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อย่างโปร่งใสต่อสาธารณะ
นางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กล่าวว่า การไม่รับหลักการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมของภาคประชาชนไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะผู้มีสิทธิเข้าถึงหลักประกันสังคมเท่านั้น แต่ถือเป็นเรื่องร้ายแรงในการตรากฎหมายนิติบัญญัติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายภาคประชาชนอื่น ๆ อีกได้ อย่างไรก็ดี จำเป็นที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างกระบวนการตรวจสอบที่โปร่งใส ประธานและเลขานุการกองทุนต้องไม่เป็นข้าราชการ และต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมทุกอาชีพด้วย
นางวิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรไม่รับหลักการในร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับประชาชนเข้าชื่อ 14,264 คน เพราะรายละเอียดในหลักการไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นปกติที่ร่างกฎหมายฉบับประชาชนจะไม่เหมือนกับรัฐ โดยจะเห็นว่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดสปส.)ที่ดำรงตำแหน่งโดยปลัดกระทรวงแรงงาน รวมถึงคณะกรรมการล้วนมาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จึงมักถูกแทรกแซงการทำงานจากฝ่ายการเมือง เพื่อสนองนโยบายรัฐ จึงพยายามเรียกร้องให้มีการคัดสรรมาจากการเลือกตั้ง และให้เป็นองค์กรอิสระ นอกจากนี้ยังป้องกันการใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า เช่น กรณีงบประชาสัมพันธ์ราว 170 ล้านบาท เพื่อนำเสนอข่าวสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย แต่ปรากฏว่าผู้มีสิทธิประกันตน โดยเฉพาะม. 40 กลับไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ
“กองทุนประกันสังคม 1.1 ล้านล้าน ถือว่ามีขนาดใหญ่เทียบเท่าสถาบันการเงิน ถ้าสถาบันการเงินยังนำบุคลากรมืออาชีพมาบริหาร แล้วทำไมสำนักงานประกันสังคมไม่สามารถนำมืออาชีพมาบริหารได้ ทำไมต้องจำกัดเฉพาะการบริหารแบบราชการ ซึ่งไม่ใช่มืออาชีพบริหารงานลงทุน”
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ประชาชนเป็นเจ้าของเงินกองทุน จึงมีสิทธิที่จะให้ปรับปรุงโครงสร้าง สิทธิประโยชน์ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน แต่การที่ระบบนิติบัญญัติคว่ำร่างฉบับดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความไม่จริงใจของสภาผู้แทนราษฎรที่มักคำนึงถึงประโยชน์ตนเองฝ่ายเดียว
ดร.อารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวเห็นด้วยหากจะให้มีคณะกรรมการที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานและงบประมาณกองทุน ซึ่งอาจมีสัดส่วนจากการแต่งตั้งของรัฐบาลด้วย พร้อมเสนอให้ตั้งสำนักงานหลักประกันสังคมแห่งชาติ โดยดูแลเฉพาะผู้ประกันตนในม. 40 ซึ่งข้อเสนอทั้งหมดจะต้องศึกษาความเหมาะสมอีกที
ขณะที่ผู้แทนคณะอนุกรรมการร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ชุดนายเรวัติ อารีรอบ ส.ส.ภูเก็ต พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับการได้มาซึ่งคณะกรรมการและอำนาจการตรวจสอบที่โปร่งใสว่า ร่างกฎหมายของนายเรวัติ ม.8.2 ระบุเกี่ยวกับที่มาของคณะกรรมการและระบบการตรวจสอบกองทุนชัดเจน โดยคณะกรรมการจะต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หากพบว่าคณะกรรมการคนใดมีพฤติกรรมที่เสี่ยงผลประโยชน์ทับซ้อน หรือร่ำรวย หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที และเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุดจะต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ในฐานะคณะกรรมการเป็นพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวทีเสวนาเสนอให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบเทียบเท่ากับผู้ประกันตนในสิทธิขั้นพื้นฐาน และควบคุมค่าใช้จ่ายบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคมให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งปรับลดการจัดสรรเงินกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับบริหารสำนักงานจาก 10% เหลือเพียง 5% ด้วย.